posttoday

กสิกรเปลี่ยนโฉม "เคพลัส" ครั้งใหญ่

10 ตุลาคม 2561

ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว K PLUS ใหม่ เปลี่ยนทั้งโลโก้และหน้าตาหวัง “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” ด้วยความฉลาดของ AI

ธนาคารกสิกรไทย เปิดตัว K PLUS ใหม่ เปลี่ยนทั้งโลโก้และหน้าตาหวัง “เปลี่ยนเพื่อรู้ใจขึ้น” ด้วยความฉลาดของ AI

นายสมคิด จิรานันตรัตน์ ประธาน กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป (KBTG) เปิดเผยว่า แนวคิดการพัฒนา เคพลัส ขยายจากการเป็นแอปมาสู่แพลทฟอร์มอัจฉริยะ โดยยึด 3 แนวทาง คือ ไม่ใช่แค่บริการธุรกรรมธนาคารแต่สามารถให้บริการได้หลากหลายไลฟ์สไตล์ไม่จำกัด การใช้งานง่ายและปลอดภัยในแนวคิด What you have What you know สุดท้าย การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาเป็นพื้นฐานของบริการ เคพลัส เพื่อนำเสนอประสบการณ์ที่ตรงใจกับลูกค้าเป็นรายบุคคล

สำหรับ ฟังก์ชันใหม่ ที่เพิ่มขึ้นมา อาทิ การกดเงินไม่ใช้บัตร ที่ใช้คิวอาร์โค้ด สแกนหน้าจอเอทีเอ็มเพื่อเบิกถอนเงิน พร้อมปรับปรุงให้สามารถใช้โมบายแอพ ด้วยสัญญาณ WIFI ได้ จากเดิมไม่อนุญาตเพื่อความปลอดภัยจะใช้ได้เพียงสัญญาณ 3จี และ 4จี โดยผู้ใช้งานต้องเป็นผู้เลือกเปิดปิดสัญญาณ WIFI เอง

ทั้งนี้ ระบบ “เกด” (KADE: K PLUS AI-Driven Experience) เป็นหัวใจสำคัญในพัฒนาศักยภาพของ K PLUS โดยมี AI (Artificial Intelligence) เป็นระบบหลังบ้าน ด้วยการเรียนรู้พฤติกรรมของลูกค้าแต่ละคน รู้จัก รู้ใจคนใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งได้เริ่มใช้และทยอยปรับความสามารถ 4 ระดับ คือ การทำความรู้จักผู้ใช้ทั้งหน้า เสียง และข้อมูล การจินตนาการความต้องการจากพฤติกรรม การนำเสนอบริการที่เหมาะสม และสุดท้ายให้ เคพลัสตอบโจทย์ชีวิตลูกค้าทุกด้าน

"AI เข้ามาช่วยให้เรารู้จักลูกค้ามากขึ้น เช่น การแจ้งเตือนธุรกรรมการเงินที่สำคัญที่ลูกค้าใช้เป็นประจำ และแนะนำผลิตภัณฑ์หรือโปรโมชั่นที่ตรงกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้า มีแมชชีน เลนดิ้ง นำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (K-Personal Loan) และสินเชื่อธุรกิจ ที่เหมาะสมกับความสามารถในการกู้และตรงกับความต้องการของลูกค้า" นายสมคิด กล่าว

นอกจากนี้ K PLUS ยังมีโครงสร้างเทคโนโลยี “โอเพ่น แพลทฟอร์ม” (Open Platform) พร้อมรองรับการเชื่อมต่อกับช่องทางบริการและพันธมิตรในธุรกิจต่างๆ เปิดให้ผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการเข้ามาต่อระบบได้ รวมทั้งให้บริการในต่างประเทศได้ด้วย โดยคาดหวังอยากให้ขยายผู้ใช้บริการเคพลัส ถึง 100 ล้านคนทั่วโลก

นายพัชร สมะลาภา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า แพลทฟอร์มของ K PLUS ใช้งานมาแล้วกว่า 5 ปี ปัจจุบันมีลูกค้าใช้งาน K PLUS มากกว่า 61% ของลูกค้าธนาคารทั้งหมด 15 ล้านราย มีอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วทั้งจำนวนลูกค้าและปริมาณธุรกรรม โดย ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 มีผู้ใช้เคพลัส จำนวน 9.4 ล้านราย ปริมาณธุรกรรม 3,634 ล้านรายการ

ทั้งนี้ ธนาคารวางกลยุทธ์และเป้าหมายของ K PLUS 3 ด้าน ได้แก่ 1. เพิ่มสัดส่วนการใช้งานฟังก์ชันไลฟ์สไตล์ของ K PLUS อีก 5-10% ภายใน 1 ปี ปัจจุบันฟังก์ชันที่ลูกค้านิยมใช้มากที่สุดคือ รายการโอน-เติม-จ่าย คิดเป็น 125 ล้านรายการต่อเดือน ในขณะที่ฟังก์ชันไลฟ์สไตล์ที่มีอยู่ใน เคพลัส แล้ว ยังมีปริมาณการทำธุรกรรมที่น้อยกว่าที่คาดหมาย มีเพียง 5 แสนรายการต่อเดือน หรือน้อยกว่า 1% ของรายการโอนเติมจ่าย จึงจะเร่งพัฒนาฟังก์ชันใหม่ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้บริการมากขึ้นเป็น 5-10% ภายใน 1 ปี

2. ต้องการให้เคพลัส เป็นช่องทางให้ลูกค้าเข้าถึงบริการผลิตภัณฑ์ด้านการเงินของธนาคารได้ง่ายและสะดวกขึ้น เช่น ฟังก์ชันถอนเงินโดยไม่ใช่บัตร ซื้อกองทุน โดยเฉพาะบริการสินเชื่อส่วนบุคคลที่เปิดให้บริการมา 8 เดือน ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุนขนาดเล็ก (Micro Finance) ให้กับลูกค้าทั่วไปและผู้ประกอบการรายย่อย

3. มุ่งเพิ่มฐานลูกค้ารวมของธนาคารให้ได้ 20 ล้านบัญชีภายใน 3 ปี ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ธนาคารมีฐานลูกค้าใหม่เฉลี่ยปีละกว่า 1 ล้านบัญชี ปัจจุบันมีจำนวนบัญชีลูกค้า 15 ล้านบัญชี และเชื่อมั่นว่า ภายใน 3 ปี ฐานลูกค้าใหม่ของธนาคารให้เพิ่มเป็นปีละ 2 ล้านบัญชี และทำให้ธนาคารมีฐานลูกค้ารวมเป็น 20 ล้านบัญชี โดยที่จำนวนลูกค้าเคพลัสส่วนหนึ่งจะมาจากการเติบโตของฐานลูกค้ารวม และอีกส่วนมาจากฐานลูกค้าที่ไม่ได้มีบัญชีของธนาคาร

กสิกรเปลี่ยนโฉม \"เคพลัส\" ครั้งใหญ่

กสิกรเปลี่ยนโฉม \"เคพลัส\" ครั้งใหญ่