posttoday

รัชกาลที่ 4 ทรงปิดตำหนัก สนทนากับอธิบดีสงฆ์วัดโพธิ์

29 กรกฎาคม 2561

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างประเพณีให้พระสงฆ์วัดโพธิ์และคณะสงฆ์ธรรมยุตปฏิบัติ

โดย สมาน สุดโต

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสร้างประเพณีให้พระสงฆ์วัดโพธิ์และคณะสงฆ์ธรรมยุตปฏิบัติ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าไว้ในสาส์นสมเด็จ เล่มที่ 25 ว่าทรงปิดกุฏิทรงสนทนากับพระคุณเจ้า 2 ต่อ 2 แสดงความไว้วางพระราชหฤทัยระหว่างพระมหากษัตริย์กับพระสงฆ์

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ อ้างพระราชานิพนธ์พระราชพิธี 12 เดือน ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเล่าเรื่องการถวายพุ่มเทียนพรรษา ครั้งรัชกาลที่ 4 ว่ารัชกาลที่ 4 เสด็จจุดเทียนพรรษาวัดพระเชตุพน เพราะทรงเคยจุดมาก่อนในสมัยรัชกาลที่ 2 แต่เหตุผลนอกเหนือจากนั้น สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ทรงเล่าแทรกว่า น่าจะมีพระราชประสงค์ไปถวายพุ่มเทียน สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส อธิบดีสงฆ์วัดพระเชตุพน เหมือนที่เคยทำตอนที่ ร.4 ทรงผนวช ดังนั้น วันแรม 1 ค่ำ (เดือน 8) เวลาเย็น จึงเสด็จฯ ไปถวายพุ่ม (เทียน) สมเด็จกรมพระปรมาฯ ที่ตำหนัก

ทรงปิดตำหนักสนทนา

รัชกาลที่ 4 ทรงปิดตำหนัก สนทนากับอธิบดีสงฆ์วัดโพธิ์

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เล่าเตร็จ (เกร็ด) ตรงนี้ว่า สมเด็จกรมพระปรมาฯ ประทับรับเสด็จในพระตำหนักแต่พระองค์ (2 ต่อ 2) มิให้ใครอยู่ในนั้นด้วย ส่วนพระราชาคณะกับพระฐานานุกรมให้ไปนั่งเรียงแถวที่หอสวดมนต์ตรงหน้าตำหนัก

ทูลกระหม่อม (ร.4) ถวายพุ่มแล้วทรงสนทนาอยู่นานๆ (กับสมเด็จกรมพระปรมาฯ)

ในเวลานั้น สมเด็จกรมพระปรมาฯ เป็นพระมหาสังฆปริณายก บรรดาพระสงฆ์ซึ่งทรงสมณศักดิ์ กับทั้งเจ้านายที่ทรงผนวช คงพากันไปถวายพุ่ม (เทียน) เมื่อเข้าวัสสาทุกปี

เมื่อสมเด็จกรมพระปรมาฯ สิ้นพระชนม์แล้วทูลกระหม่อม (ร.4) โปรดให้ทำที่บูชาประดิษฐานพระอัฐิไว้ที่ในตำหนัก (วาสุกรี) และโปรดให้พระพิมลธรรม (ยิ้ม) เป็นผู้รักษาพระอัฐิกับตำหนักทั่วทั้งบริเวณ แต่ยังไม่ได้เป็นเจ้าอาวาส เพราะมีพระอาวุโสกว่า

แต่ต่อมาทั้งหน้าที่รักษาพระอัฐิและกุฏิที่อยู่ในบริเวณตำหนัก ตกแก่เจ้าอาวาส ตั้งแต่สมเด็จพระวันรัต (สมบุญ) สืบมา

ธรรมยุตถวายพุ่มพระอัฐิ

รัชกาลที่ 4 ทรงปิดตำหนัก สนทนากับอธิบดีสงฆ์วัดโพธิ์

ทูลกระหม่อม (ร.4) ได้ตรัสสั่งพระราชาคณะ ฐานานุกรม กับทั้งเจ้านาย ทรงผนวชในคณะธรรมยุติกา ให้คงไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิสมเด็จกรมพระปรมาฯ เสมอทุกปี ด้วยทรงนับถือว่าท่านได้มีพระคุณแก่พระสงฆ์ธรรมยุติกามาแต่ก่อนมาก

แม้พระองค์เองเมื่อทรงจุดเทียนวัสสาแล้ว ก็เสด็จฯ ไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิสมเด็จกรมพระปรมาฯ ด้วยทุกปี

แต่ถึงสมัยนี้ เมื่อถวายพุ่มพระอัฐิแล้ว เสด็จเลยไปถวายพุ่มพระพิมลธรรม (ยิ้ม) ที่กุฏิด้วย พระพิมลธรรม (ยิ้ม) ก็ทำตามอย่างสมเด็จกรมพระปรมาฯ รับเสด็จและถวายอติเรกในกุฏิแต่องค์เดียว ก็เลยเป็นแบบอันมีแต่ที่วัดพระเชตุพนฯ แต่แห่งเดียว

สืบมาจนรัชกาลที่ 5 เมื่อหม่อมฉัน (สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ) บวชเป็นสามเณรก็เคยไปถวายพุ่มบูชาพระอัฐิสมเด็จกรมพระปรมาฯ เมื่อเป็นราชองครักษ์ก็เคยตามเสด็จไปถวายพุ่ม ได้เห็นพระพิมลธรรม (อ้น) รับเสด็จในกุฏิแต่องค์เดียว และทรงรับอติเรก 2 ครั้ง ดังกล่าวมาข้างต้น แต่ยังไม่ทราบมูลเหตุมาช้านาน จนเมื่อจะมีงานพระชนมายุสมมงคลที่วัดอรุณฯ วันหนึ่ง สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรเตรียมงานที่วัดอรุณฯ แล้วเสด็จเลยไปเยี่ยมสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ) ถึงกุฏิ ท่านรับเสด็จอยู่ ณ กุฏิองค์เดียว ให้พระราชาคณะกับฐานานุกรมนั่งแถวรับเสด็จอยู่ที่หอสวดมนต์ และถวายอติเรก 2 ครั้ง ดังว่ามาแล้ว

เมื่อสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงเสด็จพระราชดำเนินกลับมาจากกุฏิ ตรัสสรรเสริญสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฤทธิ์) กับหม่อมฉัน (สมเด็จ กรมพระยาดำรงฯ) ว่าท่านรู้แบบเก่า การที่รับเสด็จแต่องค์เดียวที่ในกุฏินั้นเพื่อจะให้เป็นที่รโหฐาน พระเจ้าแผ่นดินจะตรัสอะไร จะได้ตรัสโดยสะดวกพระราชหฤทัย ด้วยไม่มีใครอื่นได้ยิน พระราชาคณะองค์อื่นเห็นจะรู้ธรรมเนียมนั้นน้อยตัวแล้ว

ได้ฟังพระบรมราชาธิบาย จึงรู้มูลเหตุเรื่องอติเรก 2 ครั้ง มาคิดดูเห็นว่าคงเป็นสมเด็จกรมพระปรมาฯ ทรงตั้งแบบรับเสด็จอย่างนั้น เพราะทูลกระหม่อมเคยเสด็จไปเฝ้าและเคยสนทนาอย่างไว้วางพระหฤทัยกันมาแต่ยังทรงผนวช

ธรรมยุตถวายพุ่มวัดพระแก้วแรม 5 ค่ำ

รัชกาลที่ 4 ทรงปิดตำหนัก สนทนากับอธิบดีสงฆ์วัดโพธิ์

สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ ตรัสเล่าในสาส์นสมเด็จว่า ร.4 เสด็จไปวัดบวรนิเวศเมื่อวันเข้าพรรษา มิได้เพื่อทรงจุดเทียนพรรษา เพราะให้เจ้าที่ทรงผนวชจุด แต่เสด็จเพื่อถวายพุ่มบูชาพระพุทธรูปและถวายพุ่มแก่กรมสมเด็จกรมพระปวเรศฯ และสมเด็จกรมพระปวเรศฯ ก็รับเสด็จที่บนตำหนักชั้นบนแต่พระองค์เดียว และคงถวายอติเรก 2 ครั้ง ทำเหมือนที่เคยทำที่วัดพระเชตุพน

เรื่องเกร็ด แต่เกิดเป็นธรรมเนียมพระธรรมยุตเมื่อ ร.4 เสด็จฯ วัดบวรนิเวศวิหาร เมื่อพระสงฆ์สานุศิษย์ (ร.4) ซึ่งอยู่ในวัดบวรนิเวศพากันรู้สึกว้าเหว่ ด้วยเคยถวายพุ่มสักการบูชาทูลกระหม่อม (วันเข้าพรรษา) ทุกปี ครั้นรู้ว่าจะเสด็จฯ ถวายพุ่มที่วัดบวรนิเวศ จึงนัดกันจัดพุ่มกับเครื่องสักการบูชาตามที่เคยทำมาแต่ก่อน เอาไปตั้งเรียบเรียงไว้ตรงหน้าพระพุทธชินสีห์ ในพระอุโบสถ

ทูลกระหม่อม (ร.4) เสด็จไปทอดพระเนตรเห็นตรัสถาม ได้ทรงทราบเหตุจึงทรงพระกรุณา ตรัสพระราชทานพระบรมราชานุญาตว่า ถ้าพระสงฆ์สานุศิษย์ใครจะถวายพุ่มแก่พระองค์ ก็ให้เข้าไปถวายแก่พระแก้วมรกตที่ในพระบรมมหาราชวัง แต่นั้นก็เกิดประเพณีที่พระสงฆ์ธรรมยุติกา เข้าไปถวายพุ่มแก่พระแก้วมรกตในวันแรม 5 ค่ำ เป็นกำหนดทุกปีเสมอสืบมา