เปิดต้นทุนทางคดี ความเสียหายต่ำค่าใช้จ่ายสูง
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย วิเคราะห์ระบบจัดเก็บค่าฤชาธรรมเนียมและค่าขึ้นศาล พบต้นทุนการดำเนินคดี กรณีทุนทรัพย์ต่ำค่าใช้จ่ายสูง ตรงข้ามรายจ่ายจะลดลงหากทุนทรัพย์สูง 56.4% เป็นค่าทนายความ
โดย...วารุณี อินวันนา
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย วิเคราะห์ระบบจัดเก็บค่าฤชาธรรมเนียมและค่าขึ้นศาลด้วยวิธีการทางเศรษฐศาสตร์ พบต้นทุนการดำเนินคดี กรณีทุนทรัพย์ต่ำค่าใช้จ่ายสูง ตรงข้ามรายจ่ายจะลดลงหากทุนทรัพย์สูง 56.4% เป็นค่าทนายความ
คณะวิจัยมองว่ากระบวนการยุติธรรมในมุมของเศรษฐศาสตร์นั้น มีหน้าที่ในการจัดสรรสินค้าและบริการสาธารณะที่ประชาชนมีความจำเป็นต้องใช้ แต่ระบบตลาดหรือเอกชนไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างเหมาะสม จึงควรสร้างความสมดุลระหว่างความต้องการใช้บริการ และความสามารถในการให้บริการ นั่นคือการกำหนดความเหมาะสมของค่าฤชาธรรมเนียมและค่าขึ้นศาล
ปัจจุบันการจะให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้อย่างเท่าเทียมตามสิทธิด้านมนุษยชน ภาครัฐจะมีภาระค่าใช้จ่ายสูงขึ้นด้วย แต่ถ้าประชาชนเข้าถึงบริการต่ำ ภาครัฐจะมีกำไร จึงควรยึดหลักเศรษฐศาสตร์ เพราะจะทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภายใต้ค่าใช้จ่ายที่ เหมาะสม และจะเป็นประโยชน์ต่อคดีความที่สร้างผลดีต่อสังคม ในขณะเดียวกันก็ให้โทษแก่คดีที่ก่อต้นทุนทางสังคม
นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายหรือค่าฤชาธรรมเนียมในกระบวนการยุติธรรม จะต้องสะท้อนต้นทุนทั้งหมดที่เกิดขึ้นจริงมากที่สุด ซึ่งความหย่อนประสิทธิภาพก็ถือเป็นต้นทุนอย่างหนึ่งที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะจะส่งผลกระทบทางสังคม ได้แก่ ปัญหาคดีล้นศาล ปัญหาภาระงานของบุคลากรศาล
ทั้งนี้ ต้นทุนรายจ่ายต่อทุนทรัพย์ในปัจจุบัน พบว่า ทุนทรัพย์ที่ฟ้องร้องคดีที่มีมูลค่าต่ำ กลับมีรายจ่ายในการต่อสู้คดีสูง ทั้งฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลย โดยคดีที่มีการฟ้องต่ำกว่า 2 แสนบาท จะทำให้ต้นทุนทางคดีในกรณีฟ้องกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่ากรณีที่ไม่ฟ้องเป็นอย่างมาก และในคดีที่ทุนทรัพย์กว่า 22 ล้านบาท ต้นทุนการฟ้องและไม่ฟ้องแทบจะไม่ต่างกัน
หากเปรียบเทียบระหว่างโจทก์และจำเลย พบว่า ในกรณีที่ทุนทรัพย์เท่ากัน เช่น ทุนทรัพย์ 2.5 หมื่นบาท โจทก์จะมีต้นทุนทางคดีต่อทุนทรัพย์สูงกว่าของจำเลยในกรณีจำเลยไม่ฟ้องกลับ แสดงว่าโจทก์ต้องเตรียมค่าใช้จ่ายเพื่อสู้คดีมากกว่าจำเลย และโครงสร้างของรายจ่ายรวมทั้งหมดพบว่าค่าใช้จ่ายสูงสุดอันดับ 1 คือ ค่าทนาย คิดเป็น 56.4% ขั้นต่ำ
ในกรณีที่ผู้ถูกฟ้องไม่ฟ้องกลับ จะพบว่าค่าทนายเป็นต้นทุนที่สำคัญในการโต้แย้งคดีความ โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 88.3% ในคดีที่มีทุนทรัพย์และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามทุนทรัพย์ที่ถูกฟ้องอีกด้วย กรณีฟ้องกลับ ค่าทนายมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 67.2%
"ค่าขึ้นศาลที่มากในคดีที่มีทุนทรัพย์ 10-50 ล้านบาท อาจสะท้อนภาพความไม่เท่าเทียมกันของฝั่งผู้ฟ้องร้องกับฝั่งผู้ถูกฟ้อง โดยผู้ถูกฟ้องจะมีรายจ่ายค่าทนายต่ำกว่า สะท้อนว่าทนายมีความชำนาญน้อยกว่า หรือสะท้อนถึงภาระการพิสูจน์ความผิดที่ต้องตกอยู่กับผู้ฟ้อง จึงทำให้รายจ่ายในส่วนนี้ของฝ่ายผู้ถูกฟ้องต่ำกว่าได้" คณะผู้วิจัยตั้งข้อสังเกต
คณะผู้วิจัยได้เสนอแนวทางแก้ไขเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้บริการได้อย่างรวดเร็ว ลดระยะเวลาการใช้บริการของศาล ในราคาที่มีความเที่ยงธรรมและไม่แพงเกินควร ภายใต้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมว่า ควรจะปรับลดหรือตัดกระบวนการที่ไม่จำเป็นหรือสิ้นเปลืองออก หรือนำเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดเก็บค่าฤชาธรรมเนียม ด้วยการกำหนดให้คดีที่ไม่มีข้อยุ่งยากหรือคดีที่มีแบบแผนที่ตายตัว เช่น คดีเรียกร้องตามเช็ค สามารถฟ้อง ยื่นหลักฐานและชำระค่าขึ้นศาลทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
ทำการเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่ให้สวัสดิการต่างๆ อาทิ บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ การรับเบี้ยเลี้ยงคนว่างงาน เบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ เพื่อพิสูจน์คุณสมบัติในการได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ลดขั้นตอนการยื่นขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลและการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล การคิดค่าปรับทางแพ่ง กรณีที่มีการขยายระยะเวลาในกระบวนการยาวออกไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร เพื่อลดการประวิงคดี อาทิ การเคลื่อนคดี อาจคิดค่าปรับหลังจากเลื่อนหรือขอขยายตามจำนวนครั้งที่กำหนด หรือโดยดุลยพินิจของศาล
สำหรับ การจัดเก็บค่าฤชาธรรมเนียมที่มีความเที่ยงธรรมและไม่แพงเกินควร นั้น อาจยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับประโยชน์สาธารณะ หรือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เช่นเดียวกับคดีอาญา คดีปกครอง และคดี ผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น คดีสิ่งแวดล้อม ให้สามารถวางทรัพย์เป็นประกันแทนการจ่ายธรรมเนียมศาลเป็นตัวเงิน เพราะคนส่วนหนึ่งขาดสภาพคล่องไม่มีเงินสดหรือเงินในบัญชี แต่มีทรัพย์สินอื่น เริ่มต้นคดีที่เข้าใจง่าย เพื่อให้คู่ความสามารถดำเนินคดีตนเองได้มากที่สุด รวมถึงคดีที่ไม่มีข้อยุ่งยากและสามารถจบได้ภายใน 6 เดือน อาจเก็บค่าธรรมเนียมในอัตราที่ต่ำกว่าคดีสามัญ
ทั้งนี้ ธนาคารโลกได้ทำการประเมินประสิทธิภาพกระบวนการยุติธรรมของไทยกับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอย่าง เวียดนาม อินเดีย มาเลเซีย ไทยมีดัชนีการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมสูงสุด และมิติด้านความเสมอภาคอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนความล่าช้าและกระบวนการไกล่เกลี่ย ไทยมีคะแนนในระดับปานกลาง