posttoday

บนถนนราคะสู่การตรัสรู้

12 สิงหาคม 2561

พุทธศาสนาในญี่ปุ่นจะว่าเสื่อมก็ไม่ใช่ จะว่า แอดวานซ์ก็ไม่เชิง ความลักลั่นนี้เป็นเพราะอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบมนตรยาน

โดย กรกิจ ดิษฐาน
 
พุทธศาสนาในญี่ปุ่นจะว่าเสื่อมก็ไม่ใช่ จะว่า แอดวานซ์ก็ไม่เชิง ความลักลั่นนี้เป็นเพราะอิทธิพลของพุทธศาสนาแบบมนตรยาน ซึ่งมีทั้งระดับลึกซึ้งในทางธรรมจนเขียนอธิบายไม่ได้ และระดับเบสิกแค่กราบไหว้บูชาไม่ต้องคิดมาก
 
ระดับลึกมีเป้าหมายเพื่อการตรัสรู้ใน “กายเนื้อ” ปัจจุบันนี้ เพื่อเสวยบรมสุขแห่งบรมธรรม และเพื่อใช้กายเนื้อนี้ช่วยเหลือสรรพสัตว์ คือเป็นโพธิสัตว์ชั้นสูงทั้งที่ยังมีตัวตนบนโลก
 
เรื่องนี้ยากเกินไปผมขอพอเท่านี้ก่อน เพราะจะพูดถึงระดับเบสิก
 
มนตรยานระดับพื้นฐานสอนให้ชาวพุทธกราบอ้อนวอนองค์ “วิทยราช” (ปางกายเนื้อของพุทธะและโพธิสัตว์) “เทวดาฝ่ายสัมมาทิฏฐิ” เพื่อปรับเลเวลกันไปก่อน วิทยราชที่เรารู้จักกันดีก็เช่น อจลวิทยราช (ฟุโดเมียวโอ) พวกนักดาบ นักรบหรือนักพรตนิยมบูชากัน เพราะถือว่าท่านเป็น “สายบู๊”
 
แต่มีอีกองค์เป็น “สายสวาท” คนไทยไม่ค่อยรู้จัก ท่านชื่อว่า “ราคะราช” แปลว่า เจ้าแห่งราคะ
 
แค่ชื่อราคะราชดูเหมือนจะขัดแย้งกับศาสนาพุทธอยู่ไม่น้อยแล้ว พุทธศาสนามีแต่ตัดราคะ (พระพุทธองค์ว่าอย่าทอดสะพานให้ราคะไม่ว่ากรณีใดๆ) แต่นี่นับถือโพธิสัตว์ที่ใช้ราคะเป็นมรรคแห่งการบรรลุธรรม ซึ่งหลักนี้เป็นตันตระอย่างหนึ่ง ผมจะอธิบายลึกไม่ได้เพราะต้องรับการอภิเษกก่อน แต่โดยหลักแล้ว เป็นการรู้เท่าทันพลังราคะแล้วผันราคะแห่งรักผูกพันยึดติด เป็นรักไร้เงื่อนไขเพื่อสรรพชีวิต
 
เปลี่ยนจากกามฉันทะเป็นมหากรุณานั่นเอง
 
ในระดับมวลชน การบูชาราคะราชไม่ซับซ้อนนัก เขากราบไหว้ราคะราชเพื่อให้สมปรารถนาในความรักและกามารมณ์
 
รูปร่างของราคะราชมีกายสีแดงเหมือนสีเลือดในหัวใจ ถือมาลัยกับคันศรและธนูเหมือนกามเทพ หน้าตาดุร้ายเหมือนกับรสร้อนแห่งรัก ชื่อของท่านในภาษาจีน คือ อ้ายหร่าน (愛染) แปลตรงตัวคือ ย้อมด้วยรัก (หรือราคะ) คำว่า หร่าน (染) ในสมัยโบราณออกเสียงเหมือนภาษาไทยว่า “ย้อม” ด้วยความที่ท่าน “ย้อมด้วยรัก” พวกคนทำอาชีพย้อมผ้าจึงพลอยบูชาท่านไปด้วย
 
แต่แฟนพันธุ์แท้ของราคะราช คือบรรดาคนเต้นกินรำกิน คณิกา กับผู้มีรสนิยมรักเพศเดียวกัน (ซึ่งแพร่หลายมากในหมู่ซามูไรญี่ปุ่นแต่เมื่อมีลูกเมียแล้วมักจะเลิก) คนเหล่านี้มักปรารถนาความรักแต่ก็มักผิดหวังในความรัก อย่างคณิกานั้นยากจะพบรักแท้แน่นอน ส่วนคนรักเพศเดียวกันก็มักหมดความสำคัญเมื่อคู่ของเขามีเหย้ามีเรือน
 
คนที่ยังผูกพันในรัก ใจยังรุมร้อน ยากที่จะสอนธรรมได้ แต่โพธิสัตว์ท่านโปรดไม่เลือก ท่านจึงช่วยให้สมปรารถนาก่อน เมื่อมีสุขทางโลกแล้วค่อยสอนนัยที่ลึกซึ้งทางธรรม
 

บนถนนราคะสู่การตรัสรู้

 
เห็นไหมว่าศาสนาพุทธไม่เลือกที่รักมักที่ชัง คนมีราคะก็สามารถโปรดได้ อันที่จริง เราทุกคนล้วนมีราคะ ไม่ว่ารูปแบบไหนก็ตาม
 
เทพมนตรยานอีกองค์ที่นิยมบูชากันคือ คังงิเทน (歓喜天) คังงิ แปลว่า สุขี เทน แปลว่า เทพ รูปร่างเป็นพระพิฆเนศสององค์สวมกอดกัน มีนัยทางกามารมณ์ แต่ก็มีคุณทางประสาทพรให้สำเร็จดังใจหวัง จึงเป็นเทพแห่งความรักและเทพแห่งความสมปรารถนา
 
ในตำราทางพุทธศาสนากล่าวว่า พระพิฆเนศคังงิเทน เป็นนิรมาณกายของพระไวโรจนพุทธะ เพื่อโปรดสรรพสัตว์ที่ยังละแรงตัณหามิได้ ท่านจึงช่วยให้พวกเขาอิ่มเอมในกามก่อน ให้ใจหมดพลุ่งพล่าน พอสงบแล้วค่อยชักจูงจิตใจให้ใฝ่พุทธศาสนา
 
ส่วนตำนานอันเป็นเหตุให้พระวินายกสวมกอดกันจนเข้าถึงบรมสุข เนื้อหาค่อนข้างยาว ถ้ามีโอกาสวันหลังผมจะมาเล่าต่อ
 
เรื่องราคะราชกับพระวินายกมีปรากฏในคัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมนตรยานหลายฉบับ ล้วนแต่แปลจากอินเดียมายังจีน และแพร่หลายมายังญี่ปุ่น มีอ้างอิงได้ แต่อย่าไปเทียบกับเถรวาทบ้านเรา เพราะคนแนวทางการ เรามุ่งขจัดกามให้หมด ส่วนทางนั้นเขายังอยากเสพกามกันไปก่อนตรัสรู้ ค่อยๆ เรียน ค่อยๆ รักกันไป
 
อนึ่ง ก่อนจะจบบทความขอสรุปที่มาของเรื่องเสียก่อน เดี๋ยวจะว่าผมยกเมฆเอา เรื่องพระคังงิเทน (จีนเรียกว่าพระฮวนสี่ หรือพระบรมสุข) ปรากฏในสารบบพระไตรปิฎกภาษาจีน มีปกรณ์ว่าด้วยพระวินายกกับคณบดีอยู่หลายเล่ม เช่น
 
1. 佛說金色迦那鉢底陀羅尼經 (พุทธพจน์ว่าด้วยธารณีพระสุวรรณกายคณบดี)
 
2. 毘那夜迦誐那缽底瑜伽悉地品秘要 (วินายกคณบดีโยคะสิทธิสารัตถปกรณ์)
 
3. 金剛薩埵說頻那夜迦天成就儀軌經 (วัชรสัตตวะปรารภวินายกเทพสิทธิกัลปะสูตร)
 
ทั้ง 3 เล่มนี้เอ่ยชื่อพระวินายกกับพระคณบดีชื่อพระสูตร/ปกรณ์อย่างชัดเจน ผู้แปลเป็นพระชาวอินเดียบ้าง ชาวเอเชียกลางบ้าง ล้วนแต่เป็นบูรพาจารย์นิกายมนตรยานสมัยราชวงศ์ถัง เช่น พระอโมฆวัชร แปล 歓喜天菩薩修行秘密法儀軌 (ว่าด้วยพระไวโรจนพุทธเจ้านิรมาณกายเป็นพระบรมสุขโพธิสัตว์ (หรือพระคณบดี)
 
พระอโมฆวัชรท่านนี้เป็นบูรพาจารย์ของนิกายมนตรยานฝ่ายราชวงศ์ถัง ถือเป็นหนึ่งใน 3 เสาหลักแห่งนิกายนี้ เรียกว่า มหาบุรุษทั้งสามแห่งไคหยวน (开元三大士) ไคหยวน หมายถึง รัชศกไคหยวน แห่งแผ่นดินพระเจ้าถังเสวียนจง เป็นยุคที่มนตรยานแพร่หลายอย่างมาก 
 
มนตรยานในโลกพุทธศาสนามี 2 สาย คือ สายทิเบต เรียกว่า จั้งมี่ (藏密) กับฝ่ายราชวงศ์ถังหรือของจีนเรียกว่า ถังมี่ (唐密) ในจีนไม่มีเหลือแล้วหลังสิ้นราชวงศ์ถัง แต่ถูกนำไปสานต่อในญี่ปุ่น โดยแบ่งออกเป็น 2 สำนัก  คือ สำนักชินกอน เรียกว่า โทมิตสึ (東密) หรือรหัสนัยสายตะวันออก สำนักเทนได เรียกว่า ไทมิตสึ (台密) หรือรหัสนัยสายนิกายเทียนไท 
Thailand Web Stat