posttoday

โลกที่ไม่มีปืน

15 กันยายน 2561

ในโลกมายา วงการภาพยนตร์ “อาวุธปืน”

โดย ธเนศน์ นุ่นมัน 

ในโลกมายา วงการภาพยนตร์ “อาวุธปืน” มักถูกให้ภาพด้านบวกทั้งทางตรงและทางอ้อมอย่างน่าเหลือเชื่อ จนกล่าวได้ว่ากลายเป็นอุปกรณ์ผดุงรักษาความยุติธรรม ปกป้องชีวิต (ผู้อ่อนแอ) มาอย่างช้านาน

มีหนังมากมายที่นำเสนอเรื่องราวในทำนองเมื่อตัวเอกของเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ถูกทำร้ายทั้งร่างกายและจิตใจก่อนจะถูกความอยุติธรรมซ้ำเติมอีกคำรบหนึ่ง จะด้วยรายละเอียดอย่างไรก็ตามที นั่นย่อมเป็นโอกาสให้เกิดพล็อตหนังแอ็กชั่น เป็นช่วงเวลาที่เขาหรือเธอต้องหยิบปืน ฉวยอาวุธร้ายขึ้นทวงสิ่งที่ถูกพรากไป

และแล้วเนื้อเรื่องก็หนุนนำให้เราประจักษ์ในที่สุดว่า หากเราเป็นเหยื่อความรุนแรง และถูกรัฐเพิกเฉยที่จะปกป้อง เราก็ต้องปกป้องตัวเอง ยิ่งยิงได้เร็ว แรง แม่นยำแค่ไหน ความยุติธรรมก็ยิ่งเอนเข้าหาเราได้ตามแรงส่งนั้น

แต่ในโลกแห่งความจริงนั้น ปืน ดูจะกลายเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างความน่าสะพรึงกลัวมากกว่า ในชีวิตประจำวัน หากเราเห็นใครสักคน ยืนวางมาดกวัดแกว่งปืนต่อหน้าธารกำนัล แน่ใจได้เลยว่า ช่างแตกต่างจากที่เห็นพระเอกถือเท่ๆ อยู่ในหนังอย่างแน่นอน

เมื่อโลกโซเชียลเผยแพร่ คลิปความรุนแรง เช่นที่เป็นข่าวเมื่อไม่นานมานี้ กรณีภาพจากกล้องวงจรปิดที่กลุ่มชายฉกรรจ์ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน ต่อมามีชายอีกคนหนึ่งชักอาวุธปืนยิงเข้าไปที่ศีรษะฝ่ายตรงข้ามจนล้มลง หรือคลิปคนกวัดแกว่งปืนท้ากฎหมายบนท้องถนน กลางวันแสกๆ ก็หาดูกันได้ไม่ยาก มีคลิปในทำนองนี้อีกมากมาย มากพอที่จะทำให้เราตั้งคำถามว่า เหตุใด ความน่าหวาดหวั่นที่เห็นจากความรุนแรงในคลิปจึงเกิดถี่ขึ้น ปืนนั้นหาง่ายอย่างที่ร่ำลือกันจริงหรือ

ข้อมูลระบุว่า ประเทศต้นแบบแห่งการสร้างค่านิยม ถือปืนแล้วเท่ อย่างสหรัฐอเมริกา นั้นมีคนอเมริกันครอบครองปืนอย่างถูกกฎหมายราว 300 ล้านกระบอก หรือเฉลี่ยแล้วในจำนวนคนอเมริกัน 100 คน มีจำนวนถึง 89 คน ที่มีปืนอยู่ในการครอบครอง มี 31 รัฐที่สามารถพกปืนสั้นได้ โดยไม่ต้องมีใบอนุญาตและมีเพียง 15 รัฐที่กำหนดว่า จะพกปืนสั้นต้องมีใบอนุญาต

แต่หลังเหตุสลดกรณีนักเรียนใช้อาวุธปืนก่อเหตุสังหารหมู่ในโรงเรียนตกเป็นข่าวไปทั่วโลกตั้งแต่กรณีที่ อีริก แฮร์ริส และดีแลน คลีโบลด์ บุกสังหารหมู่ในโรงเรียนมัธยมโคลัมไบน์ รัฐโคโลราโด เมื่อปี 2542 มีผู้เสียชีวิต 13 คน ผ่านไปเพียง 8 ปี เหตุการณ์ทำนองเดียวกันเกิดอีกครั้งเมื่อ โช ซึงฮี นักศึกษาอเมริกันเชื้อสายเกาหลี ก่อเหตุใช้อาวุธปืนฆ่าเพื่อนนักศึกษาและอาจารย์ในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนียเทค ถึง 32 ราย ก่อนจะจบชีวิตตัวเอง ต่อมาในปี 2555 เกิดเหตุ อดัม แลนซา เด็กหนุ่มวัย 20 ก่อเหตุเข้าไปกราดยิงในโรงเรียนประถมศึกษาแซนดี้ฮุก มลรัฐคอนเนตทิคัต ทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 26 ราย

และโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์อเมริกา กรณีมือปืนใช้ปืนยิงผู้คนในงานคอนเสิร์ตกลางแจ้งในลาสเวกัส โดยใช้ปืนที่ได้รับการดัดแปลงกว่า 23 กระบอก ยิงจากบนชั้น 23 ของโรงแรม มีผู้เสียชีวิตถึง 59 ราย บาดเจ็บกว่า 500 ราย ตำรวจ ระบุว่า “สตีเฟน แพดดอค” วัย 64 ปี ผู้ก่อเหตุไม่เคยมีประวัติอาชญากรรม มีใบอนุญาตขับเครื่องบินและล่าสัตว์ เขามีฐานะดี สามารถซื้อปืนได้จำนวนมากและมีสิทธิในการครอบครองปืน ตามที่กฎหมายคุ้มครอง

แม้หลังจากเกิดโศกนาฏกรรมขึ้นหลายครั้ง มีการปรับปรุงขั้นตอนการตรวจสอบภูมิหลัง หรือจำกัดการเป็นเจ้าของปืนมากขึ้น แต่เราก็ยังคงได้ยินข่าวเรื่องกราดยิงในอเมริกาอยู่เนืองๆ

ทุกๆ วันเด็กในสหรัฐไม่ต่ำกว่า 19 คน ถูกยิงตายหรือได้รับบาดเจ็บ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากปืนปีละเกือบ 1,300 ราย และบาดเจ็บจากการถูกยิงเกือบ 6,000 คน

ดูเหมือนปืนในโลกแห่งความจริงไม่ได้ทำให้รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เฉียดใกล้ความเท่เลย

ขณะที่ในประเทศไทย มีการประเมินกันว่า จำนวนอาวุธปืนที่อยู่ในมือคนไทยนั้นมีประมาณ 10 ล้านกระบอก ประเทศไทยมีคนถืออาวุธปืนมากจนจัดอยู่ในอันดับที่ 11 ของโลก ในตัวเลขประเมินดังกล่าวระบุด้วยว่า มีปืนเพียงประมาณ 3.87 ล้านกระบอกเท่านั้นที่มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกกฎหมาย

บ่อยครั้งที่โลกออนไลน์ส่งเสียงบอกว่า การหาอาวุธปืนผิดกฎหมายมาครอบครองเป็นเรื่องแสนง่าย สนนราคาที่จ่ายไม่ต่างจากซื้อของเล่น

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปืนนั้นทำให้หลายคน โดยเฉพาะคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ที่มีอาชญากรรมชุกชุมมีไว้ในครอบครองแล้ว รู้สึกปลอดภัยขึ้น แต่ในทางกลับกัน เหตุร้ายที่เราๆ ท่านๆ เห็นในคลิปต่างก็ตอกย้ำว่า ที่ไหนมีปืน ที่นั่นย่อมมีเส้นแบ่งระหว่างความปลอดภัยกับอันตรายถึงแก่ชีวิตที่เบาบางเต็มที...ผู้หลักผู้ใหญ่จึงมักจะเตือนเราเสมอว่า “ไปไหนมาไหน สังเกตดูสิ่งรอบตัวไว้ก่อนเสมอ อย่าเอาแต่ก้มหน้าดูโทรศัพท์”