posttoday

รฟท.เปิดประมูลรถไฟความเร็วสูงไทย-จีนช่วงกทม.-โคราชครบทั้งเส้นในปีนี้

24 กรกฎาคม 2561

รฟท.ขีดเส้นเปิดประมูลไตรมาส 3 รถไฟไทย-จีน 1.5 หมื่นล้านบาท ก่อนเร่งปิดจ็อบประมูล 1.1 แสนล้านบาทภายในปีนี้ เร่งสางปัญหางานระบบหลังติดปมหลายด้าน

รฟท.ขีดเส้นเปิดประมูลไตรมาส 3 รถไฟไทย-จีน 1.5 หมื่นล้านบาท ก่อนเร่งปิดจ็อบประมูล 1.1 แสนล้านบาทภายในปีนี้ เร่งสางปัญหางานระบบหลังติดปมหลายด้าน

นายวรวุฒิ มาลา รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เปิดเผยว่าความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพ-นครราชสีมา วงเงิน 1.79 แสนล้านบาท แบ่งเป็น งานก่อสร้าง 1.25 แสนล้านบาทและงานระบบ 5.3 หมื่นล้านบาท นั้นขณะนี้ทางฝ่ายจีนได้ส่งแบบรายละเอียดการก่อสร้างตอนที่ 2 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. วงเงิน 5 พันล้านบาทให้กับรฟท.แล้วอยู่ระหว่างการคิดราคากลางและร่างเอกสารประกวดราคา(ทีโออาร์)คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร(บอร์ด)รฟท.ได้ภายในเดือน ส.ค.นี้ ก่อนดำเนินการเปิดประมูลตามแผนที่กระทรวงคมนาคมตั้งไว้ภายในเดือนหน้านี้ ทั้งนี้จะมีการประชุมความร่วมมือรถไฟไทย-จีนครั้งที่ 25 ในวันที่ 7-9 ส.ค.นี้

แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)เปิดเผยว่าขณะนี้ทางฝ่ายจีนอยู่ระหว่างออกแบบสัญญาที่ 3 เป็นงานอุโมงค์ทั้งหมดช่วงสถานีจันทึก-สถานีคลองไผ่ รวมระยะทาง 20 กม. จึงทำให้มูลค่าก่อสร้างสูงมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จพร้อมส่งให้รฟท.พิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้ ดังนั้นในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ รฟท.จะสามารถเปิดประมูลสัญญาที่ 2 และสัญญาที่ 3 ได้ วงเงินรวมราว 1.5 หมื่นล้านบาท

ส่วนรายละเอียดการออกแบบที่เหลืออีก 11 สัญญา วงเงินราว 1.1 แสนล้านบาท นั้นได้เร่งรัดให้ฝ่ายจีนส่งแบบทั้งหมดมาภายในเดือนส.ค.นี้ เพื่อทำการถอดแบบร่างทีโออาร์และประมูลต่อไปภายในปีนี้ โดยจะเริ่มถอดแบบเฟส 1 ตั้งแต่เดือน ส.ค.นี้เพื่อทยอยเปิดประมูลสัญญาที่เหลือให้ครบทั้งเส้น

ทั้งนี้ยืนยันว่าระยะเวลาในการถอดแบบคิดราคาและร่างทีโออาร์ในแต่ละสัญญานั้นใช่เวลาไม่นาน ส่งผลให้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้จะมีการเปิดประมูลงานก่อสร้างเฟส 1 อีกมากหรืออาจเปิดประมูลหลายสัญญาพร้อมกัน

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่าสำหรับแนวทางการลงทุนโครงการที่รัฐบาลจะลงทุนเองทั้งหมดนั้น ขณะนี้กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างเร่งหาแหล่งเงินทุนเพื่อนำมาเดินหน้าโครงการ ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการพูดคุยกันถึงแหล่งเงินทุนหลายแห่ง ทว่ารัฐบาลให้ความสนใจแหล่งเงินทุนในประเทศ เนื่องจากจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศไปพร้อมกับตัวเลขดอกเบี้ยที่ไม่ต่างจากการกู้นอกประเทศ อย่างไรก็ตามความชัดเจนของเรื่องแหล่งเงินกู้นั้นจะต้องเร่งสรุปภายในเร็วๆนี้ เนื่องจากขณะนี้โครงการได้เดินหน้าก่อสร้างสัญญาที่ 1 ไปแล้ว และต้องทยอยเปิดประมูลสัญญาที่เหลือต่อไปภายในปีนี้ จึงจำเป็นต้องดำเนินการเรื่องเงินกู้เพื่อนำมาสำรองจ่ายเป็นเงินค่าก่อสร้างงวดแรกราว 15% (Advance) ให้กับบริษัทที่ชนะประมูลภายหลังจากลงนามสัญญาโครงการ

ส่วนการประชุมร่วมไทย-จีนที่จะมาถึงนี้คงเน้นหารือถึงเรื่องสัญญาที่ 2.3 งานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร ซึ่งปัจจุบันยังติดปัญหาหลายด้าน ทั้งเรื่องเงื่อนไขบุคลากรไปจนถึงเรื่องการใช้ทรัพยากรภายในประเทศ (Local Content) จึงต้องเร่งสะสางให้ทันไปกับแผนงานก่อสร้างที่ได้เดินหน้าไปแล้ว



รายงานข่าวกระทรวงคมนาคมระบุว่าสัญญา 2.3 นั้นติดปัญหาการเจรจาด้านเทคนิคงานวางระบบซึ่งฝ่ายจีนเสนอสเป็คที่สูงเกินไปจนทำให้ไม่สามารถใช้วัสดุภายในประเทศ(Local Content) ได้อย่างเต็มที่จึงต้องเจรจาปรับสเป็คให้สอดคล้องกับวัสดุที่จะใช้ในประเทศมากขึ้นโดยไม่ต้องนำเข้าจากประเทศจีน เช่น วัสดุการวางงานระบบรางเป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องรอความชัดเจนเรื่องก่อตั้งองค์กรรถไฟความเร็วสูงให้ได้ภายในปี 2561-2562 เพื่อคัดเลือกบุคลากรเข้ารับการฝึกอบรมทั้งด้านการบริหารรถไฟความเร็วสูง ด้านซ่อมบำรุงและด้านการขับรถไฟ ดังนั้นจะต้องรับสมัครบุคลากรและฝึกอบรมให้แล้วเสร็จอย่างน้อย 2 ปีหรือภายในปี 2565 ก่อนเปิดบริการเดินรถในปี 2567