เรือ พนม-สุรินทร์ กับโบราณวัตถุ
กรมศิลปากร กำลังจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ. 2561
โดย สมาน สุดโต
กรมศิลปากร กำลังจัดนิทรรศการพิเศษเนื่องในวันอนุรักษ์มรดกไทย พ.ศ. 2561 เรื่องจากบ้านสู่เมือง รัฐแรกเริ่ม บนแผ่นดินไทย ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ตั้งแต่วันนี้-30 ก.ย. 2561
ในบรรดาโบราณวัตถุที่ทรงคุณค่าทั้งหลาย ที่นำมาจัดนิทรรศการนั้น เรือโบราณที่มีชื่อว่า พนม-สุรินทร์ น่าสนใจยิ่ง เพราะให้คำตอบที่ค้างคาใจนักโบราณคดีมานานว่าเรือโบราณที่ใช้เดินทางค้าขาย เมื่อ 1,000 กว่าปีก่อนนั้นมีลักษณะอย่างไร เพราะนักโบราณคดีใต้น้ำพบเรือที่จมในอ่าวไทย ก็กำหนดอายุได้เพียง 500-600 ปีเท่านั้น
จนกระทั่งได้คำตอบ เมื่อ พ.ศ. 2556 จากการพบเรือโบราณที่จมอยู่ในโคลนตมน้ำขัง ที่ ต.พันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ในที่ดินของ พนม-สุรินทร์ ศรีงามดี ที่เจ้าตัวไถปรับพื้นที่สำหรับทำบ่อเลี้ยงกุ้ง ทั้งสองภรรยา-สามีเห็นคุณค่าทางประวัติศาสตร์ จึงมอบที่ดินที่พบเรือโบราณ จำนวน 4 ไร่ ให้กรมศิลปากร เพื่อความสะดวกในการขุดค้นทางโบราณคดี
กรมศิลปากรจึงตั้งชื่อเรือโบราณว่า พนม-สุรินทร์ เพื่อเป็นเกียรติแก่ผู้ค้นพบและเจ้าของที่ดิน
ต่อมาสำนักศิลปากรที่ 1 จังหวัดราชบุรี กองโบราณคดีใต้น้ำ กลุ่มวิทยาศาสตร์เพื่อการอนุรักษ์ พร้อมด้วยนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญสาขาต่างๆ จากกรมทรัพยากรธรณี กรมป่าไม้ คณะโบราณคดี พิพิธภัณฑ์เครื่องถ้วยเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ นักวิชาการอีกจำนวนหนึ่งสำรวจแล้วได้ข้อสันนิษฐานว่าเรือนี้มีอายุ 1,200-1,500 ปี ถือว่าเป็นการพบเรือโบราณที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย และภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้
เมื่อกำหหนดอายุได้แล้ว ต้องหาว่าเรือมาจากไหน จึงสำรวจโครงสร้างเรือ และวัตถุโบราณที่พบในเรือที่ยังมีอยู่กระจัดกระจาย ได้ข้อสันนิษฐานว่าเรือนี้น่าจะเป็นเรือสินค้าของพ่อค้าชาวอาหรับ โดยดูจากโครงสร้างเรือเช่นไม้กงเรือ แผ่นไม้กระดานเรือ และเชือกที่ใช้ในเรือ
ส่วนโบราณวัตถุที่พบได้แก่ ภาชนะดินเผา เชือก เชือกหวาย เม็ดหมาก งาช้าง เขาสัตว์ และไม้แผ่นยาวจำนวนมาก ก็บ่งบอกอายุเรือได้ดี เรือนี้เป็นเรือไม้มีขนาดความยาว 25 เมตร ขณะที่พบนั้นจมอยู่ในดินลึก 2 เมตร สภาพตัวเรือเสียหาย ไม้ผุเปื่อย แต่ซากเรือที่โผล่พ้นผิวเผยให้เห็นแผ่นไม้กระดานเปลือกเรือที่ผูกรัดร้อยให้ติดกันด้วยเชือกโดยใช้เชือกทำจากใยพืช ส่วนใหญ่ทำจากมะพร้าวเพื่อยึดกงเรือและไม้เปลือกเรือเข้าด้วยกัน เรียกวิธีนี้ว่าการหมันเรือ หรือการเย็บเรือ และทำแบบนี้ทั้งลำ เป็นเทคนิคต่อเรือเฉพาะของชาวอาหรับโบราณ
ส่วนหลักฐานทางโบราณคดีที่พบในเรือมีความหลากหลายตั้งแต่ภาชนะดินเผาที่ผลิตในท้องถิ่น และที่ผลิตจากต่างประเทศ เมื่อกำหนดอายุของภาชนะดินเผาแบบมีสันจะอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-16 เช่น ภาชนะแบบแอมฟอรา (Amphora) เป็นภาชนะที่มีรูปแบบพิเศษที่ไม่เคยพบในประเทศไทยมาก่อน แต่พบในแถบยุโรป ตะวันออกกลาง และอินเดีย (กำหนดอายุที่ศตวรรษที่ 12) ทั้งนี้จากการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของภาชนะที่พบจากแหล่งเรือโบราณพนม-สุรินทร์นี้ ยังพบว่ามีลักษณะคล้ายกับภาชนะแบบ Torpedo jar มีแหล่งผลิตในบริเวณอ่าวเปอร์เซีย ในช่วงศตวรรษที่ 12-13 (ประมาณ 1,300-1,400 ปี) และเครื่องปั้นดินเผาจีนอายุประมาณ พ.ศ. 1350-1399
การกำหนดอายุเหล่านี้ โดยการหาค่าทางวิทยาศาสตร์ ด้วยวิธีคาร์บอน 14 ได้ค่าอายุอินทรียวัตถุอยู่ในราว 1,200-1,300 ปี จึงสันนิษฐานว่าเรือโบราณพนม-สุรินทร์ มีอายุในราวพุทธศตวรรษที่ 13-15 หรืออายุ 1,100-1,300 ปี
ปัจจุบันโครงการศึกษาเกี่ยวกับแหล่งเรือโบราณดังกล่าว ดำเนินการแล้วเพียง 1 ใน 5 ส่วน แต่ทำให้นักโบราณคดีได้รับความรู้มากมายเกี่ยวกับการค้าทางทะเลของโลกยุคโบราณ คาดว่าหากศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลครบถ้วน จะทำให้ความรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจการค้าของโลกในเวลานั้นได้กระจ่างชัดเจน ไขปริศนาทางโบราณคดีที่รอคอยมาเป็นเวลานานได้อย่างสมบูรณ์
ข้อมูลที่กล่าวมานี้จากหนังสือ จากบ้านสู่เมือง รัฐแรกเริ่ม บนแผ่นดินไทย จัดพิมพ์โดยกรมศิลปากร ส่วนภาพประกอบได้รับความเอื้อเฟื้อจากกลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่กรมศิลปากร