พร้อมเพย์ นำไทย สู่สังคมไร้เงินสด
ไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี
โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์
ประเทศไทยกำลังเคลื่อนเข้าสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) อย่างรวดเร็วภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี หลังจากที่มีระบบพร้อมเพย์เกิดขึ้นมาเมื่อวันที่ 27 ม.ค. 2560 ทำให้การโอนเงิน การชำระเงิน ขึ้นมาอยู่บนอิเล็กทรอนิกส์แทนการใช้เงินสด
ประเทศอื่นมีบริการที่คล้ายกับ พร้อมเพย์ของไทย เช่น เพย์เอ็ม (Paym) ของอังกฤษ เพย์นาว (PayNow) ของสิงคโปร์ และเพย์ไอดี (OSKO/PAY ID) ของออสเตรเลีย เป็นการโอนเงินผ่านหมายเลขโทรศัพท์มือถือ เลขบัตรประชาชน หรืออีเมล
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดมาตลอด เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคคนไทยชัดเจนว่าพร้อมเพย์เข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว
อณิยา ฉิมน้อย นักวิเคราะห์ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า พร้อมเพย์ของบุคคลธรรมดาเห็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 2 ช่วง ช่วงแรกตั้งแต่มี พร้อมเพย์มีปริมาณธุรกรรมวันละ 5.7 หมื่นรายการ/วัน สัดส่วน 0.6% ของการโอนเงินจากนั้นยอดการใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ย 35% ต่อเดือน จากประโยชน์ที่เร็ว ถูก และสะดวก
ช่วงที่ 2 คือ วันที่ธนาคารพาณิชย์ประกาศยกเลิกค่าธรรมเนียมดิจิทัลปลาย มี.ค.ที่ผ่านมา ส่งผลให้ไตรมาส 2 ปี 2561 การโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์เพิ่มขึ้นถึง 6 เท่าเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะการโอนข้ามธนาคารพุ่งถึง 239%
เฉพาะเดือน มิ.ย. 2561 บริการ พร้อมเพย์มีปริมาณธุรกรรมกว่า 83.3 ล้านรายการ หรือคิดเป็นประมาณ 2.7 ล้านรายการ/วัน มูลค่า 4.42 แสนล้านบาท ส่งผลให้ธุรกรรมโอนเงินพร้อมเพย์ที่เคยมีสัดส่วนเพียง 0.6% ขยับเพิ่มเป็น 31% ของปริมาณธุรกรรมการโอนเงินรายย่อยทั้งหมด และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
"พบว่าประชาชนหันมาใช้บริการพร้อมเพย์สำหรับการโอนเงินข้ามธนาคารมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงมูลค่าการโอนเงินที่ต่ำกว่า 5,000 บาท/รายการ มีสัดส่วนสูงถึง 82% ของธุรกรรมทั้งหมด แสดงว่ามีการใช้ชำระเงินหรือจับจ่ายใช้สอยในชีวิตประจำวันมากขึ้น" อณิยา กล่าว
สถิติที่น่าสนใจของพร้อมเพย์ ช่วงเวลาที่นิยมโอนเงินมากที่สุด คือ ช่วงเวลาพักเที่ยงและหลังเลิกงาน ที่คาดว่าจะเป็นการโอนค่าอาหารมื้อเที่ยงและมื้อเย็นให้กัน และวันทำงานจะมีการใช้งานมากกว่าวันหยุดและวันหยุดนักขัตฤกษ์ อีกทั้งในช่วงสิ้นเดือนจะมีธุรกรรมมากกว่าปกติหลายเท่ารับเงินเดือนออก
อรรถเวช อาภาศรีกุล นักวิเคราะห์อาวุโส ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า พร้อมเพย์นิติบุคคลมีการใช้เพิ่มขึ้นบ้าง โดยขณะนี้มีกว่า 1,000 บริษัทที่ใช้ อาทิ นิติบุคคลคอนโดมิเนียม ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา ที่ออกบิลรายเดือน ภาครัฐเริ่มมีการไฟฟ้า และองค์การอาหารและยา (อย.) ที่ใช้พร้อมเพย์รับชำระเงิน
การที่พร้อมเพย์นิติบุคคลโตช้า ส่วนหนึ่งเพราะทัศนคติภาคธุรกิจไม่คุ้นชิน กลัวการเปิดเผยข้อมูล ซึ่ง ธปท.และธนาคารพาณิชย์พยายามกระตุ้นให้เห็นข้อดีที่พร้อมเพย์จะช่วยยกระดับประสิทธิภาพชำระเงินและลดต้นทุนได้มาก อีกด้านหนึ่ง องค์กรแต่ละแห่งต้องปรับระบบหลังบ้านให้รองรับพร้อมเพย์นิติบุคคลคู่กับการชำระเงินแบบข้ามธนาคาร คาดว่า หากปรับระบบได้เร็ว ยอดการใช้งานจะเพิ่มมากกว่านี้
ส่วนธุรกิจที่เป็นบุคคลธรรมดาจะมีความสะดวกมากขึ้น ซึ่งการที่สมาคมธนาคารไทยและ ธปท. กำลังหารือเรื่องการขยายวงเงินโอนผ่านโมบายเป็น 7 แสนบาท จะทำให้ธุรกรรมวงเงินสูงขึ้นมาอยู่บนดิจิทัล และยังทำให้ทราฟฟิกในระบบลดน้อยลง จากเดิมธุรกิจมักจะแยกโอนเงินทีละ 5 หมื่นบาท ลดแรงกดดันเรื่องขีดความสามารถรองรับธุรกรรม (Capacity) ของสถาบันการเงินได้
อย่างไรก็ดี ธปท.กำชับธนาคารขยาย Capacity ให้พอรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทางธนาคารพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญเป็นพิเศษอยู่แล้ว จะเผื่อ Capacity ของระบบให้มากกว่าธุรกรรมที่พีกที่สุดไว้ 2-3 เท่า
ปัจจุบัน ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์สิ้นเดือน ส.ค. 2561 จำนวน 44.5 ล้านหมายเลข แบ่งเป็น เลขบัตรประชาชน 28.7 ล้านหมายเลข คิดเป็น 43% ของประชากร เพื่อความสะดวกรับคืนภาษีและสวัสดิการแห่งรัฐ โดยปี 2561 มีผู้ขอคืนภาษีผ่านพร้อมเพย์แล้ว 70% ลดต้นทุนเช็คได้มาก ส่วนลงทะเบียนด้วยเบอร์โทรศัพท์มือถือ 15.8 ล้านหมายเลขเพราะสะดวกในการโอนเงินในชีวิตประจำวัน
ตั้งแต่ 27 มี.ค. 2560-13 ก.ย. 2561 มีปริมาณธุรกรรมสะสม 631 ล้านรายการ มูลค่ากว่า 3.1 ล้านล้านบาท การใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายการลดลงเรื่อยๆ จาก 7,000 บาท เหลือ 4,000 บาท/รายการ