ศิลปะแห่งการเวียนว่ายตายเกิด ภายในจิตใจ
ชื่อของ “อารยา ราษฎร์จำเริญสุข” อาจจะแสดงตัวตนในงานศิลปะให้เห็นเด่นชัดกว่า
โดย นกขุนทอง ภาพ นภัทร จาริตรบุตร
ชื่อของ “อารยา ราษฎร์จำเริญสุข” อาจจะแสดงตัวตนในงานศิลปะให้เห็นเด่นชัดกว่า หากแต่งานเขียนหนังสือก็ยังเป็นอีกหนึ่งแขนงที่เธอใช้ถ่ายทอดความคิด
“ผุดเกิดมาลาร่ำ” ผลงานหนังสือผลลัพธ์จากงานศิลปะที่จัดแสดงจบไปแล้ว ณ ๑๐๐ ต้นสน แกลลอรี่
อารยาเล่าถึงที่มาของงานเขียน “มีหลายลำดับชั้น 1.หิวงานเขียนที่ห่างไกลวิชาการในแบบปัญญาชนแห้งแข็ง และหิวงานเขียนที่ห่างไกลความเฉียบคมในนัยแบบบทความศิลปะ เหตุเพราะงานประจำอยู่กับวิชาการฝั่งหนึ่ง และอีกฝั่งหนึ่งอยู่กับโลกศิลปะ เวลาแสดงงานต้องเขียนถ้อยแถลงของศิลปิน เขียนแนวความคิด
ความหิวมาถูกสนองโดยการชะลองานทั้งสองฝั่งที่ทำอยู่ คือ งานสอนกับงานศิลปะ แล้วมาจดจ่อกับงานเขียนในเวลา 3 เดือนครึ่ง
2.อยากจมอยู่ในภวังค์ภาษา อารมณ์ของภาษามากกว่าโลกจริง เพราะโลกจริงไม่งามพอที่จะสมควรอยู่อย่างไม่แคลงใจ
3.อยากบรรจุคลังภาษาที่กำลังจะหายไปไว้ในเล่ม เพราะความเปลี่ยนแปลงตามกาลเทศะ จึงอยากบันทึกความมั่งคั่งของภาษาจากยุคของปู่ ของแม่ ของตนเองเอาไว้ในรูปเล่ม ซึ่งจะให้ผนึกรวมได้แบบไม่น่าเบื่อนักก็น่าจะเป็นนิยาย”
ผุดเกิดมาลาร่ำ นำเสนอโศกนาฏกรรมของชีวิตผู้หญิงคนหนึ่งใน 3 ช่วงวัย บาดแผลจากการถูกกระทำความรุนแรงในวัยเด็ก ความพยายามดิ้นรนเพื่อเยียวยาบาดแผลในช่วงวัยสาว และการปลดปลงกับเรือนร่างอันเสื่อมสลายในวัยชรา ด้วยการพินิจพิจารณาถึงความตาย
“เป็นความฝังจำ เกิดจากการรับรู้ของเด็ก 3 ขวบที่อยู่ดีๆ ความอบอุ่น ความมั่งคั่งของรักก็ดับหายไปเลย มือแม่กลายเย็นเด็กรับรู้แบบที่ไม่มีตรรกะ แต่เต็มไปด้วยความพิศวง ความไม่รู้หนไหน อย่างไร ทำไม มีแต่คำถาม เป็นฝังจำอยู่ลึก ลึกเกินกว่าความเติบใหญ่ กับเติบโตจะตะล่อมกลับมาให้อยู่กับความตายอย่างมีเหตุผล ทางออกจึงคืองานสร้างสรรค์ที่ไม่ต้องการเหตุผล คือศิลปะกับงานเขียน” อารยาเปิดเหตุผลที่สนใจเรื่องของความตาย
นัยของความตายของนักเขียน คือ “ความรุ่มรวยเชิงรู้สึกนึกคิด มีอารมณ์หวานๆ ขมๆ คลอหล่อเลี้ยงอยู่ด้วย สวนทางกับทุรนทุรายและตั้งมั่นของการดำรงชีวิต เป็นเส้นราบมีค่าน้ำหนักสวย”
ชะตากรรมที่ผู้หญิงคนหนึ่งเจอในนวนิยาย เป็นสิ่งที่คนทั่วไปมีประสบการณ์ร่วมมากน้อยแค่ไหน “ถ้าสังคมเต็มไปด้วยความลำเอียง อคติ การยึดติด ตรึงมั่น ถือในพิธีกรรม และการถือครองอำนาจแบบไม่เที่ยงธรรม ชะตากรรมชนิดนี้ก็ยังอยู่ กดข่มการดำเนินชีวิตของผู้คนให้ไม่สร้างสรรค์พอ วางกรอบจำกัดเสรีภาพของมนุษย์ในอันที่จะคิดและเป็นผู้สร้าง วางเงื่อนปมให้ไม่ไปไหน ให้อยู่กับที่
ที่น่าอนาถกว่าคือไม่ใช่คนส่วนใหญ่ที่รองรับชะตากรรมความเป็นอยู่เหล่านี้ จะสามารถพลิกกลับมาเป็นคนทำงานสร้างสรรค์แล้วส่งเสียงให้คนอื่นได้ยินผ่านงานสร้างสรรค์ได้
ไม่แม้แต่ผู้ตัดสินเชิงอำนาจ ซึ่งก็ไม่หลุดไปจากวัฒนธรรมจำยอมที่ปลอดภัยกว่าทางเลือกที่ท้าทายบางประการ”
หากได้อ่านหนังสือหลายคนคงสงสัยว่า ในนวนิยายมีเงาของผู้เขียนอยู่มากน้อยแค่ไหน “เงาที่ทอดหนักและเข้มที่สุดของผู้เขียนคือ ภวังค์ของรู้สึกนึกคิด เป็นไปในเชิงวิพากษ์ ตั้งคำถาม และบางครั้งถึงกับพยายามรุกคืบเอาคืนชะตากรรม
การเล่าในที่นี้เท่ากับการลงมืออย่างจริงจัง มุ่งทิศสวนทาง เป็นนิสัยของคนที่เรียกร้องหาเสรีภาพ แม้ว่าจะแลกด้วยการถือครอง ความลำพังตัว คนเขียนน่าจะมีนิสัยนี้อยู่ บางครั้งแรง บางครั้งผ่อน เงาของคนเขียนทอดทับงานในทำนองที่กล่าวมา”
สุดท้ายกับคำตอบของการที่เราเฝ้าดูจิตใจ รู้ทันตัวเอง กับการเฝ้าสังเกตคนอื่น อะไรจำเป็นมากน้อยกว่ากัน “ตอบแบบคนดีที่เข้าใจโลกได้ว่า ทำคู่ขนานกัน สำหรับตัวเราแง่มุมไหนก็ได้ แต่คนอื่นมีบางเรื่องที่ไม่ควรหรือถึงอยากรู้ก็ไม่อาจไปรู้ของเขาได้
ตัวละครในที่สุดก็เข้าใจว่าความเป็นผู้หญิงคนที่โกรธเกรี้ยวนั่น เพราะภาระที่แบกล้นเกิน เพราะอีกเพศลอยตัวอยู่กับโลกของผู้ชาย เข้าใจตั้งแต่กลางๆ เรื่องแล้ว
ในส่วนของความตายแม้ตัวละครจะรู้ทันตัวเอง ความหมกมุ่นก็ใช่ว่าจะหายไป ความตามรู้หรือรู้ทันอาจเป็นเพียงรู้
ก็หวังว่าหลังจากรู้แล้วการลงมือเชิงประโยชน์ต่อชีวิตอื่นอาจช่วยตัวละครได้บ้าง แต่ไลลียาก็จมหมักอยู่กับกลิ่นตายอยู่ดี เหมือนคำตัดสินในตอน พิพากษา เป็นอยู่แต่ตาย ตายทั้งๆ ที่ยังอยู่
บางทีมัวแต่พยุงตนเอาไว้ เลยไม่รู้อะไรสำคัญไม่สำคัญกว่า ไม่น่าจะมีคำตอบเชิงเปรียบเทียบได้ค่ะ”
ผุดเกิดมาลาร่ำ ผู้อ่านอาจได้เห็นภาพชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งที่ฉายทาบทับความเป็นไปในสังคม การตัดสินในความคิดผู้อื่น อำนาจ ความแตกต่าง และการกีดกันให้แปลกแยก หากแต่ทุกบทเรียนของชีวิตต้องแลกด้วยความเจ็บปวดหรือแสนหวาน