ยี่สกไทย vs ยี่สกเทศ

02 กันยายน 2561

หนึ่งใน “ปลาเทพ” ของไทยต้องมีชื่อปลายี่สกไทย

โดย ปริญญา ผดุงถิ่น 

หนึ่งใน “ปลาเทพ” ของไทยต้องมีชื่อปลายี่สกไทย (Jullien’s Golden Carp) อย่างไม่ต้องสงสัย เพราะองค์ประกอบมาครบ ทั้งความหายากใกล้สูญพันธุ์จากโลก (Endangered) ทั้งความอร่อยระดับแนวหน้า ในบรรดาปลาน้ำจืดไทย ทั้งความสวยงามแปลกตา

ตั้งแต่ผมวัยรุ่น เริ่มเป็นนักตกปลาก็ได้ยินคุณสมบัติเหล่านี้ของปลายี่สกไทยแล้ว แต่จนบัดนี้ต้องสารภาพตามตรงว่า 1.ยังไม่เคยตกปลายี่สกไทยได้เลย แม้แต่ปลาในฟิชชิ่งปาร์ก 2.ยังไม่เคยได้ลิ้มชิมรสระดับสุดยอดของเนื้อปลายี่สกไทยที่ว่ากันว่าจะต้มยำทำแกงอะไรก็อร่อยไปซะทั้งนั้น

โดยส่วนตัวผมมองว่าปลายี่สกไทยเป็นปลาเกม ปลากินที่สวยงามที่สุดในเมืองไทย!

ภาพประกอบวันนี้เป็นปลายี่สกไทย ในมือนักตกปลามือเซียนที่มีฉายาว่า “แอ้ เซียนกระทิงไฟ”

อนึ่ง ผมกับ “แอ้ เซียนกระทิงไฟ” ก็หย่อนเบ็ดอยู่ใกล้ๆ กัน แต่เป็นเซียนแอ้ที่ตกได้ปลายี่สกไทยหลายตัว ส่วนผมไม่ได้แม้แต่ตัวเดียว ข้อสันนิษฐานของผม เส้นแบ่งระหว่างเรา ณ จุดนี้ คือคำสั้นๆ คำเดียว “ดวง” (เจ้าตัวต้องนึกโต้แย้งว่าเป็นเพราะ “ฝีมือ” แหงๆ)

คำว่า “ยี่สกไทย” เหมือนมีมนต์ขลัง ผมนึกย้อนภาพสมัยเรียน ม.ปลาย ไปเที่ยวริมแม่น้ำแควน้อยแถวทองผาภูมิ แม้รู้ดีว่าไม่มีปัญญาจะตกปลายี่สกไทย แต่ก็จะมีอารมณ์แบบว่าได้มาเยือนถิ่นยี่สกไทยอันเข้มขลัง

แม้แต่ในเวลานั้น เครื่องมือประหารยี่สกไทยอันทรงประสิทธิภาพ ผมก็ยังทันได้เห็นในแม่น้ำแควน้อย มันคือ ตะคัดตาใหญ่ผืนใหญ่ที่ขึงขวางลำน้ำ

ตะคัดน่าจะเป็นตาข่ายดักปลาแบบที่ฝรั่งเรียกว่า Gillnet พอหัวปลาทะลุตาของตะคัด เหงือกของมันก็จะเกี่ยวติดดิ้นไม่หลุด

ข้อมูลจากเมืองนอก ระบุว่าหนึ่งในตัวการที่ทำเอา Jullien’s Golden Carp หดหายไปจนใกล้สูญพันธุ์จากโลกเวลานี้ก็คือ Gillnet (จึงขอเดาอย่างมีหลักการว่า ตะคัด เป็นชื่อไทยของ Gillnet)

ยี่สกไทย vs ยี่สกเทศ

จริงๆ แล้วการล่าคงไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำลายเผ่าพันธุ์ปลายี่สกไทย แต่มันรวมถึงมลพิษทางน้ำจากโรงงาน จากชุมชนบ้านเรือน และการสร้างเขื่อนพลังน้ำต่างๆ กั้นแม่น้ำแคว

ปลายี่สกไทยเป็นนักอพยพตามฤดูกาล การมีเขื่อนขวางถิ่นอาศัยของมัน เราคงการันตีไม่ได้ว่านั่นไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อวิถีชีวิตดั้งเดิมของปลายี่สกไทย

จากเอกสารของกรมประมงระบุว่าแม่น้ำต่างๆ ใน จ.กาญจนบุรี และราชบุรี ที่เคยเป็นถิ่นอาศัยชื่อดังของปลายี่สกไทยได้กลายเป็นอดีตไปหมดแล้ว ปัจจุบันแม่น้ำโขงเป็นแหล่งที่ยังมีตัวมากที่สุด

สถานีประมงน้ำจืด จ.หนองคาย จึงกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผสมเทียมปลายี่สกไทย พร้อมศึกษาวิธีการเลี้ยงในบ่อดิน เพื่อให้ปลายี่สกไทยเป็นปลาเศรษฐกิจที่หาซื้อกินได้ง่ายกว่าเดิม ไม่หายากและแพงระยับขนาดนี้

ปลาที่มีชื่อล้อกับปลายี่สกไทย คือ ปลายี่สกเทศ (Rohu) เจ้านี่มีลำตัวเป็นบ้องตอร์ปิโดคล้ายๆ กัน ตัวใหญ่เป็นสิบๆ โลได้เหมือนกัน แต่สีสันหน้าตาเป็นรองปลายี่สกไทยหลายขุม

ปลายี่สกเทศก็นับเป็นปลาอร่อย เพียงแต่คนกินต้องฝ่าด่าน “ก้างตัววาย” ในเนื้อมันให้ได้ สมัยบ้าตกปลา ผมชอบกินปลายี่สกเทศทอด จิ้มน้ำปลาพริกมะนาวมากที่สุด ในบรรดาปลาตามฟิชชิ่งปาร์ก จะโดนก้างตำคอบ้างก็ช่างปะไร

ต้นกำเนิดของปลายี่สกไทยอยู่ที่อินเดีย กรมประมงจัดการผสมเทียมแล้วปล่อยลงแหล่งตามน้ำต่างๆ ทั่วประเทศไทย ให้เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้าน โดยที่มันเองก็ยึดติดกับวิถีของแม่น้ำอินเดีย ไม่ยอมวางไข่ในไทย

คนที่จะบอกได้ว่า ปลายี่สกไทยกับปลายี่สกไทย ตัวไหนสู้เบ็ดดีกว่ากัน ก็น่าจะเป็น “แอ้ เซียนกระทิงไฟ” ผมเองไม่ได้ถามจากปากเจ้าตัว แต่เดาว่าถ้าถามเมื่อไร เขาต้องตอบดังๆ ว่า

“ยี่สกไทยครับ แรงกว่ายี่สกเทศ อย่างเทียบกันไม่ได้ ถ้าใครได้เย่อเองจะรู้!”

Thailand Web Stat