posttoday

ปลากราย ทอดมันแห่งท้องน้ำ

09 กันยายน 2561

จะเรียกฉายา “ทอดมันแห่งท้องน้ำ” หรือ “ลูกชิ้นปลาแห่งท้องน้ำ”

โดย ปริญญา ผดุงถิ่น 

จะเรียกฉายา “ทอดมันแห่งท้องน้ำ” หรือ “ลูกชิ้นปลาแห่งท้องน้ำ” ก็ตามแต่ท่านละกัน ไม่ว่าฉายาไหนก็อร่อยทั้งนั้น นั่นคือความเป็นปลากรายที่โดดเด่นในสายตาชาวบ้านร้านตลาดทั่วไป

แล้วในแง่นักตกปลาล่ะ? ปลากรายไม่ใช่เกมฟิชที่สู้เบ็ดอึดหรือแรงอะไร แต่มันมีจุดเด่นตรงที่ชอบโดดขึ้นเหนือผิวน้ำในเวลาสู้เบ็ด ซึ่งอันนี้ทั้งสวยงามทั้งเร้าใจ เหนือกว่าเกมฟิชน้ำจืดของไทยตัวอื่นๆ

ในแง่สัตว์โลกปลากรายเป็นปลาที่สวยงาม มีเสน่ห์ เร้นลึก ธรรมชาติออกแบบรูปร่างหน้าตาปลากรายให้มีเอกลักษณ์แตกต่าง ออกแนวสง่า แต่มาดนิ่งเคร่งขรึม แถมโดดเด่นด้วยจุดสีดำเรียงราย กลายเป็นหนึ่งในปลาตู้ปลาสวยงามไปด้วย ไม่ใช่แค่ปลาเกมปลากิน

ปลากรายมีชื่ออังกฤษว่า Clown Featherback, Clown Knifefish, Spotted Knifefish คำว่า Clown ทำผมงง ทำไมฝรั่งเรียกมันในทางลบแบบนี้ (เปิดดิกชันนารี แปลว่า ตัวตลก หรือคนโง่) เป็นปลาที่พบได้แถวบ้านเรา รวมถึงลาว กัมพูชา และเวียดนามเท่านั้น

ในวิกิพีเดีย ฝรั่งเขียนไว้ว่า ปลากรายเป็นพวกออกหากินกลางคืน และเน้นล่าเหยื่อเป็นๆ แต่ตามประสบการณ์ที่เคย

ตกปลากรายมาตั้งแต่เป็นมือใหม่หัดเย่อปลากรายก็กินเหยื่อปลาตาย และก็ไม่เกี่ยงว่าจะเป็นเวลากลางวัน

เอาเข้าจริง ผมว่าคนตกปลากรายได้ตอนกลางวัน มากกว่าตอนกลางคืนด้วยซ้ำ

ในเรื่องเหยื่อปลาเป็นที่ว่ากันว่าปลากรายโปรดปราดนั้น เพื่อนนักตกปลา “ซาน เซียนบึงหลังบ้าน” ไหวพริบดี ในเมื่อมีแต่เหยื่อลูกปลาหมอตาย พวกกลัวปลากรายไม่กิน เลยเหวี่ยงปลาหมอออกไป แล้วกรอสายเข้ามาช้าๆ ให้ปลาหมอตัวแข็งๆ ว่ายน้ำโคลงเคลงเข้ามา ก็โดนปลากรายฉวยหลายหน

เซียนซานยังได้ทำสิ่งสุดพิเศษมอบให้ผมด้วย จัดการสตัฟฟ์หัวปลากรายตามตำราที่ซื้อมาอ่าน เป็นปลาที่ผมตกได้น้ำหนัก 3.7 กิโลกรัม (กก.) ให้ผมมาติดผนังบ้านเป็น“โทรฟี่” นานหลายปี เก๋กว่าเขากวางเขากระทิงเป็นไหนๆ อิอิ

อนึ่ง เพื่อนนักตกปลาอีกคน “ไก่ เซียนตกน้ำ” เห็นว่าเกมฟิชน้ำเค็มอย่างปลาสละ (Queenfish) เวลาติดเบ็ดมันชอบโดดขึ้นเหนือผิวน้ำ แถมข้างตัวก็มีลายจุดแบบปลากรายอีกต่างหาก เลยให้ฉายาปลาสละว่า “ปลากรายแห่งท้องทะเล” (และอีกฉายาที่ตรงไปตรงมามากๆ คือ “น้ำแดงแห่งท้องทะเล”)

ข้อมูลจากในเน็ตไทย ระบุถึงชื่อปลากรายตามภาคต่างๆ เช่น ภาคกลางเรียก “หางแพน” ภาคอีสานเรียก “ตอง” ภาคเหนือเรียก “ตองดาว” (ภาคเหนือชนะเลิศ ไพเราะฝุดๆ)

ปลาในวงศ์ปลากรายที่เรียกรวมๆ ว่า ปลาตองนั้นในไทยมีด้วยกัน 4 ชนิด น้องเล็กสุด คือ ปลาสลาด หรือปลาฉลาด (Bronze Featherback) ประสาปลาเล็กจึงมีจำนวนมากที่สุดในหมู่ปลาตองด้วยกัน

ผมเองตอนเด็กๆ ตกปลาสลาดในคูข้างถนนแจ้งวัฒนะ ณ จุดที่เป็นที่ตั้งของศูนย์ราชการในปัจจุบัน คือจะบอกว่าต่อให้เป็นปลาโหลแค่ไหน ถ้าคูคลองสูญสิ้นไปกับความเจริญ เผ่าพันธุ์ปลาสลาดแห่งถนนแจ้งวัฒนะ ก็ต้องหมดสิ้นไปอยู่ดี

ว่ากันว่าปลาสลาดเป็น “ทอดมันแห่งท้องน้ำ” ตัวจริงเสียยิ่งกว่าปลากราย โดยคนกินเข้าใจ (และปลื้ม) ว่ากินปลากราย เพราะคุณภาพของเนื้อปลาสลาดกับปลากราย อร่อยทัดเทียมกัน

ผมกูเกิลไปเจองานวิจัยหลายชิ้นเกี่ยวปลาสลาดในอินเดีย ก็เน้นวิจัยที่คุณค่าทางโภชนาการของมัน เช่น ผลวิจัยพบว่าปลาสลาดมีโปรตีนในเนื้อมากที่สุดในเดือน ก.ค. และลดลงต่ำสุดในเดือน ม.ค. (เฮ้อรู้ไปก็เท่านั้น)

ปลาตองที่มีขนาดใหญ่สุด คือ ปลาสะตือ (Giant Featherback) จุดเด่นของมัน คือความเป็นปลากรายตัวโต ที่ไม่ยักมีจุดดำบนแพนหาง(เหมือนเป็นปลากรายที่คลุมร่างด้วยหนังปลาสลาด) พบในภาคตะวันตกลงไปภาคใต้ทะลุไปถึงอินโดนีเซีย

ตัวที่สวยที่สุด หายากที่สุด จะเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากปลาตองลาย (Royal Featherback) แพนหางไม่เป็นจุด แต่เป็นลายเส้นสลับกับจุดประ ราวตวัดด้วยพู่กัน ปลาตองลายพบในแถบลุ่มน้ำโขงของไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม สถานภาพระดับโลกก็เริ่มมาแล้วด้วย คือ Near Threatened “ใกล้ถูกคุกคาม”

เรื่องราวของปลากรายและวงศาคณาญาติก็คงจบแต่เพียงแค่นี้