ไปดูกรุงโซล ชุบชีวิตเมืองใหม่ให้ใสปิ๊ง (1)
ลำคลอง “ชอง-กเย-ชอน” นับเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในวันนี้ ที่นักเดินทางและนักเดินเท้าชาว Seoul Walker
ลำคลอง “ชอง-กเย-ชอน” นับเป็นแลนด์มาร์คสำคัญในวันนี้ ที่นักเดินทางและนักเดินเท้าชาว Seoul Walker ต้องไปย่ำผ่านให้ได้สักครั้ง... “ชอง-กเย-ชอน” มีชื่อดั้งเดิมว่า “กเยชอน” เป็นคลองที่ถูกสร้างขึ้นตามพระราชดำริของ พระเจ้าแทจง กษัตริย์องค์ที่สามของอาณาจักรโชซอน เพื่อปรับปรุงระบบระบายน้ำให้แก่เมืองหลวง “ฮันยาง” เมื่อราว 700 ปีก่อน ในเวลานั้นคลองนี้เป็นเพียงทางน้ำเล็กๆ จึงได้มีการสร้างพนังตลิ่งและสะพานให้ประชาชนสามารถสัญจรไปมาได้อย่างสะดวก “กเยชอน” จึงเป็นแหล่งน้ำที่อยู่คู่ชีวิตชุมชนในเมืองหลวงของอาณาจักรโชซอนที่เคยรุ่งเรืองมานานหลายร้อยปี และในขณะเดียวกันก็ยังเป็นพยานหลักฐานของการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่างในประวัติศาสตร์เกาหลีอีกด้วย
หาก “ชอง-กเย-ชอน” พูดได้ ก็คงจะต้องใช้เวลากระซิบเล่าเรื่องราวที่มีทั้งสุขและแสนเศร้าของตนเองให้ผู้คนที่เดินผ่านไปมาในยามค่ำคืนได้หูแว่วขนลุกทั่วร่างนานหลายชั่วโมง (เดินริมฝั่งคลองเวลากลางคืนโปรดตั้งสติ สะพานโบราณช่วงหนึ่ง ว่ากันว่า เป็นของแท้ดั้งเดิมแต่โบราณที่มีการฝังร่างคนใต้ตอม่อ ในตอนสร้างสะพานไว้ด้วย บรื๊ยส์)
“ชอง-กเย-ชอน” ชอกช้ำมากที่สุดหลังสงครามเกาหลี เมื่อมีผู้คนจากทั่วสารทิศอพยพเข้ามาจากต่างจังหวัดเพื่อแสวงหางานและเงิน เกิดชุมชนแออัดสองฝั่งคลอง น้ำเน่าเสีย สิ่งปลูกสร้างรกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบและขาดความปลอดภัย ต่อมาภายใต้กระบวนการสร้างชาติขึ้นใหม่ ของ ประธานาธิบดี ปัคจองฮี ชุมชนจึงถูกรื้อถอนและถมคลองเพื่อสร้างถนนคอนกรีตให้เป็นเมืองศิวิไลซ์ขึ้น...กว่าจะกลับมาเป็นลำคลองที่มีน้ำใส มีลานกิจกรรมกว้าง และปลูกต้นไม้สร้างทางเดินเท้าเพื่อคืนความร่มเย็นและพื้นที่พักผ่อนให้แก่ชุมชนเมืองอย่างทุกวันนี้ได้ จึงยากลำบากมาก
การคืนคลองให้เมือง เกิดจากความคิดของผู้ว่าการกรุงโซลในช่วงปี 2002-2006 คือ นาย “อี มยอง ปัค” (ต่อมาได้เป็นประธานาธิบดีเกาหลี) ซึ่งริเริ่มไอเดีย รื้อถนนเพื่อชุบชีวิตลำคลองโบราณ ให้กลับมามีชีวิต ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่อาจหาญยิ่ง เพราะ ในเวลานั้น การจราจรในเมืองรถติด วิกฤตหนักมาก หากเป็นประเทศอื่นคงคิดแต่จะเพิ่มพื้นที่จราจร สร้างถนนลอยฟ้าชั้นที่ 3 ที่ 4 เป็นแน่ ...ยิ่งไปกว่านั้น พอเริ่มออกแนวคิดจะรื้อถนนสร้างคลอง พ่อค้าแม่ขายตลอดแนวคลองกลัวธุรกิจพัง ต่างพากันประท้วง คณะกรรมการต้องอดทน ชี้แจง ประชุม ร่วมกันชาวกรุงโซลกว่า 4,000 ครั้ง
สุดท้ายโครงการดำเนินไปตามแผนแม้มีแรงขัดแย้ง และประสบความสำเร็จ ฟ้าดินยกย่อง ทั่วโลกสรรเสริญ ผู้คนเกือบแสนได้ใช้ประโยชน์ในแต่ละวัน ในฤดูร้อนสามารถลดอุณหภูมิรอบข้างลงได้ถึง 3-6 องศา การจราจรกลับติดขัดน้อยลงเพราะคนลงจากรถมาเดินบนถนนรอบคลอง ไปไหนๆ ในใจกลางเมืองได้ราว 11 กิโลเมตร ถือเป็นนโยบายด้าน Sustainable Urban Regeneration ที่ทำชื่อเสียงให้เกาหลีอย่างมาก ใครๆ ก็จัดทริปให้ผู้บริหารเมืองอีกหลายๆ ประเทศมาดูงาน... ถึงตอนนี้ทำให้หวนระลึกถึงลำคลองกลางถนนสาทรเหนือและใต้ที่เคยนั่งรถผ่านไปโรงเรียนทุกวันในวัยเด็ก น้ำในคลองเคยใสและมีต้นไม้เขียวดูร่มรื่นสบายตาทั้งสองฝั่งคลอง กรุงเทพมหานครเมืองหลวงของเราเคยได้ชื่อว่า “เวนิสแห่งตะวันออก” เพราะมีคูคลองเป็นทางสัญจรทางน้ำ แต่บัดนี้ภาพนั้นหายไป กลายเป็น ถนน ถนน และ ถนน ที่ร้อนตับแล่บ...
กรุงโซลเมืองหลวงซึ่งเป็นศูนย์กลางความเจริญของประเทศนั้น ที่จริงมีอายุยาวนานกว่า 2,000 ปี ปรากฏเป็นชุมชนมาตั้งแต่สมัยแพคเจ ชื่อว่า เมือง “วี รเย ซอง” และก็เป็นธรรมดาที่มีการเปลี่ยนชื่อมาตามยุคสมัย ใครเป็นใหญ่ก็เปลี่ยนชื่อเมือง หรือสถานที่สำคัญตามนายคนนั้น กรุงโซลในอดีตจึงมีชื่อเรียกมากมาย เช่น ฮันยาง ฮันซอง คยอง-ซอง และ ไคโจ ซึ่งญี่ปุ่นเปลี่ยนให้เป็นชื่อเมืองแบบญี่ปุ่นซะ หลังเข้ามายึดครองเกาหลี
ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ พยายามเร่งสร้างสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ฟิลิปปินส์ ภายใต้นโยบาย Build Build Build ของประธานาธิบดีดูเตอร์เต... แต่เกาหลีได้ผ่านจุดนั้นไปนานแล้ว ระยะ 60 ปีที่ผ่านมา กรุงโซลได้เร่งพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว มีการก่อสร้างตึกและโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งปัจจุบันสิ่งปลูกสร้างต่างๆ เริ่มเสื่อมสภาพ หมดอายุไปตามกาลเวลา อายุของกรุงโซลในวันนี้จึงอยู่ในช่วง Life Cycle ที่ต้องตัดสินใจว่าจะบริหารสินทรัพย์ที่เสื่อมสภาพไปอย่างไร ซึ่งตามหลักของ Asset Management แล้ว มีคำตอบอยู่ไม่กี่ทางให้เลือก เช่น Re-furbish หรือ Renewal (ลงทุนปรับปรุงสภาพให้เหมือนใหม่) Re-use as is (นำกลับมาใช้ต่อเนื่องจนหมดอายุไปเอง) และ Replace (ลงทุนรื้อก่อสร้างใหม่) และ คลองชองกเยชอนถือเป็นต้นแบบของการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ในกรุงโซลในเวลาต่อมา
ทั้งนี้ ภายใต้การนำของผู้ว่าการกรุงโซลคนปัจจุบัน คือ “ปัค วอนซุน” ซึ่งถือว่าเป็นนักบริหารหัวก้าวหน้าและนักจัดการสินทรัพย์มือทองคนหนึ่งแห่งยุค จึงได้ใช้ นโยบาย “แชแซง-재생” หรือ “ชุบชีวิตใหม่” ซึ่งนำมาใช้บริหารจัดการสินทรัพย์ที่เสื่อมสภาพ หลายสถานที่ได้รับการชุบชีวิตใหม่อย่างน่าทึ่ง กลายเป็นแลนด์มาร์คใหม่ๆ ที่มีความสำคัญทั้งทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของกรุงโซล ในฐานะที่เป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก และเมืองมรดกทางวัฒนธรรม เช่น การปรับปรุงคลังน้ำมันของชาติเก่า (Oil Tank) ให้เป็นจุดท่องเที่ยวใหม่ การปรับเปลี่ยนทางด่วนให้เป็นสวนลอยฟ้า การปรับปรุงกำแพงเมืองโบราณ การต่อชีวิตอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้า และดีไซน์ เป็นต้น...
(อ่านต่อฉบับหน้า)