สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์เกศบัวตูม
พิมพ์ใช่ เนื้อใช่ ธรรมชาติครบ เป็นคำกล่าวที่เซียนพระกล่าวถึงพระสมเด็จวัดระฆัง ที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี
โดย อาจารย์ชวินทร์ [email protected]
พิมพ์ใช่ เนื้อใช่ ธรรมชาติครบ เป็นคำกล่าวที่เซียนพระกล่าวถึงพระสมเด็จวัดระฆัง ที่สร้างโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี วันนี้ชมสมเด็จวัดระฆังพิมพ์เกศบัวตูม ซึ่งเป็นพระสมเด็จวัดระฆังที่พบจำนวนน้อยที่สุดของทุกพิมพ์
- ลักษณะพิมพ์ทรง เป็นพระนั่งในระฆังคว่ำ พระพักตร์กลมป้อมเหนือเศียรพระจะมีจอมรองอยู่ก่อนพระเกศ พระเกศเป็นตุ่มมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมอันเป็นที่มาของชื่อพิมพ์ ในการพิจารณาพระสมเด็จวัดระฆังนั้น ครูบาอาจารย์ล้วนให้ข้อคิดว่าควรพิจารณาพิมพ์ให้ถูกต้องก่อน แล้วมาพิจารณาเนื้อพระและธรรมชาติของพระรุ่นนั้นๆ ถึงมาดูตำหนิในพิมพ์ตามลำดับหากแต่ตำหนิในพิมพ์บางจุดอาจจะไม่พบในองค์พระที่ผ่านการใช้มามากก็ได้
- องค์ที่นำมาให้ชมนี้เป็นสภาพที่ผ่านการบูชามา ผิวด้านหน้าและผิวด้านหลังองค์พระเปิดจนเห็นเนื้อมวลสารภายใน มีทั้งเม็ดพระธาตุ มวลสารสีแดง มวลสารสีดำ มวลสารสีขาว มวลสารสีเทา ซึ่งเหมาะเป็นแนวทางในการศึกษา ค่านิยมในสภาพแบบนี้ยังมีหลักล้านปลายในปัจจุบัน
- พุทธพิมพ์องค์นี้ เส้นซุ้มอวบหนาคล้ายหวายผ่าซีก องค์พระจะล่ำสันมีเส้นสังฆาฏิคู่ลากยาวลงมาจรดที่ฝ่ามือ แขนทั้งสองข้างล่ำสันคมชัด มีพระบาทขวายกซ้อนขึ้น พระบาทซ้ายช้อนลงล่าง ปรากฏเม็ดพระธาตุซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญสำหรับสมเด็จวัดระฆังทุกองค์อยู่กระจัดกระจายบริเวณฐานชั้น 3 และฐานชั้นที่ 2 และพื้นผิวพระ รวมถึงมวลสารต่างๆ ซึ่งจะเห็นความเก่าปรากฏชัดเจน
- ส่วนของฐานทุกฐานจะหนาและลึกเช่นกัน นอกจากนี้ฐานชั้นบนและฐานชั้นกลางกว้างเกือบเท่ากันและฐานชั้นกลางจะเห็นเป็นคมขวานและฐานหัวสิงห์ และจะปรากฏเส้นแซมเล็กใต้หน้าตักและใต้ฐานชั้นที่ 1 ก็ปรากฏรางๆ เนื่องจากพระผ่านการใช้และล้างผิวด้านหน้ามา
- พลิกไปด้านหลังเป็นลายกระดาน เห็นเอกลักษณ์สำคัญของสมเด็จวัดระฆัง คือ รอยหนอนด้น สันนิษฐานว่าเกิดจากมวลสาร เช่น ก้านดอกไม้ที่บดไม่ละเอียดเป็นเส้นแห้งและหงิกงอ เมื่อเวลาผ่านไปก็สลายหรือหลุดไป และปรากฏเป็นรอยบนองค์พระเหมือนหนอนด้นเป็นเส้นเล็กกระจัดกระจาย และรอยรูพรุนเข็มอันเกิดจากมวลสารละเอียดต่างๆ ที่ย่อยสลายไปตามกาลเวลา 100 กว่าปีตามผิวพระ
- เมื่อมองด้านข้างการตัดขอบแม่พิมพ์พระสมเด็จวัดระฆัง ทุกพิมพ์ ใช้ตอกตัดจากด้านหลังไปด้านหน้า ดังนั้นด้านหลังขององค์พระจึงปรากฏขอบทั้งสี่ด้านเป็นรอยปริกะเทาะหรือรอยปูไต่ไปในทางเดียวกัน ซึ่งก็คือการแยกของเนื้อมวลสารอันเนื่องจากรอยลากของตอกที่ลากกดจากบนลงมาส่วนล่างขององค์พระ ย่อมเกิดรอยปริแยกและเมื่อกาลเวลาผ่านไปเกิดการยุบตัวขึ้นรอยปริก็ขยายใหญ่ขึ้น ทำให้มองเหมือนเป็นรอยปูไต่ ซึ่งเป็นเอกลักษณ์สำคัญอย่างหนึ่งของสมเด็จวัดระฆังทุกองค์เช่นกัน รวมถึงการยุบตัวเป็นธรรมชาติรอบเม็ดพระธาตุนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ปลอมแปลงไม่ได้ นั่นคือเสน่ห์ของสมเด็จวัดระฆัง
- ทัศนะของท่านตรียัมปวาย ผู้สถาปนาพระชุดเบญจภาคี ได้กล่าวถึงเนื้อของพระสมเด็จวัดระฆังไว้ โดยแบ่งเป็น 2 ประเภท คือ เนื้อแกร่ง และเนื้อหนึกนุ่ม โดยกล่าวว่าความนุ่มของเนื้อพระเป็นคุณลักษณะของเนื้อที่รู้สึกได้จากการพิจารณาด้วยนัยน์ตาเป็นส่วนใหญ่ มองดูเห็นความนุ่มนวลของเนื้อ ไม่กระด้าง แต่มิได้หมายถึงเนื้อพระมีลักษณะนุ่มนิ่ม
- ส่วนความหนึกนั้นเป็นคุณสมบัติธรรมของความนุ่ม ความแกร่งน้ำหนักและเป็นคุณสมบัติสำคัญของพระแท้ ส่วนของปลอมนั้นปราศจากความหนึกเพราะเนื้อยังเก่าไม่พอ อาจเปรียบเทียบให้เห็นความหนึกได้คือ พิจารณาเนื้อหินเขียว หินอ่อน และหินปูน จะเห็นได้ว่า หินเขียวนั้นมีความแกร่งสูงมากกว่าหินอ่อนและหินปูน ส่วนหินปูนมีความนุ่มสูงกว่าหินเขียวและมีความแกร่งสูงกว่าหินอ่อนและมีน้ำหนักพอๆ กับหินเขียวแต่มากกว่าหินอ่อน และในลักษณะนี้เนื้อหินอ่อนมีความหนึกมากกว่าเนื้อหินอีก 2 ชนิด เพราะหินเขียวแกร่งเกินไปและหินปูนก็หนึกนุ่มเกินไป เป็นต้น
- ด้านการพิจารณาความแกร่งของพระสมเด็จวัดระฆังนั้น เป็นความแกร่งที่เกิดจากมวลสารของเนื้อปูนขาวซึ่งจับตัวกัน มีความแข็งแกร่ง แต่มิได้หมายถึงความกระด้าง ทั้งนี้เพราะในเนื้อที่มีความแกร่งนั้นย่อมมีลักษณะของความนุ่มนวลพร้อมกันไปด้วย ไม่มากก็น้อย
- สำหรับผู้ที่เริ่มศึกษาพระเครื่องและพระเบญจภาคี ผู้เขียนขอแนะนำหนังสือคู่มือดูพระอย่างถูกวิธี ซึ่งเขียนโดยอาจารย์ศุภชัย เรืองสรรงามสิริ ซึ่งศึกษาแล้วสามารถใช้เป็นแนวทางในการสะสมพระเครื่องได้เป็นอย่างดี อีกทั้งแสดงพิมพ์พระที่ถูกต้อง เนื้อหามวลสารที่ชัดเจนและตำหนิที่สำคัญในแม่พิมพ์ครับ