‘กระโห้’คาร์ปยักษ์แห่งสยาม
วันนี้เรามาว่ากันถึง “ปลายักษ์” อีกชนิดของไทย คือปลากระโห้ (Siamese Giant Carp)
โดย ปริญญา ผดุงถิ่น
วันนี้เรามาว่ากันถึง “ปลายักษ์” อีกชนิดของไทย คือปลากระโห้ (Siamese Giant Carp) เจ้านี่เป็นปลาที่จะพบได้เฉพาะในแม่น้ำของไทย เช่น แม่น้ำเจ้าพระยาและสาขา แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำแม่กลอง
แต่ดูเหมือนว่าเกิดมาเป็นปลาไซส์เฮฟวีเวตของไทย เป็นต้องเผชิญชะตากรรมอันคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะปลากระโห้ ปลาบึก ปลาเทพา นั่นคือแทบหาไม่ได้แล้วในแหล่งน้ำธรรมชาติดั้งเดิม
สถานภาพระดับโลกจึงมาอีหรอบเดียวกัน คือ “ใกล้สูญพันธุ์อย่างวิกฤต” (Critically Endangered)
โชคดีมีอยู่ ตรงที่กรมประมงเราเก่งกาจมากด้านการผสมเทียมปลา ไม่ว่าจะกระโห้ ปลาเทพา ปลาบึก ล้วนถูกเพาะมาได้สำเร็จแล้วทั้งสิ้น
ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้กรมประมงทำการผสมเทียมปลากระโห้จากเจ้าพระยา ที่ทรงเลี้ยงไว้ยาวนานในบ่อของสวนจิตรลดา จนไทยผสมเทียมปลากระโห้ได้สำเร็จครั้งแรกของโลก เมื่อปี 2528
พอปี 2558 กรมประมงได้เลือกปลากระโห้เป็น “สัตว์น้ำประจำจังหวัดกรุงเทพมหานคร”
แต่น่าเสียดาย ลูกพันธุ์ปลากระโห้ที่เพาะได้มหาศาล เมื่อปล่อยคืนแหล่งน้ำบ้านพ่อบ้านแม่ของมัน กลับไม่ก่อผลทางบวกใดๆ เลย
ปลากระโห้ได้ชื่อว่าเป็น “ปลาคาร์ปที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก” และ “ปลาที่มี ‘เกล็ดใหญ่’ ที่สุดในโลก” (คลับคล้ายคลับคลาว่ามีนักเขียนใช้นามปากกา “เกล็ด กระโห้”
ในนิตยสาร “ชีวิตกลางแจ้ง” เดาว่าคงจะเป็นตัวบรรณาธิการเองนั่นแหละ ที่ “อวตาร” มา)
ขึ้นชื่อว่าเป็นพวกปลาคาร์ปแล้ว เนื้อก็มักมีรสชาติดี อย่างปลากระโห้ร่ำลือว่าเป็นหนึ่งในสุดยอดปลาอร่อยของไทย แล้วก็ร่ำลือไกลไปอีกขั้นว่า พระเจ้าเสือในยุค “ออเจ้า” ซึ่งเป็น “กษัตริย์นักตกปลา” ทั้งปลาน้ำจืดปลาทะเล ท่านโปรดปรานการเสวยเนื้อเพดานปากของปลากระโห้
วิถีชีวิตของปลากระโห้แม่น้ำ “ปลาเกล็ดเบอร์ 1 ของไทย” ดูจะคล้ายคลึงกับปลาบึก “ปลาหนังเบอร์ 1 ของไทยและของโลก” คืออาศัยในวังน้ำลึก แล้วก็ยังชีพด้วยแพลงตอนพืช
ยุคพระเจ้าเสือพระเจ้าเหา ปลากระโห้น้ำหนักเกินร้อยคงเจอได้ไม่ยาก เชื่อว่าปลากระโห้ใหญ่สุดมีน้ำหนักถึง 150 กก.
เช่นเดียวกับปลาบึก ปัจจุบันปลากระโห้มีอยู่มากพอสมควรในฟิชชิ่งปาร์ก แต่โดยทั่วไปก็หาตัวตกได้ยากกว่าปลาบึก อย่างไรก็ตามฟิชชิ่งปาร์กบางแห่ง ปล่อยปลากระโห้ไว้รับแขก ด้วยจำนวนที่มากสูสีกับปลาบึก
ขณะที่ตามบ่อเล็กๆ ในสไตล์ “บ่อชิงหลิว” ก็จะเป็นเวทีของปลากระโห้ไซส์จิ๋ว เป็นคู่ต่อสู้โหดหินของคันชิงหลิวอ่อนๆ ทั้งนี้ทั้งนั้น มักพูดกันว่ากระโห้ตัวเล็กๆ เนื้อตัวซีดๆ ตามบ่อชิงหลิว เป็นปลากระโห้อินเดีย
แต่ผมสืบค้นข้อมูลดูด้วยตัวเอง พบว่าปลากระโห้อินเดีย (Catla) มีรูปร่างหน้าตาที่ต่างจากกระโห้ไทยพอสมควร ดูคล้ายการผสมผสานกันระหว่างปลากระโห้กับปลายี่สกเทศ
เซียนปลาบอกว่า ปลากระโห้จะเปลี่ยนสีไปตามแหล่งน้ำ พวกตัวเล็กๆ ที่อยู่ในบ่อชิงหลิวน้ำตื้นน้ำขุ่น ก็จะมีสีซีด ส่วนปลากระโห้ในบึงน้ำลึก จะตัวดำมะเมื่อม
สถิติโลกเป็นทางการของปลากระโห้ ที่ได้รับการรับรองจากสมาคมกีฬาตกปลานานาชาติ หรือ IGFA สารภาพว่าผมสืบค้นไม่เจอ เจอแต่สถิติโลกแบบนับกันเองในหมู่นักตกปลาอังกฤษ
กระโห้ ใหญ่สุดมีน้ำหนัก 222 ปอนด์ หรือประมาณ 100 กก.พอดี ตกได้โดยฝรั่งอังกฤษ ที่บ่อใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี เมื่อปี 2016 เป็นข่าวโด่งดังในสื่อเมืองผู้ดี
กูเกิลไล่อ่านดู จึงเห็นว่านักตกปลาอังกฤษคลั่งปลากระโห้กันมาก สถิติที่แซงกันไปมา ก็เป็นการบินมาเย่อปลากระโห้ในไทยนี่แหละ โดยมีบ้าง เป็นปลากระโห้ที่ตกได้ที่ประเทศอังกฤษ (ขนไปปล่อยได้ไงนี่ เก่งฉิบ)
ไม่น่าแปลกใจที่นักตกปลาอังกฤษจะชอบกระโห้ เพราะการตกปลาคาร์พ ก็เป็นที่นิยมอย่างสูงในอังกฤษอยู่แล้ว มีการพัฒนามาไกล ไม่ว่าจะวิธีการตกหรือเหยื่อ
เทียบกันปอนด์ต่อปอนด์ ปลากระโห้สู้เบ็ดได้ไม่อึดเท่าปลาบึก แต่จะเลอค่าในความรู้สึกของนักตกปลามากกว่า
ผมเองเคยตกปลากระโห้ใหญ่ได้กับเขาเหมือนกัน ที่ภูมิใจก็คือ ผมใช้วิธีการตกแบบ “สปิ๋ว” ใช้เหยื่อเม็ดเดียวกับทุ่นชิงหลิว จงใจสอยมันโดยตรงก็ว่าได้