posttoday

‘กรีน สไตล์’ SE ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

29 กรกฎาคม 2561

ปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นไปทั่วโลก

โดย บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมหลายฝ่ายเริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นไปทั่วโลก ในประเทศไทยก็ถือว่ามีความตื่นตัวกันมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จนทำให้เกิดการช่วยกันรณรงค์และการช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

หนึ่งในนั้นคือบริษัท “กรีน สไตล์” (Green Style) ธุรกิจเพื่อสังคม (SE) ที่มีเป้าหมายให้คนทั่วไปเกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านสิ่งแวดล้อมจริงจัง แม้ SE นี้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือน ต.ค. 2559 แต่แท้จริงผู้ริเริ่มทั้ง 4 คน ได้ผ่านการทำงานด้านเอ็นจีโอด้วยกันที่มูลนิธิสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ไม่ต้องการเป็นหน่วยงานที่ต้องรอเพียงเงินบริจาคอย่างเมื่อก่อน จึงมีความตั้งใจจดทะเบียนเป็น SE เลย

“จรัญพร เลิศสหกุล” กรรมการผู้จัดการ กรีน สไตล์ กล่าวว่า ระยะแรกให้คำปรึกษาและแนะนำเรื่องการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมให้กับเยาวชนหรือหน่วยงานต่างๆ ตอนนั้นมีให้อบรมสัมมนาอะไรเกี่ยวกับ SE ก็ไปหมด แต่เพราะไม่ได้มีความรู้ด้านบริหารจัดการเงินหรือการทำธุรกิจ ทำให้การดำเนินงานก็ยังมีความยากในขั้นตอนต่างๆ

ทว่า จังหวะที่เธอได้เป็นกรรมการที่กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สำนักงานสีเขียว) ทำให้ได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องการทำกรีนออฟฟิศ จึงมองว่า กรีน สไตล์น่าจะทำด้านนี้เป็นหลัก โดยเริ่มทางด้านธุรกิจบริการด้วยการให้คำแนะนำวิธีการเป็นกรีนออฟฟิศให้กับหน่วยงานต่างๆ ประกอบกับขยายไปสู่การเป็นผู้รวบรวมสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั่วไป

‘กรีน สไตล์’ SE ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

จนวันหนึ่งเจอตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) จากงานเกี่ยวกับ SE ที่เริ่มจากให้ทางเราจัดสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเป็นกิฟต์เซตของขวัญปีใหม่ให้ กับ ตลท.และบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ตามวาระและโอกาสต่างๆ และเริ่มได้รับคำแนะนำจากทีมงานว่า ให้เน้นรวบรวมสินค้าที่เป็นกรีนโปรดักต์ให้ชัดเจนไปเลย เพราะปัญหาส่วนหนึ่งที่หลายหน่วยงานต้องการใช้สินค้ากรีนแต่ไม่แน่ใจว่าสินค้าใดที่เป็นกรีนจริง เพราะไม่มีใครประเมินหรือมีการระบุว่าสินค้าไหนเป็นกรีน ซึ่งเป็นเวลาพอดีที่ ตลท.กำลังดำเนินนโยบายด้าน
กรีนออฟฟิศเช่นกัน จึงมีการคัดเลือกสินค้าอุปกรณ์ออฟฟิศให้กับ ตลท.

จากนั้นได้ลงทะเบียนเป็น SE ที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์ม “Social Impact” ที่เป็นศูนย์กลางจับคู่ ระหว่างกลุ่ม SE ธุรกิจหรือวิสาหกิจที่มีแนวคิดเกิดขึ้นเพื่อสังคมเป็นหลัก กับผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงทุนใน SE ซึ่งผลตอบรับที่เห็นผลทันทีจากขึ้นทะเบียนบนแพลตฟอร์ม ตลท.คือ “ความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้น” ทั้งจากผู้ผลิตสินค้ากรีนโปรดักต์ที่เมื่อก่อนจะไม่ค่อยมั่นใจให้บริษัทรับสินค้าไปจำหน่าย รวมทั้งหน่วยงานที่ต้องการให้บริษัทจัดสินค้ากรีนส่งให้ แต่ปัจจุบันเหมือนเป็นใบการันตีที่ทำให้หลายคนหลายหน่วยงานไว้วางใจให้ทำมากขึ้น

ทว่า ยังขยายผลต่อเมื่อเข้าร่วมในโครงการ SET Social Impact Gym 2017 ที่ได้รับความร่วมมือจากผู้บริษัท บจ.ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) มาร่วมเป็นโค้ชให้คำแนะนำ ถ่ายทอดความรู้และติวเข้มในมุมของการทำธุรกิจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทาง SE ไม่ได้มีความถนัดในการปฏิบัติเท่าไร โดยได้ “อุปกรม ทวีโภค” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ถิรไทย (TRT) มาเป็นโค้ชที่ดูแลอย่างใกล้ชิด

เธอบอกว่า หลักในการทำ SE สำหรับกรีน สไตล์ เดิมมองว่า การจะทำให้คนสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมได้จนเกิดการเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องเริ่มจากที่คนต้องมีความเข้าใจ ซึ่งก่อนมีความเข้าใจเขาต้องมีความรู้ก่อน ไม่เช่นนั้นจะเกิดการปฏิบัติได้ยาก แต่ในมุมมองของการทำธุรกิจ การทำแผนงานหรือเป้าหมายของธุรกิจคือหัวใจสำคัญของการทำธุรกิจ เพราะจะเป็นตัวชี้วัดผล (KPI) ของการประกอบธุรกิจ ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยเข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ

‘กรีน สไตล์’ SE ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

ที่สำคัญคือ ทำให้เจอแนวทางหลักของ กรีน สไตล์ ที่เน้นทำเรื่อง “คาร์บอน ฟุตพรินต์” (Carbon Footprint) หรือการเป็นที่ปรึกษาการช่วยลดโลกร้อนด้วยการดูปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาของแต่ละหน่วยงาน และทำให้ทีมงานทุกคนไปศึกษาและอบรมหลักสูตรศึกษาด้านนี้จริงจัง เพราะมองว่าในอนาคตทุกคนจะกลับมาให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานยังต้องการรู้ว่า หน่วยงานของตัวเองมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาเท่าไร และพร้อมจะหาวิธีที่จะทำให้การปล่อยของเสียเหล่านี้ออกมาน้อยลง

อย่างไรก็ดี โค้ชยังแนะนำถึงการให้ความสำคัญในการบันทึกค่าใช้จ่ายหรือการวางแผนทางการเงินในการทำธุรกิจทั้งในเรื่องของการขาย รายได้ ต้นทุน เพราะจะเป็นตัวชี้วัดชัดเจนเลยว่าองค์กรเราจะอยู่รอดหรือไม่จากตัวเลขที่ปรากฏ

“การเข้าโครงการ GYM เหมือนเข็มทิศในการทำ SE ให้กับเรา เพราะจะได้เห็นแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ได้เห็นความสำคัญของการเงินว่า รายได้จากยอดขายที่เข้ามาจะเป็นสัดส่วนเท่าไรกับต้นทุนค่าใช้จ่ายดำเนินการ สิ่งที่เห็นคือ ทำให้เราเห็นตัวเรามากขึ้น ทำให้ไปสู่ความพร้อมที่จะปรับแผนพัฒนาคนและทีมงานมากขึ้น”

นอกจากนั้น ยังทำให้ได้รับโอกาสต่างๆ ที่เข้ามาจากการเข้าร่วมโครงการต่างๆ ของ ตลท.อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น การเป็นที่ปรึกษาทางด้านคาร์บอน ฟุตพรินต์ ให้กับ บจ.ใน ตลท.และ mai มากมาย เช่น บริษัท โปรเจค แพลนนิ่ง เซอร์วิส (PPS) เป็นบริษัทวิศวกรที่ปรึกษาให้บริการทางด้านบริหารและควบคุมการก่อสร้างงานแขนงต่างๆ จนได้ตามมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.

‘กรีน สไตล์’ SE ที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม

ขณะที่ตอนนี้อยู่ระหว่างแนะนำเรื่องนี้ให้กับบริษัท ทีวี ไดเร็ค (TVD) และตอนนี้ทีวี ไดเร็คให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากจนมีการปรับเปลี่ยนภายในองค์กรมีคณะกรรมการดูแลเรื่องนี้อย่างจริงจัง พร้อมกับยังคอยให้คนแนะการดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อม การทำกิจกรรมต่างๆ การเป็นกรีนออฟฟิศภายในองค์กร บจ.อีกหลายแห่ง

ล่าสุด ร่วมทำ โครงการ Care The Bear : Change the Climate Change by Eco Event ที่ ตลท.ร่วมกับ 22 องค์การพันธมิตร ส่งเสริม บจ. ลดปัญหาโลกร้อนด้วยการลดคาร์บอน ฟุตพรินต์จากการจัดกิจกรรมหรืออีเวนต์ (Eco Event) ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์/ปี หรือเทียบเท่าการปลูกป่า 2,000 ไร่ โดย กรีน สไตล์จะเป็นคนทำโปรแกรมการแปลงค่าหรือวัดค่า การปรับจัดอีเวนต์ทำคาร์บอน ฟุตพรินต์ ออกมาแปลงให้เห็นกันเป็นรูปธรรม เช่น การตักอาหารแต่พอดีคำเพื่อไม่ให้เกิดของเสีย การนั่งรถสาธารณะมาร่วมงาน การใช้คิวอาร์โค้ดแทนการใช้กระดาษจัดงานสัมมนา ว่าจะช่วยลดภาวะโลกร้อนเป็นการเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ในการทำกิจกรรมด้วยกันครั้งละกี่ต้นแทน ซึ่งจะทำให้ผู้จัดงานและผู้ร่วมงานได้เห็นภาพผลที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน

ปัจจุบันรายได้ของ กรีน สไตล์ ออกมาเป็นบวกแม้จะไม่ได้มากมายกับการจัดตั้งขึ้นมากว่า 2 ปีครึ่ง แต่ถือว่าผลที่ได้ออกมาดีกว่าที่คาดไว้มาก โดยตอนนี้ก็เริ่มเห็นทิศทางการปรับสัดส่วนลักษณะงานที่เป็นงานบริการให้คำแนะนำหรือที่ปรึกษาทางด้านสิ่งแวดล้อมที่เน้นไปในคาร์บอนฟุตพรินต์เพิ่มเป็น 85% จากก่อนหน้าที่เน้นไปทางช่วยทำกิจกรรมและแนะนำการทำเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ 65% เพราะจะทำให้มีรายได้ที่มากขึ้น ขณะที่การเป็นศูนย์กลางรวบรวมสินค้าด้านกรีนโปรดักต์ให้กับหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ที่ 15% จากเดิมคอยหาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและมีสัดส่วน 35%

นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างหนึ่ง ที่ได้เห็นการมุ่งมั่นทำ “เรื่องสังคมและสิ่งแวดล้อม” และ “เรื่องธุรกิจ” ไปด้วยกันได้ ถ้าหลายฝ่ายมีการร่วมมือกันและต่างพร้อมที่เปิดรับการเรียนรู้สิ่งใหม่