‘หมู่บ้านโลก’ ที่สร้างสรรค์
ผ่านไปด้วยดีแล้วสำหรับปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ติดภายในถ้ำหลวง
โดย อนัญญา มูลเพ็ญ
ผ่านไปด้วยดีแล้วสำหรับปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมี่ ที่ติดภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย
เหตุการณ์ครั้งนี้คงจะอยู่ในความทรงจำของคนไทยและคนทั่วโลกไปอีกนานหรือตลอดไปด้วยซ้ำ เพราะเรื่องราวตลอดสิบกว่าวัน ตั้งแต่การหายตัวและการกลับออกมาอย่างปลอดภัยของทั้ง 13 คน ได้รวมความสนใจและกำลังใจของคนทั้งโลกมาไว้ที่นี่ จ.เชียงราย ประเทศไทย
ต้องยอมรับว่ามีหลายองค์ประกอบจริงๆ ที่มาตกจังหวะลงล็อก ไม่ว่าจะเป็นเพราะทั้ง 13 ชีวิตเป็นเยาวชน เป็นนักกีฬาฟุตบอล อยู่ในช่วงเวลาของการแข่งขันฟุตบอลโลกพอดิบพอดี เพราะหลายชาติมีผู้เชี่ยวชาญเข้าร่วมปฏิบัติการค้นหา และที่สำคัญที่สุดคือตลอดระยะเวลาของการทำงานมีรายงานให้ได้หวัง ได้ลุ้นตลอด รวมถึงอีกหลายปัจจัยที่รวมแล้วทำให้เหตุการณ์นี้จุดติดกลายเป็นกระแสให้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกยื่นมือเข้ามาช่วย ผู้คนจากต่างชาติ ต่างศาสนา ต่างวงการและทุกระดับ ได้ส่งกำลังใจมายังผู้ประสบภัยและทีมช่วยเหลือ
จริงๆ ประเด็นน่าสนใจรวมถึงองค์ความรู้ที่ได้จากเหตุการณ์แห่งปีครั้งนี้มีอยู่หลายแง่มุม ตามแต่ความสนใจของแต่ละคนที่เลือกมอง ส่วนตัวผู้เขียนเองก็มองเห็นความน่าสนใจจากมุมของคนที่ทำงานด้านสื่อว่า ครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “หมู่บ้านโลก” และเป็นหมู่บ้านโลกในทางที่สร้างสรรค์ด้วย
ผู้อ่านหลายท่านคงเคยได้ยินคำคำนี้มานานแล้ว หมู่บ้านโลก หรือ Global Village ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงยุคสมัยที่ความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การติดต่อสื่อสาร โทรคมนาคม ทำให้สังคมโลกไร้พรมแดน โลกทั้งโลกได้กลายเป็นเหมือนหมู่บ้านเดียวกัน คนในหมู่บ้านคนไหน ครอบครัวไหนทำอะไร คนอื่นๆ ก็รู้ได้หมด ซึ่งในที่นี้ก็คือรู้กันได้ทั่วโลก
ปรากฏการณ์ที่เรียกว่าหมู่บ้านโลกนี้ เกิดขึ้นมานานนับตั้งแต่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตปรากฏขึ้นบนโลก โดยอินเทอร์เน็ตได้เชื่อมผู้คนจากทุกมุมโลกเข้าหากัน ให้ได้รู้เห็นชีวิตของผู้คนต่างสังคมและวัฒนธรรมกัน เกิดการก่อตัวขึ้นของสิ่งที่เรียกว่า “สังคมโลกยุคโลกา
ภิวัตน์” แต่ในยุคเริ่มแรกช่องทางการเชื่อมต่อของผู้คนก็ยังจำกัดอยู่เพียงสื่อไม่กี่ช่องทาง เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ ที่ราคาแพง คนสามารถเข้าถึงเพียงกลุ่มเล็กๆ พลังจึงอาจยังไม่สูง ความรู้สึกร่วมของผู้คนยังไม่มาก
แต่ทุกวันนี้เทคโนโลยีการเชื่อมต่อถูกพัฒนาไปไกล การส่งข้อมูลจากที่หนึ่งไปยังอีกที่ แม้จะห่างกันคนละมุมโลกก็ส่งได้อย่างรวดเร็วแบบ “Real Time” ผ่านช่องทางที่หลากหลาย และตลอดเวลา ขณะเดียวกันสื่อที่คอยเป็นเครื่องรับข้อมูลข่าวสารก็อยู่ในมือของคนทั้งโลกได้ในราคาที่ถูกมากเมื่อเทียบกับอดีต โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนที่เทคโนโลยีทุกวันนี้อยู่ในระดับที่เปลี่ยนแปลงโลกได้มากจริงๆ
และยิ่งได้มาประกอบเข้ากับการแข่งขันที่สูงมากๆ ของวงการสื่อสารมวลชน ซึ่งในปฏิบัติการครั้งนี้ สื่อทุกแขนงทั้งโทรทัศน์ วิทยุ หนังสือพิมพ์ สื่อออนไลน์ ทั้งในไทย ต่างประเทศ สื่อระดับอินเตอร์ทุกสำนัก ได้แข่งกันส่งข้อมูลข่าวสารไปยังคนทั่วโลก จึงส่งพลังอย่างมากต่อปฏิบัติการค้นหา 13 ชีวิตในถ้ำหลวงครั้งนี้
ยกเว้นแต่เหตุสลดที่คนไทยเราต้องสูญเสียคนดีอย่าง น.ต.สมาน กุนัน (สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ พระราชทานยศเป็นกรณีพิเศษจากจ่าเอกเป็น “นาวาตรี” (น.ต.) เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2561) แล้ว นับว่าเรื่องราวอื่นๆ จากถ้ำหลวงได้ส่งพลังให้เกิดสิ่ง
ดีๆ กับสังคมไทยเราหลายเรื่อง ทั้งโอกาสในการถอดบทเรียนในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นบทเรียนของความสามัคคี ร่วมมือร่วมใจของคนจากต่างชาติ ศาสนา ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการในภาวะวิกฤต แม้แต่หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ กองเรือยุทธการ หรือหน่วยซีล ที่มีบทบาทอย่างมากในปฏิบัติการครั้งนี้ ก็ได้เรียนรู้การปฏิบัติการในภูมิประเทศที่ต่างออกไปจากปกติที่ปฏิบัติการส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ในวงการสื่อสารมวลชนก็เรียนรู้อะไรมากมายจากการทำข่าวปฏิบัติการถ้ำหลวง และที่ดีมากคือโครงการที่จะจัดทำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติให้คนไปศึกษาเรียนรู้ในแง่มุมต่างๆ และได้ท่องเที่ยวไปพร้อมกัน
แต่อย่างหนึ่งที่ผู้เขียนหวังอยู่ลึกๆ ว่าจะค่อยๆ พัฒนาจนกลายเป็นวัฒนธรรมฝังอยู่ในใจของคนไทยเราโดยมีปฏิบัติการถ้ำหลวงเป็นจุดเริ่มต้น นั่นคือวัฒนธรรมของการยกย่องคนทำดี ไม่ว่าคนคนนั้นจะทำดีในเรื่องใหญ่ เรื่องเล็ก นักข่าว สื่อมวลชน ก็หยิบยกเรื่องราวของเขามา
บอกเล่าต่อ เพื่อให้สังคมยกย่อง
ไม่รู้ผู้อ่านหรือคนอื่นๆ เป็นเหมือนกับผู้เขียนหรือเปล่า ที่พอเห็นข่าวหลังปฏิบัติการกู้ 13 ชีวิตสิ้นสุด ทีมงานชุดต่างๆ เดินทางกลับประเทศ กลับบ้าน ต่างได้รับความชื่นชม ยกย่องจากผู้คนที่บ้านของเขา ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา) ทีมของหน่วยซีล ทีมนักดำน้ำชาติต่างๆ ทีมสูบน้ำ ทีมเจาะน้ำบาดาล ทีมเก็บรังนกจากเกาะลิบง และอีกมากมาย แล้วรู้สึกอิ่มอยู่ในใจ อยากให้วัฒนธรรมแบบนี้เข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เห็นคนทำดีแล้วสนับสนุน ยกย่อง ให้กำลังใจ เพราะเมื่อไหร่ที่วัฒนธรรมนี้เข้มแข็ง คนส่วนใหญ่จะกล้าทำดี ปฏิเสธสิ่งไม่ดี เพราะเชื่อว่าเมื่อทำสิ่งใดแล้วคนอื่นต้องมองเห็น บรรทัดสุดท้ายก็คือเราได้สังคมดีๆ
ผู้เขียนทั้งหวังและก็เชื่อว่าเหตุการณ์สิบกว่าวันที่เกิดขึ้นที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีในบ้านของเราและหมู่บ้านโลกใบนี้ และเชื่อว่าผู้อ่านทุกคนก็จะหวังและเชื่อเช่นกัน