posttoday

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (81)

30 กันยายน 2561

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การมหรสพต่างๆ

โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
 
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง การมหรสพต่างๆ หยุดชะงักลงมีแต่ความเงียบเหงา จึงทรงรื้อฟื้นคณะละครปรีดาลัยของพระบิดา เรียกว่า ละครเฉลิมกรุง ทรงสร้างมิติใหม่ให้วงการละครไทยด้วยการใช้วงดนตรีสากล กับนำท่าระบำฝรั่งผสมกับท่าระบำไทยครั้งแรก ดูงามแปลกตากว่าคณะอื่น แต่ยังคงใช้ผู้แสดงนำและส่วนใหญ่เป็นหญิง ทั้งนี้ทรงซักซ้อมนักแสดงด้วยพระองค์เอง ส่วนการแสดงระบำก็ทรงประดิษฐ์ท่าระบำบางชุดให้สอดคล้องกับเพลงสากลตั้งแต่ ปี 2477-2489
 
เรื่องหนึ่งที่ได้รับความนิยมและยังกลับมาแสดงอีกหลายครั้งในเวลาต่อมา เช่น ศรอนงค์ จากบทละครของขุนวิจิตรมาตรา เป็นละครประทับใจผู้ชมที่มีทั้งเพลงร้องเพลงระบำเบิกโรงและระบำประกอบเรื่องที่มีทำนองแพรวพราวตระการตา บรรเลงด้วยวงดนตรีเครื่องฝรั่งวงใหญ่อย่างอุปรากรตั้งแต่ต้นจนจบ เปิดการแสดงเรื่องแรกเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ปี 2477 คือเรื่อง “พระอาลัสะนัม” ที่ศาลาเฉลิมกรุง ต่อมาในปี 2478 ได้แสดงที่โรงมหรสพนาครเขษม ต่อมาในปี 2486 ได้ร่วมกับบริษัท สหศินิมา จำกัด แสดงที่ศาลาเฉลิมกรุง และครั้งท้ายที่สุดที่ศาลาเฉลิมนคร ช่วงปี 2488-2489
 
นอกจากนั้น ยังทรงจัดละครการกุศลเช่นเก็บเงินให้กองทัพเรือ งานฉลองรัฐธรรมนูญ จนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม จึงทรงยุบเลิกคณะละครเนื่องจากพระชนมายุเริ่มเข้าสู่วัยชรา และทรงพักผ่อนอิริยาบถเสด็จประพาสยุโรป ละครปรีดาลัยจึงสิ้นสุดเพียงเท่านี้
 
วันที่ 29 สิงหาคม ปี 2504 นายแสง หรือเสงี่ยม หอมจันทร์ กับนายวิรัช หรือเจริญ กาญจนาภัย อดีตคนสวนที่ถูกพระนางเธอลักษมีลาวัณไล่ออกไปเห็นว่าพระนางเธอทรงเป็นเพียงเจ้านายสตรีทั้งยังชรา และอาศัยเพียงลำพัง กับทั้งเคยสังเกตว่าในตู้ชั้นล่างพระตำหนักลักษมีวิลาศมีเครื่องราชอิสริยาภรณ์ เข้าใจว่าเป็นของมีราคาทั้งสองจึงกลับเข้ามายังพระตำหนักลักษมีวิลาศ
 

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (81)

 
โดยคนร้ายได้ลอบทำร้ายพระนางเธอด้วยย่องเข้ามาทางข้างหลังขณะทรงปลูกต้นมะละกอเล็กๆ ที่ข้างพระตำหนัก แล้วใช้ชะแลงทำร้ายพระเศียร 3 ครั้ง จากนั้นใช้สันขวานทุบพระศออีก 1 ครั้ง จนสิ้นพระชนม์ทันที โดยเมื่อตรวจสอบพระวรกายบริเวณพระอุระ (หน้าอก) พบบาดแผลฉกรรจ์คล้ายถูกแทงอย่างโหดเหี้ยม 4 แผล ที่พระศอ (คอ) อีกแผลหนึ่ง ที่พระเศียร (ศีรษะ) ด้านหลังนั้นถูกตีจนน่วมมีพระโลหิตไหล ทั้งสองได้ลากพระศพไปไว้ในโรงจอดรถหลังพระตำหนัก ห่างจากจุดเกิดเหตุประมาณ 800 เมตร เพื่ออำพราง แล้วค้นทรัพย์สินเท่าที่หาได้หนีไป ได้ไปแต่เครื่องราชอิสริยาภรณ์ พระราชทรัพย์ส่วนหนึ่ง และเงินพระราชสมบัติทั้งหมดไม่เหลือแม้แต่บาทเดียว ขณะที่ตู้เซฟที่เก็บฉลองพระองค์และเครื่องประดับของราชวงศ์จักรีมูลค่านับล้านบาทยังอยู่ในสภาพปกติ
 
ต่อมาพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ พระเชษฐาต่างพระมารดา ได้รับโทรศัพท์จาก นางสาวแน่งน้อย แย้มศิริ นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในเวลา 15.30 น. ของวันที่ 2 กันยายน ปี 2504 ว่าเธอไปกดออดและโทรศัพท์เข้าไปยังวังลักษมีวิลาศ แต่ไม่มีใครตอบหรือรับสาย อาจจะมีเหตุร้าย พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ เสด็จไปยังวังลักษมีวิลาศ พบว่าเครื่องฉลองพระองค์และพระราชทรัพย์ในห้องพระบรรทมถูกรื้อกระจาย และทรงพบพระศพอยู่บริเวณข้างโรงรถสิ้นพระชนม์มาไม่ต่ำกว่าสามวัน
 
ภายหลังผู้ต้องหาทั้งสองถูกจับได้ และถูกพิพากษาให้ประหารชีวิต แต่ทั้งสองได้รับสารภาพ จึงได้รับการหย่อนโทษหนึ่งในสามคือให้จำคุกตลอดชีวิต เพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป
 
หลังจากที่ทรงหมั้นและสถาปนาหม่อมเจ้าลักษมีลาวัณ วรวรรณ ขึ้นเป็นพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าลักษมีลาวัณแล้วไม่นาน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวเปรื่อง สุจริตกุล พี่สาวของพระอินทราณี (ยศในขณะนั้น) และอดีตนางสนองพระโอษฐ์ในอดีตพระวรกัญญาปทาน ได้รับพระราชทินนามว่า พระสุจริตสุดา
 

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (81)

 
พระสุจริตสุดา มีชื่อเดิมว่า เปรื่อง สุจริตกุล เกิดเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน ปี 2438 ณ บ้านปากคลองด่าน ประตูน้ำภาษีเจริญ เป็นธิดาคนโตจากบุตรจำนวน 12 คนของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (ปลื้ม สุจริตกุล) กับท่านผู้หญิงกิมไล้ สุธรรมมนตรี (สกุลเดิม เตชะกำพุช) มีน้องสาวที่เป็นที่รู้จักคือ ประไพ ที่ต่อมาได้เป็น สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา และท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมนเฑียร
 
บุรพชนฝั่งบิดาเป็นราชินิกุลเชื้อสายจีน โดยปู่คือพระยาราชภักดี (โค สุจริตกุล) เป็นน้องชายร่วมบิดามารดาของสมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (นามเดิม : เปี่ยม สุจริตกุล) พระสนมเอกในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ส่วนบุรพชนฝ่ายมารดาคือขุนพัฒน์ (แต้หอย) ชาวจีนแต้จิ๋วที่อพยพเข้าสยามช่วงปี 2407 ต้นสกุล เตชะกำพุช
 
เปรื่อง สุจริตกุล เป็นพี่สาวคนโตของครอบครัวที่ต้องดูแลน้องๆ โดยเฉพาะประไพ น้องสาวคนเล็ก ซึ่งโปรดการขี่ม้าเล่นด้วยกันเสมอ ต่อมาเมื่อครั้งที่เธอจะโกนจุก ได้เข้าไปในพระบรมมหาราชวังเพื่อให้ท้าววนิดาพิจาริณี(เจ้าจอมเพิ่ม ในรัชกาลที่ 5) ผู้เป็นอาแต่งตัวให้ตามประเพณี แล้วสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถทอดพระเนตรเห็นเข้า ก็โปรดให้เข้าถวายตัวหลังการโกนจุก และมีโอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนราชินี จนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 แล้วลาออกจากโรงเรียน และทูลลาออกมาพำนักที่บ้าน
 
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นกับพระวรกัญญาปทาน พระองค์เจ้าวัลลภาเทวี ก็โปรดให้เปรื่องมาเป็นนางสนองพระโอษฐ์ของพระองค์เจ้าวัลลภาเทวี และได้ตามเสด็จพระราชดำเนินในพระราชกรณียกิจต่างๆ เมื่อปี 2463 ที่มีการจัดตั้งกองเสือป่าหญิงขึ้น ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ เปรื่อง สุจริตกุล รับพระราชทานยศนายกกองเสือป่าหญิงรุ่นแรกด้วย
 

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (81)

 
ขณะที่เปรื่องมีอายุราว 18 ปี ก็ได้รับอุปการะนิภา อภัยวงศ์ (ชื่อเดิม : ทองคำ พุ่มทองสุก) มาเป็นบุตรบุญธรรม โดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้เลี้ยง ผู้สอนหนังสือและการขับร้องด้วยตนเอง
 
เมื่อเปรื่องมีอายุได้ 26 ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงขอเปรื่องจากเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกอบพระราชพิธีอภิเษกสมรสเมื่อวันที่ 27 ตุลาคม ปี 2464 และถือเป็นสุภาพสตรีสามัญชนคนแรกที่ได้เข้าพิธีดังกล่าว โดยสวมชุดเป็นเจ้าสาวแบบอังกฤษคือสวมเสื้อกระโปรงสีขาว มีผ้าโปร่งสีขาวคลุมศีรษะ ประดับดอกส้ม และถือช่อดอกไม้ มีการพระราชทานน้ำสังข์เป็นทางการด้วยพระกรุณาของสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น พระสุจริตสุดา  ตำแหน่งพระสนมเอก พร้อมทั้งพระราชทานตราจุลจอมเกล้าให้สมกับศักดิ์พระสนมเอก เป็นสตรีคนแรกที่ได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ “คุณพระ” หากเมื่อใดตั้งครรภ์จะสถาปนาขึ้นเป็นเจ้า แต่อย่างไรก็ตามพระสุจริตสุดามิได้มีครรภ์สมดั่งพระราชประสงค์
 
พระสุจริตสุดาสนใจเรื่องดนตรีโดยเฉพาะการขับร้อง ซึ่งมีความชำนาญเป็นเลิศ เคยเป็นต้นเสียงร่วมกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เมื่อปี 2464 คราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดการแสดงโขนตอนนางลอย และพระองค์ทรงพากย์ด้วยพระองค์เอง ด้วยความที่ท่านชื่นชอบดนตรีไทยเป็นชีวิตจิตใจ ช่วงเวลาดังกล่าวพระสุจริตสุดาได้รับอุปการะเด็กอายุ 10-15 ปี เพื่อมาเป็นนักดนตรี อาทิ นิภา อภัยวงศ์, ทองดี สุจริตกุล และสุมิตรา สุจริตกุล (สกุลเดิม : สิงหลกะ) ไว้คอยเล่นดนตรีแสดงถวายพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว หลังเสร็จสิ้นการเสวยพระกระยาหาร ณ พระราชวังพญาไท เป็นประจำ
 
พระสุจริตสุดา รับราชการสนองพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวตลอดรัชกาล ได้โดยเสด็จพระราชดำเนินไป ณ ที่ต่างๆ พร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา เสมอ
 

ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (81)

 
หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสุจริตสุดาได้พำนักอยู่ภายในวังสวนสุนันทา แล้วจึงย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านพระสุจริตสุดา ถนนพระราม 5 หลังโรงเรียนวชิราวุธวิทยาลัยอันเป็นที่ดินซึ่งได้รับพระราชทาน ทั้งรับส่วนแบ่งพระราชมฤดกของพระสวามีอีกจำนวนหนึ่ง
 
อย่างไรก็ตาม พระสุจริตสุดายังคงสนใจเรื่องเกี่ยวกับดนตรี ได้จัดตั้งวงเครื่องสายผสมเปียโนหญิงวงแรกของคณะนารีศรีสุมิตร เป็นวงดนตรีเครี่องคู่ ประกอบด้วยจะเข้, ซออู้, ซอด้วง, ฉิ่ง, โทน, รำมะนา และเปียโน โดยมีสุมิตรา สุจริตกุล เป็นผู้เล่นเปียโนและควบคุมวงดนตรี พระสุจริตสุดาสนใจในการเล่นเปียโนเป็นพิเศษ วงดนตรีคณะนี้ได้นำเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาขับร้อง อาทิ เพลงตับในเรื่องวิวาหพระสมุท คือเพลงโยนดาบ, จีนหน้าเรือ, ปี่แก้ว, ตะนาวแปลง เป็นต้น และยังได้แต่งคำร้องเพลง สุดาสวรรค์ โดยมีสุมิตรา สุจริตกุล เป็นผู้แต่งทำนอง
 
ด้านการกุศลได้บริจาคทรัพย์บำรุงโรงพยาบาลต่างๆ อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และบริจาคทุนทรัพย์เพื่อสร้าง ตึกสุจริตสุดา ในโรงพยาบาลศิริราช เป็นต้น
 
ในปัจฉิมวัย พระสุจริตสุดาได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานทั้งค่าใช้จ่ายประจำและที่พำนักในบริเวณที่ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซอยต้นสน ถนนเพลินจิต กรุงเทพมหานคร
 
จนถึงเดือนมิถุนายน ปี 2524 พระสุจริตสุดาได้ป่วยลง และเข้าพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลศิริราชจนถึงอนิจกรรมเมื่อวันอังคารที่ 9 มีนาคม ปี 2524 เวลา 22.45 น. รวมอายุได้ 85 ปี 3 เดือน 26 วัน และได้รับพระราชทานเพลิงศพ ณ เมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ปี 2526