posttoday

‘กาดำ’ฉลามน้ำจืดพลังดูด

05 สิงหาคม 2561

“รูปไม่ชั่ว แต่ตัวดำ” ก็คงจะเป็นปลากาดำนี่แหละ

โดย ปริญญา ผดุงถิ่น

“รูปไม่ชั่ว แต่ตัวดำ” ก็คงจะเป็นปลากาดำนี่แหละ

ถึงตัวจะดูมืดคล้ำด้วยสีเทาเข้ม แต่เมื่อมองในรายละเอียด จึงเห็นว่าเกล็ดสีเทาแต่ละเกล็ด จะมีสีแดงเรื่อๆ แทรกอยู่ด้วย เป็นความสวยงามเมื่อมาอยู่ในมือ หรือ In Hand เท่านั้น มองไกลๆ จะเห็นไม่ชัด

มากกว่าสี ก็เป็นรูปร่าง มันมีครีบกระโดงและครีบอื่นๆ ที่สง่ากว่าใครในหมู่ปลาตะเพียนหรือปลาคาร์ปด้วยกัน ขณะที่คนไทยมองไปที่สีสันของปลา จนเรียกมันว่า “กาดำ” แต่พวกฝรั่งเพ่งไปที่ลักษณะรูปร่างมากกว่า

ดังนั้นจึงมีชื่ออังกฤษออกไปทางฉลาม ซึ่งเท่าที่ผมค้นๆ ดู ก็มีอยู่หลายชื่อ ไม่ว่าจะ Black Shark, Black Sharkminnow และที่เจ๋งกว่าเพื่อน ก็คือ Great Black Shark เรียกว่าจงใจตั้งชื่อให้ล้อกับ Great White Shark หรือฉลามขาว ไอ้จอว์สแห่งท้องทะเล เลยเชียว

แต่ในความเป็น “ฉลามน้ำจืด” ของปลากาดำ มันกลับทำร้ายใครไม่ได้มากกว่าการดูดการตอด เพราะปลากาดำไม่มีเขี้ยว มีแต่ปากทรงดูด พร้อมด้วยหนวดหงิกๆ กึ่งสั้นกึ่งยาวอีก 2 คู่

จัดเป็นปลาที่มีชื่อเสียงด้าน “พลังดูด” นี่ผมพูดเรื่องปลาจริงๆ นะ ไม่เกี่ยวการเมือง!

ปลากาดำเป็นปลาแม่น้ำขนานแท้ พบได้ในแม่น้ำทั่วประเทศไทย รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ ลงใต้ไกลไปถึงอินโดนีเซีย

ใช้ปากดูดกินพืชและสัตว์น้ำเล็กๆ ตามหน้าดินเป็นหลัก มีคนเล่าประสบการณ์ให้ฟังว่า ในแม่น้ำที่มีปลากาดำอาศัยอยู่ เวลาลงอาบน้ำบางเวลาก็โดนพวกมันเข้ามาตอดตีน (“สปาปลาแม่น้ำ” หาได้ที่ไหน)

‘กาดำ’ฉลามน้ำจืดพลังดูด

เพราะสีสันและรูปร่างที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ ทำให้ปลากาดำเป็นหนึ่งในปลาสวยงามของวงการปลาตู้ด้วย ทั้งยังเป็นปลาตู้ที่ไม่ใช่ของโหล ใช่ว่าอยากซื้อแล้วมีให้ซื้อทุกเวลา

ปัญหาที่นักเลงปลาตู้บ่นให้ได้ยิน (คือเขาบ่นกันเองในเน็ต แล้วผมไปแอบส่องอ่าน แหะๆ) คือเวลาเอาปลากาดำไปเลี้ยงรวมกับปลาอื่น มันชอบวุ่นวายเอาปากไปดูดปลาอื่นจนไม่ได้อยู่ปกติสุข

ทั้งยังเลี้ยงรวมกับปลากาดำด้วยกันก็ไม่ได้ เพราะจะมีมีนิสัยหวงถิ่น ต่อสู้กัน แหม่ ฉลามแท้ๆ ยังอยู่รวมกันได้เลย ฉลามเก๊จะเข้มไปถึงไหน

ปลากาดำมีศักดิ์เป็น “ปลาประจำจังหวัดสกลนคร” แต่ปัจจุบันประชากรพวกมันกลับเหลือน้อยแล้วในหนองหาร แหล่งน้ำใหญ่ของสกลนคร สาเหตุจากการรุกล้ำแหล่งน้ำ การใช้สารเคมี การประมงล้างผลาญ

จนกรมประมงกำลังมีโครงการฟื้นฟูปลากาดำให้กลับคืนสู่หนองหาร ซึ่งก็คงผสมเทียมเอาลูกปลากาดำไปปล่อยเยอะๆ นั่นแหละ

ข้อมูลในอินเทอร์เน็ต ต่างระบุตรงกันว่า ปลากาดำมีรสชาติอร่อย แล้วก็ระบุเมนูอร่อยที่ปรุงด้วยเนื้อปลากาดำ คือ ลาบ และน้ำยา (ขนมจีน) เรียกว่าแทบร้อยทั้งร้อย จะต้องก๊อบ เอ๊ย ระบุถึงอาหาร 2 อย่างนี้ ไม่ยักมีกาดำนึ่งมะนาว กาดำราดพริก กาดำทอดกระเทียม
กาดำผัดฉ่า ฯลฯ

ในแง่ปลาเกม ปลากาดำถือว่าสู้เบ็ดได้ดี อันนี้ก็ว่าตามข้อมูลที่เพื่อนนักตกปลาบอกมา แล้วก็ประสบการณ์ตรงของผม ที่แม้เคยตกปลากาดำมาได้แค่ตัวเดียว แต่ปลานั้นก็มีไซส์ใหญ่ ผมคอนเฟิร์มว่าแรงดีจริง

ขณะที่ผมตกได้แต่ปลากาดำตัวดำๆ “แอ้ เซียนกระทิงไฟ” กลับตกปลากาดำเผือก สีอย่างกะปลาทับทิมขึ้นมาได้ เจ้าตัวดีใจกระดี๊กระด๊าใหญ่

ผมจึงพูดเคร่งขรึมว่า อันว่าสัตว์เผือกมียีนผิดปกติทั้งหลาย ล้วนเป็นสัตว์ไม่เหมาะสมจะเป็นผู้อยู่รอดในธรรมชาติ เพราะฉะนั้นไม่ต้องดีใจให้มาก รีบปล่อยปลาอ่อนแอไม่สมบูรณ์ตัวนี้ลงน้ำไปเสียที!!