ราชสกุลในพระบรมราชจักรีวงศ์ (82)
ภายหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีนาถ
โดย วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย
ภายหลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงแท้งพระครรภ์หลายครั้ง พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงล้มเหลวต่อการมีพระราชโอรสสืบราชบัลลังก์ ต่อมาในปี 2467 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนานางสาวสุวัทนา อภัยวงศ์ ขึ้นเป็นเจ้าจอมสุวัทนา และเป็นพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ในเวลาต่อมา
พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 15 เมษายน ปี 2448 เวลา 8 นาฬิกา 7 นาที มีพระนามเดิมว่า ติ๋ว หรือ เครือแก้ว อภัยวงศ์ เป็นธิดาของพระยาอภัยภูเบศร (เลื่อม อภัยวงศ์) กับ คุณเล็ก บุนนาค ต่อมาพระชนกต้องไปสมรสใหม่ตามความเห็นของเจ้าพระยาอภัยภูเบศร (ชุ่ม) ผู้เป็นบิดา คุณเล็ก บุนนาค พระชนนีจึงย้ายกลับมาอยู่บ้านกับมารดา และมีพระประสูติการที่บ้านคลองบางหลวง ภายหลังพระชนนีได้ถึงแก่อนิจกรรม เครือแก้วจึงอยู่ภายใต้ความดูแลของท้าวศรีสุนทรนาฏ (แก้ว พนมวัน ณ อยุธยา) ผู้เป็นยายและเป็นผู้อำนวยการละครหลวงฝ่ายในในกรมมหรสพ โดยที่พระชนกไม่ได้มาเหลียวแลเลย อนึ่ง พี่สาวของท้าวศรีสุนทรนาฏ คือ เจ้าจอมมารดาเอี่ยมบุษบา ซึ่งเป็นทวดของพระบาทสมเด็จพระนโรดมสีหนุ อดีตกษัตริย์แห่งกัมพูชา ดังนั้น คุณเครือแก้วจึงมีศักดิ์เป็นพระญาติของพระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ด้วย
คุณเครือแก้วมีเชื้อสายเปอร์เซียและมอญจากตา คือ เจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ (วร บุนนาค) ดังนั้นเธอจึงเป็นคนในสกุลบุนนาคสายเจ้าคุณพระราชพันธุ์นวลชั้นที่ 6 ทั้งยังมีเชื้อสายเขมรจากสกุลอภัยวงศ์ทั้งฝ่ายบิดาและมารดา แม้ทางฝ่ายบิดาจะมีคนจากสกุลบุนนาคซึ่งมีเชื้อสายเปอร์เซียอยู่ด้วย คือท่านผู้หญิงทิม โดยผ่านทางนักนางละออผู้เป็นย่า และมีเชื้อสายเขมรจากนักมุมผู้เป็นมารดาของนักนางละออ
คุณเครือแก้วได้รับการฝึกฝนดุริยางคศิลป์ไทยในพระราชสำนักจนได้รับเลือกเป็นต้นเสียง ทั้งยังได้แสดงละครที่เป็นบทพระราชนิพนธ์หลายโอกาสด้วยกันในคราวที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานประทับแรม ณ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี เป็นครั้งแรกในเดือนเมษายน ปี 2467 และเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน ปี 2467 ในคราวนั้นมีเหตุการณ์อันเป็นนิมิตว่าคุณพนักงานผู้นี้จะได้รับสถาปนาเป็นพระวรราชเทวี เจ้านายในพระมหาจักรีบรมราชวงศ์ ดังที่คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ เล่าไว้ว่า
...วันหนึ่งขณะที่คณะละครหลวงกำลังอาบน้ำอยู่บริเวณบ่อน้ำ เสด็จพระนางฯ ซึ่งขณะนั้นเราเรียกกันเล่นๆ ว่าพี่ติ๋ว เดินเล่นมาคุยกับคุณข้าหลวงอีกคนที่เรียกว่า เจ๊นวล พอดีขณะนั้นมียายซิ้มแก่ๆ คนหนึ่ง ซึ่งเป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้ หอบปี๊บสนิมเขรอะ พอยายซิ้มที่มาเหลือบเห็นพี่ติ๋ว ก็ตกใจโยนปี๊บโครม แล้วไหว้ยกมือไหว้จนก้นกระดกก็พูดว่า “พระราชินี...พระราชินี” เจ๊นวลได้ฟังก็ชอบใจและพูดกับพี่ติ๋วว่า “นี่แม่ติ๋วลางมันมา ยังไงก็อย่าลืมเจ๊นะ”แล้วพวกเราก็ขำกันใหญ่
คุณเครือแก้วก็ได้มีโอกาสร่วมแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่อง พระร่วง ได้รับบทเป็นสาวใช้ของนางจันทร์ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษาในสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา ซึ่งในขณะนั้นเป็นพระบรมราชินี ในขณะที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงแสดงเป็นนายมั่นปืนยาว ซึ่งต้องมีบทพูดจาโต้ตอบกับบรรดาสาวใช้ของนางจันทร์ ซึ่งคุณเครือแก้วก็ได้ฝึกซ้อมเต็มที่เล่นเสมือนจริง ทำให้เคืองพระทัยสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี พระวรราชชายา จึงโปรดให้ข้าหลวงส่งเสียงโห่ฮาขึ้น และใช้เท้าตบพื้นพระที่นั่ง เป็นเหตุให้พระเจ้าอยู่หัวทรงพระพิโรธถึงกับเสด็จขึ้นทันที ภายหลังจากการซ้อมและการแสดงละครพระราชนิพนธ์เรื่องพระร่วง ณ สโมสรเสวกามาตย์ พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีจิตประดิพัทธ์ต้องในอัธยาศัยของเครือแก้ว เนื่องด้วยความสุขุม ไม่ได้ตอบสนองต่อเหตุการณ์กระทบกระเทือนที่เกิดขึ้นจากผู้ทอดพระเนตรและผู้ชมละคร จึงได้ทรงพระเมตตาเป็นพิเศษ ครั้นต่อมาได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามใหม่แก่เครือแก้วว่า สุวัทนา พร้อมทั้งพระราชทานเข็ม “ราม ร” ประดับเพชรแก่คุณสุวัทนา ซึ่งคุณสุวัทนาได้ใช้ประดับไว้ที่ปอยผมในวันแสดงละครเรื่องพระร่วง ทำให้เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ชมละครคราวนั้นว่าสตรีผู้นี้ต้องพระราชประดิพัทธ์ในองค์พระเจ้าอยู่หัวเสียแล้ว
ต่อมา ในวันที่ 10 สิงหาคม ปี 2467 ได้ทรงสถาปนาคุณสุวัทนาขึ้นเป็น เจ้าจอมสุวัทนา พระสนมเอก พร้อมทั้งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง ถือเป็นสตรีท่านสุดท้ายที่ได้รับการสถาปนาเป็นเจ้าจอมในราชวงศ์จักรี
เมื่อพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ทรงอภิเษกสมรสและได้รับสถาปนาเป็นเจ้าจอม พระสนมเอกนั้น ย่อมมีความริษยาตามมา ตามที่คุณหญิงนิธิวดี อ้นตระการ เล่าไว้ว่า
...เจ้าจอมมาพูดกับแม่ดิฉันว่า “แม่เหนย มาอยู่กับฉันเถอะ มาช่วยทำกับข้าวให้หน่อย ฉันกลัวยาเบื่อ” แม่ของดิฉันเลยปิดร้านอาหารที่ทำอยู่ และเข้าวังมาอยู่กับท่าน
ถ้าร่วมโต๊ะเสวยกับล้นเกล้าฯ ก็ไม่มีปัญหา ไม่มีอันตรายอะไรหรอก เพราะของล้นเกล้าฯ มีคนเทียบเครื่อง แต่ถ้าอยู่เองตามลำพังแล้ว เรื่องอาหารการกินของเจ้าจอมนี่ต้องระวังมาก ไว้ใจใครไม่ได้เลย
ในระหว่างวันที่ 21 กันยายน ถึง 13 ตุลาคม ปี 2467 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสสิงคโปร์และแหลมมลายูเพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี การนี้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนา โดยเสด็จพระราชดำเนินด้วย ก่อนการเสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเข็มประจำกรมทหารเบา เดอรัม (Durham Light Infantry) ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวยุโรปที่นายทหารจะมอบเครื่องหมายสังกัดของตนแก่คนรัก เหมือนหนึ่งฝากชีวิตและเกียรติภูมิไว้ให้ โดยเจ้าจอมได้ใช้ประดับตลอดการเดินทาง และได้มีโอกาสร่วมงานอุทยานสโมสร เช่น ที่จวนผู้สำเร็จราชการสเตรส์เซ็ตเทิลเมนส์ และจวนเลขาธิการใหญ่สหภาพมลายา อีกทั้งได้ร่วมโต๊ะเสวยในการถวายเลี้ยงพระกระยาหารในวาระต่างๆ ร่วมกับสุลต่านแห่งรัฐยะโฮร์ และสุลต่านแห่งรัฐเประ เป็นต้น นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนาตามเสด็จไปในการทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจอยู่เนืองๆ เช่น โดยเสด็จฯ พระราชสวามีไปดูแลกิจการของเสือป่า เป็นอาทิ จนเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยของพระสวามี แม้ในขณะที่พระสวามีเสด็จพระราชดำเนินบนลาดพระบาทเพื่อตรวจแถวทำความเคารพก็โปรดให้เจ้าจอมเดินคู่บนลาดพระบาท ในการเสด็จกลับพระราชทานของที่ระลึกแก่ผู้มีส่วนร่วม รวมถึงเจ้าจอมสุวัทนา ซึ่งได้รับพระราชทานเหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 6 ชั้นที่ 1, ชุดเครื่องสำอาง พร้อมประกาศนียบัตร, เข็ม ราม ร ประดับเพชร ลงยาสีขาบ ด้านหลังบรรจุเส้นพระเจ้าของพระเจ้าอยู่หัวไว้
ต่อมาเจ้าจอมสุวัทนาก็ตั้งครรภ์ สร้างความปิติปราโมทย์แก่พระสวามีเป็นอันมาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเฝ้ารอพระประสูติการด้วยพระราชหฤทัยอันจดจ่อ โปรดฯ ให้เจ้าจอมสุวัทนามาเข้าเฝ้าเพื่อที่พระองค์จะได้มีพระกระแสรับสั่งกับพระราชกุมารที่อยู่ในครรภ์ ซึ่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้มีพระดำรัสเกี่ยวกับเรื่องนี้ความว่า “...เมื่อฉันตั้งครรภ์เจ้าฟ้า ล้นเกล้าฯ ก็ทรงโสมนัส ทรงคาดคิดว่าจะได้เป็นชาย ได้ราชสมบัติสืบต่อจากพระองค์ เมื่อยังมีพระอนามัยดีอยู่ ก็มีรับสั่งอย่างสนิทเสน่หาทรงกะแผนการชื่นชมต่อพระเจ้าลูกยาเธอที่จะเกิดใหม่...” พร้อมกันนั้นก็ทรงพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบเพลงปลาทองไว้ล่วงหน้า
แต่ต่อมานับตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน ปี 2468 ภายหลังจากพระราชพิธีฉัตรมงคล เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรด้วยพระโลหิตเป็นพิษในอุทร การนี้เจ้าจอมสุวัทนาที่มีพระครรภ์แก่ก็ได้พยาบาลพระราชสวามีมาโดยตลอดและมิเห็นแก่ความยากลำบาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบันทึกเรื่องราวดังกล่าวไว้ในพระราชพินัยกรรม ความว่า “...ตั้งแต่เราล้มเจ็บลงสุวัทนาได้พยาบาลอย่างดีที่สุดโดยไม่เห็นแก่เหนื่อยยากลำบากกายตามวิสัยของหญิงที่มีครรภ์แก่ อุตส่าห์มานั่งพยาบาลป้อนฃ้าวหยอดน้ำ และทำกิจอื่นๆ เป็นอเนกประการ วันละหลายชั่วโมง, นับว่าเป็นเมียที่ดีจริงๆ”
ในพระราชพิธีฉัตรมงคลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จออกการพระราชพิธีทุกวันแม้พระพลานามัยมิใคร่จะสมบูรณ์นัก ในวันที่ 11 ตุลาคม ปี 2468 เมื่อเป็นที่แน่นอนแล้วว่าเจ้าจอมสุวัทนาจะมีสูติกาลพระหน่อในไม่ช้า ประกอบกับการทำหน้าที่ของพระภรรยาที่ดี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาเจ้าจอมสุวัทนาขึ้นเป็น พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ด้วยเหตุผลดังปรากฏในพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา ดังนี้
เจ้าจอมสุวัทนาได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณโดยความซื่อสัตย์กตเวที มีความจงรักภักดีในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท เปนที่ไว้วางพระราชหฤทัย สมควรที่จะทรงยกย่องให้เปนใหญ่ เพื่อผดุงพระราชอิศริยยศแห่งพระกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า
และทรงโปรดเกล้าฯ ให้แปลพระนามเป็นภาษาอังกฤษว่า Her Majesty Queen Suvadana ในพระราชโทรเลขแจ้งข่าวพระประสูติการ จนในวันสุดท้ายของการพระราชพิธีฉัตรมงคลอันเป็นการพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหารค่ำที่พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระประชวรอาการหนักมิอาจเสด็จออกได้ บรรดาเจ้านายก็ต่างมาเฝ้าแหนกันเรื่อยมา อาทิ สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า เจ้านายชั้นสูง รวมถึงพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีที่ทรงพระครรภ์แก่ใกล้มีพระประสูติการ
จนในวันจันทร์ที่ 23 พฤศจิกายน เวลาค่ำพระวรราชเทวีประชวรพระครรภ์หนักจนเช้าก็ยังไม่ประสูติ คณะแพทย์ที่ถวายการรักษาพระเจ้าอยู่หัวจึงลงความเห็นว่าจะใช้เครื่องมือช่วยให้มีพระประสูติการวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน เวลา 12.52 นาฬิกา คณะแพทย์ก็ใช้เครื่องมือช่วยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ให้ประสูติเจ้าฟ้าพระองค์น้อยอย่างปลอดภัย เจ้าฟ้าหญิง เช่นนั้นชาวพนักงานประโคมดุริยสังคีต ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแล้ว เดิมทรงเข้าใจว่าปืนใหญ่ที่ยิงบอกเวลาที่เรียกว่าปืนเที่ยงเป็นปืนยิงสลุตถวายพระราชโอรสจึงทรงปิติอย่างยิ่ง แล้วมีผู้กราบบังคมทูลว่าไม่ใช่ปืนใหญ่ถวายความเคารพแต่เป็นปืนเที่ยง จึงทรงนิ่งไป ต่อมาทรงสดับเสียงดุริยสังคีต จึงทรงแน่พระทัยว่าเจ้าฟ้าเป็นพระราชธิดาจึงตรัสว่า “ก็ดีเหมือนกัน” แต่ก็มีพระอาการเพียบหนักขึ้น เจ้าพระยาอัศวินฯ จึงปรึกษากับเจ้าพระยารามราฆพว่าจะให้ทรงมีโอกาสได้ทอดพระเนตรพระราชธิดาอย่างใกล้ชิดในเวลาบ่าย เจ้าคุณอัศวินฯ จึงเข้าไปกราบบังคมทูลว่า “Your Majesty, you want to see your baby” ทรงตอบว่า “Yes, sure” ในบ่ายวันรุ่งขึ้น แต่ก็มิสามารถมีพระราชดำรัสได้แล้ว จากนั้น ก็ทรงรู้สึกพระองค์น้อยลง กระทั่งสวรรคต เมื่อเวลา 1.45 นาฬิกา ของวันที่ 26 พฤศจิกายน ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง
ส่วนพระนามของพระราชธิดาที่ประสูตินั้น ได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ในการพระราชพิธีสมโภชเดือนและขึ้นพระอู่ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม ปี 2468 และมีคำนำพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ (ภาติกา หมายถึง หลานสาวที่เป็นลูกสาวของพี่ชาย) ในสมัยรัชกาลที่ 7 จึงออกพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี