posttoday

ชีวิตอันธพาล

26 สิงหาคม 2561

ใครอยาก “เจอคนอันธพาล” บ้าง เชื่อว่าโยมก็คงจะเป็นเหมือนอีกหลายๆ

โดย พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา 

ใครอยาก “เจอคนอันธพาล” บ้าง เชื่อว่าโยมก็คงจะเป็นเหมือนอีกหลายๆ คนบนโลกนี้ที่ถ้าขอพรได้คงไม่มีใครอยากเจอคนอันธพาล เราต่างอยากจะมีความสุขกับชีวิตในทุกๆ วัน แม้กระทั่งผู้ที่เคยเป็นอันธพาลก็คงปรารถนาเช่นกัน จะดีแค่ไหนละโยม ถ้าเราสามารถใช้ชีวิตโดยหลีกห่างคนอันธพาล

หลายครั้งที่ผู้เขียนไปบรรยายธรรม จะตั้งคำถามว่า โยม...มีใครที่ไม่ชอบ “อันธพาล” บ้าง เชื่อว่าโยมหลายคนแอบยกมืออยู่ในใจ “ชั้นนี้แหละที่ไม่ชอบนิสัยคนอันธพาล” ยิ่งในโลกยุคนี้ คนอันธพาลยิ่งมากขึ้น รอบตัวเราบางครั้งมีแต่อันธพาล โบราณท่านจึงสอนว่า “ห่างสุนัขให้ห่างศอก ห่างวอกให้ห่างวา ห่างพาลา ให้ห่างหมื่นโยชน์แสนโยชน์”

พระพุทธเจ้าจึงมอบของขวัญชีวิตไว้แก่เราทุกคนด้วยมงคลชีวิต 38 ประการ มงคลข้อ 1 คือการไม่คบคนพาล แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าคนที่เราคบเป็นคนพาล พระท่านจึงสอนว่า “คนพาล” คือ คนที่มีใจขุ่นมัวเป็นปกติ เป็นผลให้มีความเห็นผิด ยึดถือค่านิยมผิดๆ คือ ไม่รู้ว่าอะไรดี อะไรชั่ว อะไรควร อะไรไม่ควร เช่น บัณฑิตเห็นว่าเหล้า เป็นของไม่ดี ทำให้ขาดสติ นำความเสื่อมมาให้นานัปการ แต่คนพาลกลับเห็นว่า เป็นของประเสริฐ เป็นเครื่องกระชับมิตร หรือบัณฑิตเห็นว่า การเล่นการพนันเป็นอบายมุข เป็นปากทางหรือสัญลักษณ์ความฉิบหาย แต่คนพาลกลับเห็นว่า เป็นสิ่งดี ทำให้เพลิดเพลิน เป็นการหาทรัพย์เพื่อเลี้ยงชีพ เป็นต้น

คนพาลมีลักษณะเหมือนคนทั่วไป คือ มีร่างกายประกอบด้วยเลือดเนื้อ และอาจมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดเกี่ยวข้องกับเราก็ได้ เช่น เป็นญาติพี่น้อง สามีภรรยา ครูอาจารย์ หรืออาจเป็นผู้มีการศึกษาสูง อาจมีตำแหน่งหน้าที่การงานสูง อาจมีสมัครพรรคพวกมาก แต่ไม่ว่าจะเป็นอะไร มีความสัมพันธ์กับเราหรือไม่ ขึ้นชื่อว่าพาลแล้ว ถึงแม้จะมีความรู้มีความสามารถ ก็ไม่ใช้ความรู้ความสามารถในทางที่ถูกที่ควร เพราะเขาแสลงต่อความดี ทำดีจนบางครั้งเราตายใจหลงผิดไปตามเขา

คนพาลมี 2 ประเภท ได้แก่ พาลภายนอก คือคนพาลทั่วไป แม้จะร้ายกาจเพียงใด เราก็ยังมีทางหลีกเลี่ยงได้ แต่มีพาลอีกประเภทหนึ่งที่ร้ายยิ่งกว่า เพราะมักเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวและไม่มีทางหลีกเลี่ยงได้ คือพาลภายใน ซึ่งพาลภายใน คือ ตัวเราเอง ขณะที่คิดชั่ว พูดชั่วทำชั่ว เช่น หนีงานบ้าง เที่ยวเตร่ ไปยุ่งธุระคนอื่นโดยใช่เหตุบ้าง ชอบไปทำงานสายบ้าง คนอื่นเตือนดีๆ ก็โกรธบ้าง หลีกเลี่ยงกฎระเบียบบ้าง พูดไม่ไพเราะ ครั้งใดที่เราทำเช่นนี้ ครั้งนั้นเราเองนั่นแหละคือตัวพาล มีเชื้อความเป็นคนพาลอยู่ภายใน

คนพาล กับ คนอันธพาล ต่างกันอย่างไร?

“อันธพาล” ในภาษาไทยใช้ในความหมายว่า คนชั่วร้าย, คนเกเร พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บอกความหมายไว้สั้นๆ ว่า “คนเกะกะระราน” แต่ “อนฺธพาล” ในภาษาบาลี หมายถึง คนคิดผิด คือ ไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก ไม่มีความสามารถที่จะคิดและที่จะกระทำให้ถูกต้องได้ ไม่ใช่เพียงแค่เกเรเท่านั้น แต่อันธพาล คือ คนที่ทำให้ชีวิตตัวเองมืดบอด หรือมีต้นทุนเกิดมาดียังใช้ชีวิตให้ตกต่ำ

อันธพาล ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 บอกไว้ว่า “อันธ- : (คำวิเศษณ์) มืด, มืดมน, เช่น อันธกาล; โง่, ทึบ, เช่น อันธปัญญา; มองไม่เห็น, บอด, เช่น อันธจักษุ คือ ผู้มีตามืดบอด” และ “พาล” ตามนัยนี้หมายถึง คนพาล, คนโง่, ผู้อ่อนด้อยทางความคิด

อันธพาล เป็นมากกว่าที่เราเข้าใจกัน อ่านว่า อัน-ทะ-พาน แยกศัพท์เป็น อันธ + พาล = อนฺธพาล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทั้งมืดบอดทั้งโง่เขลา” หมายถึง อันธพาล, โง่เง่า, มีปัญญาทึบ ดังนิทานธรรมบทว่า ในสมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่วันเชตวัน เมืองสาวัตถี ทรงปรารภภิกษุผู้คบพวกผิดรูปหนึ่ง ได้ตรัสอดีตนิทานมาสาธกว่า...กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว พระโพธิสัตว์เกิดเป็นอำมาตย์ผู้สอนธรรมของพระเจ้าสามะ ในเมืองพาราณสี พระราชามีม้ามงคล อยู่ตัวหนึ่งชื่อปัณฑวะ มีรูปร่างสวยงามมาก ต่อมาคนเลี้ยงม้าคนเดิมเสียชีวิตลง จึงรับนาย
คิริทัตซึ่งเป็นชายขาเป๋เข้ามาเลี้ยงม้าตัวนี้แทน ฝ่ายม้าปัณฑวะเดินตามหลังนายคิริทัตทุกวัน สำคัญว่า “คนนี้สอนเรา” จึงกลายเป็นม้าขาเป๋ไป นายคิริทัตได้เข้ากราบทูลเรื่องมาขาเป๋ให้พระราชาทราบ พระองค์ได้สั่งแพทย์ให้ไปตรวจดูอาการของม้า แพทย์ตรวจดูแล้วไม่พบโรคอะไร จึงไปกราบทูลให้พระราชาทราบ พระองค์จึงรับสั่งให้อำมาตย์ไปตรวจดู อำมาตย์โพธิสัตว์ไปตรวจดูก็ทราบว่า ม้านี้เดินขาเป๋เพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาเป๋ จึงกราบทูลให้ทราบว่า ม้านี้เดินขาเป๋เพราะเกี่ยวกับคนเลี้ยงม้าขาเป๋ จึงกราบทูลให้พระราชาทราบว่า “ขอเดชะ ม้าปัณฑวะของพระองค์เป็นปกติดี ที่เดินเช่นนั้นเป็นเพราะแบบคนเลี้ยงม้า พระเจ้าข้า”

พระราชาตรัสถามว่า “แล้วจะให้ทำอย่างไรกับม้านี้ละทีนี้” อำมาตย์จึงกราบทูลว่า “เพียงได้คนเลี้ยงม้าขาดี ม้าก็จะเป็นปกติเหมือนเดิม พระเจ้าข้า” แล้วกล่าวเป็นคาถาว่า “ถ้าคนบริบูรณ์ด้วยอาการอันงดงามที่สมควรแก่ม้านั่น พึงจับม้านั่นที่บังเหียนแล้วจูงไปรอบๆ สนามม้าไซร้ ม้าก็จะละอาการเขยกแล้วเลียนแบบคนเลี้ยงม้านั้นโดยพลัน” พระราชารับสั่งให้เปลี่ยนคนเลี้ยงม้าใหม่ พอเปลี่ยนคนเลี้ยงม้าคนใหม่ ไม่นานม้านั้นก็เดินปกติดีเช่นเดิม พระราชาจึงได้พระราชทานลาภยศแก่พระโพธิสัตว์เป็นจำนวนมากในฐานะรู้อัธยาศัยของม้านั้น

บางครั้งคนอันธพาลไม่ใช่พาลเพราะตัวเอง แต่ต้องระวังคนรอบข้างหรือผู้ใกล้ชิดรอบตัวด้วย แต่คนพาลแล้วหันใจกลับตัวเริ่มต้นใหม่ก็ควรให้อภัยเพราะเป็นวิสัยของบัณฑิต แต่คนที่ผิดแล้วไม่ยอมรับผิด นั่นแหละเป็นวิสัยของอันธพาลนะโยม...