ระฆังร้องทุกข์
เสียงระฆังของวัดมันเป็นเหมือนเสียงสวรรค์ ก้องกังวานไพเราะเสนาะหู ช่วงสั้นๆ
โดย ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม
เสียงระฆังของวัดมันเป็นเหมือนเสียงสวรรค์ ก้องกังวานไพเราะเสนาะหู ช่วงสั้นๆ ที่ดังขึ้นจนค่อยๆ สงบ มันชวนให้นึกถึงสติและครุ่นคิดถึงสิ่งดีๆ งามๆ
ปัญหาเสียงระฆังวัดไทร ปะทะคอนโดที่สร้างขึ้นมาใหม่ข้างๆ อาจจะจบลงอย่างรวดเร็ว แต่มันก็เป็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่โผล่เหนือน้ำ ใต้น้ำลึกเต็มไปด้วยปัญหามากมายหลายมิติในกระแสธารแห่งการพัฒนา
แรกคือปัญหาการร้องเรียนยังหน่วยงาน กทม. ถ้าเขตทำงานว่องไวอย่างนี้ แค่โทรแจ้ง เขตก็ส่งเรื่อง สั่งการให้วัดรีบแก้ปัญหาลดเสียงการตีระฆังลง
ในแง่ความเร็วถือว่าเขตทำถูกใจวัยรุ่นที่ตอบสนองปัญหาอย่างว่องไว แต่ดันไปทำกลับข้าง นอกจากไม่มีการตรวจสอบเรื่องก่อน กลับไปเอาใจชาวคอนโดหรูที่ปล่อยให้ต่างชาติเช่าแทนที่จะคำนึงถึงประเพณีวัฒนธรรมไทยที่มีมานานเก่าก่อน โดยเฉพาะวัดไทรตั้งมานานถึง 300 ปี เทียบไม่ได้กับคอนโดที่เพิ่งสร้างไม่ถึง 10 ปี น่าสงสัยว่าคนร้องเรียนเส้นใหญ่หรือไม่จนเขตต้องรีบรับลูก
ชวนนึกถึงกรณีการสร้างตลาดล้อมกรอบบ้านป้าเขตประเวศที่เป็นข่าวครึกโครมหลายเดือนก่อน แต่อันนี้ค่อนข้างชัด เขตประเวศไม่สนใจไยดีต่อความเดือดร้อนของผู้อยู่อาศัยเจ้าของพื้นที่ที่อยู่มาก่อน กลับไปเอาใจและเข้าข่ายมีผลประโยชน์กับเจ้าของตลาด ยอมเซ็นอนุมัติให้แหกกฎหมายอย่างชอบธรรม เพื่อให้ตลาดตั้งในหมู่บ้านได้ “ป้า” จึงหมดหนทาง ร้องเรียนก็ช้า เลยหักดิบผิดกฎหมายใช้ “ขวาน” เร่งกระบวนการยุติธรรมประจานการแก้ปัญหาที่เชื่องช้าอย่างมีพิรุธของ กทม. ทุกอย่างจึงกลับมาเซตซีโร่ ยึดและเคารพกฎหมายบ้านเมือง
สอง แก่นของปัญหาเสียงระฆังวัดปะทะคอนโดหรู มาจากการพัฒนาที่เติบโตอย่างไร้ขีดจำกัดในเมือง
หลายปีมานี้เกิดปัญหาฟ้องร้องมากมาย คนเมืองตามเขตต่างๆ ร้องเรียนผู้อำนวยการเขตที่อนุมัติให้มีการสร้างดอนโด โครงการขนาดใหญ่ รุกล้ำ ละเมิดกฎหมาย กระทบกับวิถีชุมชนที่อยู่มาก่อน
กฎหมายมีแต่ไม่เคารพ ไม่ก็ตกผลประโยชน์ให้เจ้าหน้าที่เพื่อหลบเลี่ยงกฎกติกา ทำผิดให้เป็นถูก ประชาชนที่ไม่รู้กฎหมายก็พลอยเดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิ กลายเป็นฝ่ายผิด พ่ายแพ้ต่อนายทุนที่แอบอ้างมากับคลื่นการพัฒนาสร้างความเจริญ ความไม่ยุติธรรมระบาดให้เห็นทั่ว
ปัญหา “ผังเมือง” ที่ไม่เป็นระบบ ไม่โซนนิ่ง เจ้าหน้าที่ ผู้อำนวยการเขตสมรู้ร่วมคิดคนมีเงิน มีอำนาจ แหกกฎกติกา ผุดอภิมหาตึกสูงคร่อมบ้านเรือนคนเล็กคนน้อย กระทบลูกโซ่เป็นปัญหาสาธารณะกับคนละแวกนั้น อาคารหรู ถนน สาธารณูปโภคเกิดขึ้นตามมา ขวางทางน้ำ เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก แผ่นดินยุบ เกิดปัญหาขยะ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ความไม่ปลอดภัยสารพัด
ความเจริญที่ถาโถมมาอย่างรวดเร็ว โรงแรม อาคารพาณิชย์ โครงการอุตสาหกรรมได้ข่มขืนชีวิตผู้อยู่อาศัยเดิม แล้ววัดซึ่งเป็นแหล่งวัฒนธรรมในชุมชนดั้งเดิมจะไปเหลืออะไร มันค่อยๆ ถูกกลืนกินทีละนิด แม้แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของ กทม.หรือของรัฐที่ต้องยึดกฎเกณฑ์ วัฒนธรรมของบ้านเมือง ยัง “ใช้อำนาจ” สั่งการให้ลดความศักดิ์สิทธิ์ของเสียงระฆังสัญลักษณ์ของประเพณีในศาสนาลง
ปรากฏการณ์เหล่านี้เราเห็นอีกหลายที่ ที่คอนโด โรงแรมเข้ามาล้อมกรอบวัด กว่าจะสร้างเสร็จ ก็เกิดปัญหาระหว่างก่อสร้าง อันตราย เสียงดัง มลพิษ ฝุ่น กลิ่น ที่ผู้อยู่อาศัยเดิมต้องอดทน เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ยังต้องเผชิญปัญหาความแออัดอีก บีบชาวบ้านจนต้องจำใจย้ายหนีด้วยน้ำตา
ความจริงกฎหมายก็มีอยู่ หากคอนโด อาคารขนาดใหญ่จะมาสร้าง ต้องมีการทำ EIA หรือรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการนั้นเพื่อขออนุญาตเจ้าหน้าที่รัฐในการก่อสร้าง หากเจ้าของโครงการไม่ทำตามข้อกำหนดที่กำหนดไว้ หรือสร้างแล้วกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน ทำลายทรัพยากรธรรมชาติอันมีค่า หน่วยงานผู้มีสิทธิอนุญาตก็มีสิทธิลงโทษได้
กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยให้การอยู่รวมกันของคนหมู่มากเกิดความเรียบร้อย สงบสุข ไม่ละเมิดแก่กัน แต่ถามว่าเป็นอย่างนั้นหรือไม่ หลายโครงการที่ก่อสร้างมีปัญหาถูกฟ้องร้องมากมาย เช่น สร้างสูงเกินที่กำหนด จัดทำ EIA หลอกๆ ไม่รับฟังความเห็นของคนจริงเสียงจริงในพื้นที่ ที่สำคัญโครงการเหล่านั้นไม่ได้งอกออกมาลอยๆ แต่มาจากการอนุมัติเห็นชอบของเขตและ กทม.ทั้งนั้น
เสียงระฆังของวัดคือการปลุกพระให้ลุกขึ้นมาสวดมนต์ และให้สัญญาณชาวบ้านรอบๆ วัดตื่นมาทำกับข้าวเตรียมทำบุญ วัดตั้งอยู่เฉยๆ แต่การพัฒนาของเมืองรุกคืบรบกวนวัดเอง กระทั่งเสียงระฆังกลายเป็นมลพิษแสลงหูของคนเมืองบางกลุ่ม
ความจริงยิ่งมันดังก้องกังวานกระทบคอนโดเท่าไร ก็เหมือนเป็นเสียงร้องทุกข์ฟ้องประจานให้ประชาชนรู้ถึงความพิกลพิการของหน่วยราชการ และปัญหาในการพัฒนาของเมืองที่เติบโตจนเสียสมดุล