มุ่งสู่ล้านแรกในชีวิต
แค่เก็บเงินให้ได้ 84,000 บาททุกเดือนสิ ใช้เวลา 1 ปี ก็ได้เงินล้านมากอดแล้ว
เรื่อง ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์
การจะมีเงิน 1 ล้านบาททำอย่างไร คำตอบที่เร็วที่สุด ไม่ยากเลย แค่เก็บเงินให้ได้ 84,000 บาททุกเดือนสิ ใช้เวลา 1 ปี ก็ได้เงินล้านมากอดแล้ว แต่ในชีวิตจริง ไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำเช่นนั้นได้ ถ้าไม่ได้มีรายได้หลักแสนบาทต่อเดือน ยิ่งเป็นมนุษย์เงินเดือน ค่าใช้จ่ายหลายอย่างถาถม ทำให้ออมเงินได้น้อยอีกต่างหาก
แต่ขอย้ำว่า เงินล้านมีได้จริง ถ้าออมสม่ำเสมอ ผลตอบแทนที่เหมาะสม ตามระยะเวลาเป้าหมายที่เป็นไปได้
ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายบริการสมาชิก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านวางแผนการเงิน ชี้ให้เห็นว่า การมีเงินล้านในช่วงอายุน้อยๆ ภายใน 1-2 ปีเป็นได้ยาก เนื่องจากมีรายได้ไม่มาก อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายเข้ามาเป็นระยะ ความสามารถในการออมจึงน้อย
อัตราเงินเดือนของนักศึกษาจบใหม่ระดับปริญญาตรี เฉลี่ย 16,000-18,000 บาท ระยะแรกก็หักค่าใช้จ่ายการใช้ชีวิต อีกไม่ช้าก็จะมีความต้องการเพิ่ม ทั้งซื้อบ้าน ซื้อรถยนต์ หรือสมาร์ทโฟน เป็นภาระในการชำระหนี้ที่เพิ่มเข้ามา กดดันการออมของคนทำงาน
คัมภีร์บทที่ 1 วินัยการออม
อย่าเพิ่งถอดใจ! ทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น และสิ่งที่ควรทำถ้าต้องการมีเงินล้านละก็ต้องเริ่มด้วยการ "ออม 20% ของรายได้"
ถ้าไม่เริ่มสร้างวินัยการออมก่อนใช้ตั้งแต่เริ่มมีรายได้ คงไม่ต้องพูดถึงการหาเงินล้านแรกเข้ากระเป๋าแล้วล่ะ ยกเว้นแต่ว่าฐานะทางบ้านร่ำรวยอยู่ หรือดวงดีถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 ซึ่งจะมีกี่คนใน 67 ล้านคนกัน
กลับมาที่การออมเพื่อล้านแรก กรณีศึกษาคำนวณคร่าวๆ ของผู้มีรายได้ 24,409 บาทต่อเดือน กรณีไม่ปรับขึ้นเงินเดือนเลย หากออม 20% หรือเดือนละ 4,882 บาท ในอัตราผลตอบแทน 10% ใช้เวลา 10 ปี จะมีเงินล้าน แต่ตามปกติที่เงินเดือนปรับขึ้นเฉลี่ยปีละ 5% อยู่แล้ว จะสามารถได้เงินล้านใน 9 ปี และหากมีโบนัสซึ่งเฉลี่ยทั่วไป 2 เดือนก็จะใช้เวลาเพียง 7 ปี เท่านั้น
ย้ำว่า เป็นการลงทุนที่ผลตอบแทน 10% ซึ่งมีที่เดียวที่มีความเป็นไปได้ คือ หุ้น แต่หากลงทุนหรือออมในสินทรัพย์ประเภทอื่น ค่าเฉลี่ยผลตอบแทนจะปรับลดหลั่นกันลงมา ซึ่งจะได้ 1 ล้านบาทในเวลาเท่ากันได้ ก็ต้องกันเงินออมมากขึ้น
คัมภีร์บทที่ 2 มือใหม่หัดลงทุน
ขอดึงสตินิดหนึ่ง คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าใจร้อนอยากรวยเร็ว จึงเห็นพฤติกรรมอยากลงทุนในหุ้นมากกว่ากองทุนรวม ด้วยหวังผลตอบแทนสูงๆ ซึ่งหลายคนสูญเสียมาตั้งเท่าไหร่แล้วกับการมองที่ผลตอบแทนเพียงอย่างเดียว แต่ขาดความรอบคอบและความเข้าใจตลาดอย่างถ่องแท้ ในตลาดมีผู้ชนะเพียง 10% ที่ออกมาบอกเล่าเรื่องราวความสำเร็จ ลืมไปว่า มีอีก 90% ที่เสียหาย
ถ้าสนใจลงทุนหุ้นแต่เป็นมือใหม่ แนะนำให้ลงทุนกองทุนรวมหุ้นแทนแบบสม่ำเสมอทุกเดือน (DCA) เพราะช่วยตัดความเสี่ยงจากจิตวิทยา ที่ลงทุนด้วยอารมณ์ เช่น คนมักจะคาดหวังว่า หุ้นที่ดีกำลังขึ้น จะขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะเข้าซื้อช่วงนั้น ซึ่งในความจริงเป็นช่วงที่แพงแล้ว เมื่อดัชนีลงมาจนขาดทุน ก็ไม่กล้าขายเพราะกลัวขาดทุน จนกระทั่งขาดทุนหนักจนแบกไม่ไหว ก็ยอมขายในช่วงที่ขาดทุนหนักที่สุด
จากการเก็บสถิติ การออมในกองทุนรวมหุ้นแบบ DCA เปรียบเทียบกับการซื้อครั้งเดียว ในรอบ 10 ปี พบว่า 5 ปี DCA ได้ต้นทุนหน่วยถูกกว่า และ 2 ปี ที่ต้นทุนเท่ากัน อีก 3 ปีต้นทุนของซื้อครั้งเดียวถูกกว่า แปลว่า 7 ใน 10 ปี ชนะในเรื่องต้นทุนถูกกว่า โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยดูภาวะเลย
ถ้าอยากลงทุนให้ได้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ควรลงทุนกับตัวเอง หรือก็คือการพัฒนาตัวเองให้มีทักษะใหม่ๆ เข้าคอร์สเรียนซอฟท์สกิล หรือสิ่งที่สนใจเพื่อยกระดับขีดความสามารถ เมื่อตัวเราโดดเด่น ก็มีโอกาสได้ขึ้นเงินเดือนมากกว่าคนอื่น หรือมีโอกาสย้ายงานเปลี่ยนงานที่เงินเดือนมากกว่า หากมองเรื่องความคุ้มค่าผลตอบแทน เมื่อได้เงินเดือนเพิ่ม 10% เวลา 1 ปี เท่ากับผลตอบแทน 100% ต่อปี ซึ่งการลงทุนใดที่ให้ผลตอบแทนถึง 100% บ้าง
คัมภีร์บทที่ 3 บันได 3 ขั้นสู่ล้านแรก
ถูกต้องแล้วที่ว่า การออมเป็นทักษะหนึ่งของชีวิตที่พึงมี เพื่อสร้างวินัยทางการเงินในระยะยาว แต่จะออมให้ประสบผลสำเร็จต้องมีเทคนิคกันหน่อย
บันไดขั้น 1 ตั้งเป้าหมายชัดเจนว่ามีเงินเพื่ออะไร? ลองคิดดูว่า คนหนึ่งบอกว่า อยากรวย อีกคนหนึ่งบอกว่าอยากนำไปสร้างธุรกิจ อย่างไหนมีพลัง (Powerful) มากกว่ากัน แค่อยากรวยก็ไม่รู้ว่าจะรวยไปทำไม แต่รวยอย่างมีเป้าหมายชัดเจน เป็นการสร้าง Milestone สำคัญ เป็นแรงบันดาลใจให้มุ่งมั่นทำให้สำเร็จ
"เหมือนการต่อเลโก้ ที่หน้ากล่องจะมีภาพที่ประกอบเสร็จแล้วให้เราเห็นว่าความสำเร็จเป็นยังไง ทำให้เราอยากจะต่อเลโก้สมบูรณ์เช่นนั้น การออมแบบมีเป้าหมายก็เช่นกัน ดังคำกล่าว Start with what success look like ซึ่งเป็นเหมือนกฎแห่งแรงดึงดูดที่ผลักดันให้เราเดินไปถึงจุดหมาย" ฉัตรพงศ์ เปรียบเปรย
บันไดขั้นที่ 2 ตั้งเป้าหมายให้เว่อร์ไปอีกนิดหนึ่ง หากตั้งเป้าหมาย 1 ล้านบาท ลองตั้งเป้าสัก 1.2 ล้านบาทดูสิ ทำให้ตัวเองตึงขึ้นมาอีกนิดหนึ่ง เพื่อเป็นแรงผลักดันให้เกิดความพยายาม และมีโอกาสบรรลุเป้าหมายได้มากกว่าอย่างเช่น แทนที่จะตั้งเป้าหมายเติบโต 100% แล้วทำได้ 70% ก็ตั้งเป้าหมายให้เป็น 200% หากต่ำเป้าไป 50% ก็ยังได้ 150% ดีต่อใจมากกว่า
บันไดขั้นที่ 3 ซอยเป้าหมายใหญ่ให้เป็นเป้าหมายเล็กๆ ทยอยบรรลุไปทีละส่วน หรือจะบอกว่า ตั้งเป้าหมายระยะสั้นต่อเนื่องไปเรื่อยๆ เพื่อเป้าหมายระยะยาวนั่นเอง เป็นเทคนิคแบบนักวิ่งมาราธอน การวิ่ง 40 กม. ดูเหมือนยาวนานและยากเหลือเกิน ดังนั้น แทนที่จะมองจุดสุดท้าย 40 กม. ลองตั้งเป้ามองทีละ 2 กม. หรือตั้งใจไปให้ถึงเสาข้างหน้า ก่อนผ่อนแรง ก็จะช่วยให้ผ่อนคลายขึ้น
คัมภีร์บทที่ 4 ออมอะไรดีเพื่อไปถึงล้าน
เครื่องมือทางการเงินในตลาดมีมากมายให้เลือกตามความต้องการของแต่ละคน แต่หากให้ ฉัตรพงศ์ แนะนำละก็ ต้องมองหลายแบบ ลงทุนหลากหลาย กระจายความเสี่ยงมากน้อยในการสร้างผลตอบแทน
ทวีทรัพย์ฝากประจำ 24 เดือน เลือกที่ลดหย่อนภาษีจะดีมาก อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 2.24% ต่อปีในขณะนี้ ชนะเงินเฟ้อ และสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ เป็นการฝึกวินัยการออมได้ดีทีเดียว โดยออมขั้นต่ำเดือนละ 500 บาทก็มีสำหรับผู้ที่เริ่มต้น โดยให้ออมส่วนนี้สัก 10% ของรายได้ ไม่ต้องมากเนื่องจากไม่มีสภาพคล่อง ถอนได้แต่ดอกเบี้ยที่ควรได้ก็หายไปด้วย
หากต้องการออมเกิน 10% ทางเลือกต่อไปควรอยู่ในกองทุนรวม เพราะมีสภาพคล่อง ถอนได้ตลอดเวลา ได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
ส่วนผู้ที่มีรายได้สูงขึ้นมาหน่อยเข้าข่ายเป็นผู้เสียภาษี กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) เป็นทางเลือกดีน่าสนใจ ไม่ใช่เพียงการลดหย่อนภาษี แต่เพราะ LTF เป็นกองทุนรวมหุ้น ก็รู้กันอยู่แล้วว่าหุ้นนั้นในระยะยาวให้ผลตอบแทนดีกว่า โดยต้องคงไว้ 7 ปีปฏิทิน
ทางเลือกถัดมาสำหรับการลดหย่อนภาษี คือ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) ที่ต้องออมต่อเนื่องไปจนถึงอายุ 55 ปีจึงจะถอนได้ เป็นกองทุนที่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีเงินออมไว้ใช้ยามเกษียณ แต่ผลตอบแทนระดับเดียวกับกองทุนรวม อย่างน้อยหากออมต่อเนื่องจนถึงอายุ 55 ปี น่าเห็นเงินล้านเหมือนกัน
อีกทางหนึ่งที่ได้รับความนิยม คือ ประกันชีวิต หรือประกันสะสมทรัพย์ และล่าสุดประกันสุขภาพก็ได้รับการลดหย่อนเหมือนกัน และยังได้ความคุ้มครอง ลดภาระในอนาคตได้อีกด้วยคนที่เสียภาษีทั้งหลายที่ได้รับการลดหย่อนภาษี เมื่อได้เงินคืนภาษีมา ก็นำไปออมหรือไปลงทุนต่อยอดเงินก็จะยิ่งทำให้ถึงล้านไวขึ้น
เกาะ "หุ้น" ไว้เถิดจะดี
ย้อนกลับไปที่กองทุน LTF ที่เริ่มมีแนวคิดว่าจะยกเลิกการลดหย่อนภาษีนั้น ในระยะต่อไปจะยังน่าสนใจอยู่ไหม ส่วนนี้ ก็อยากให้มองความเป็น "กองทุนรวมหุ้น" เพราะในบรรดาสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนดียังคงเป็น "หุ้น" ซึ่งเฉลี่ย 10 ปีย้อนหลังพบว่า ผลตอบแทนจากการลงทุนหุ้นอยู่ที่ 12-15% ต่อปี สถิติการถือครองหุ้นในระยะ 10 ปี ยังไม่เห็นการขาดทุน เพราะเศรษฐกิจโลกเติบโตขึ้นต่อเนื่อง เศรษฐกิจไทยก็เติบโตเช่นกัน ผลประกอบการบริษัทดี ดัชนีหุ้นก็ดีไปตามนั้น
แต่ผลตอบแทนสูงก็มาพร้อมกับความเสี่ยงอย่างเลี่ยงไม่ได้ บางปีเห็นอัตราผลตอบแทนติดลบมาก บางปีบวกสูงมากเช่นกัน หากดูภาพตลาดเป็นก็เล่นรอบกันอย่างสนุกสนาน แต่อย่างที่เตือนไว้ข้างต้น ว่า ภาวะจิตวิทยามีผลกับการตัดสินใจที่ผิดพลาดจนเกิดความสูญเสีย
อยากทิ้งท้ายไว้ว่า ความเคลื่อนไหวของผลตอบแทนการลงทุนในหุ้นไทยตั้งแต่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยถือกำเนิด จะเห็นว่าจุดที่ลงแรง คือ ช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ลดไปกว่า 44% แต่ภายใน 1 ปี ปรับขึ้นมาได้เกือบ 70% เห็นไหมว่า เกาะ "หุ้น" ไว้ ไม่เสียหลาย