ความเป็นอื่นจากตัวตน
ธณฤษภ์ ทิพย์วารี เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ใช้ตัวเองเป็นต้นแบบในการสร้างงานจิตรกรรม
โดย มัลลิกา นามสง่า
ธณฤษภ์ ทิพย์วารี เป็นอีกหนึ่งศิลปินที่ใช้ตัวเองเป็นต้นแบบในการสร้างงานจิตรกรรม จัดแสดงในนิทรรศการ “แฝด 27 : ความเป็นอื่นจากตัวตน”
เค้าโครงหน้าที่ซ้ำๆ หากแต่มีความต่างในความเหมือน มีรายละเอียดของเทคนิคฝีแปรงที่สะท้อนอารมณ์และสื่อถึงเนื้อหาที่ศิลปินต้องการบอกกล่าวกับผู้ชม
การที่ศิลปินเลือกใช้ใบหน้าของตัวเอง มองเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลก็ไม่ผิด เพราะถ้าศิลปินเข้าไม่ถึงเนื้อหาสาระ ไม่ตกตะกอนทางความคิดที่ต้องการสื่อสารจะสร้างสรรค์งานออกมาได้อย่างไร แต่เมื่อมองทะลุรูปลักษณ์นั้นไป ใบหน้านั้นเป็นเพียงมนุษย์คนหนึ่งที่แทนค่าของมนุษย์ทุกผู้ทุกนาม
“ถ้าเราใช้ใบหน้าที่สร้างขึ้นมาเอง ไม่ได้เจาะจงไปที่ใคร ประเด็นจะไปอีกแบบหนึ่ง แต่เราใช้หน้าตัวเอง เราได้แสดงปัญหาให้คนอื่นได้ทราบว่า เราพยายามจะค้นคว้าอะไรเกี่ยวกับตัวเรา เหมือนกับว่าเราเหมือนจะรู้จักตัวเราดี แต่ใช่ว่าเราจะรู้จักดีพอ แล้วใช่ว่าเราจะควบคุมตัวเราได้อย่างเบ็ดเสร็จ มีสิ่งที่
ดื้อดึงดื้อรั้นอยู่เสมอ จึงเป็นความทุกข์ ตัวเราก็เป็นพื้นที่หนึ่งที่เราควรรับผิดชอบซะก่อนไหม”
การสร้างงานชุดนี้เสมือนการวิปัสสนา สำรวจกายใจตัวเอง แต่จะล้อมกรอบเพียงตัวเองคงไม่ได้ เพราะสิ่งที่มากำหนด มากำกับ มากระตุ้นความเป็นตัวเรา ยังมีผู้คน สิ่งแวดล้อมภายนอกอีกหลายสิ่ง
“เราไม่ได้เป็นตัวเอง 100 เปอร์เซ็นต์ สติปัญญาก็มาจากโลก ปัญหาก็มาจากภายนอก มนุษย์ทุกคนพัฒนาตัวเองตลอดเวลา มีการทบทวน อะไรที่ผ่านมาใช้ได้ เราเรียนจากอะไรต่างๆ เรายึดติดกับอะไรไปไหม เรายืดหยุ่น อคติไปไหม เราคิดง่ายไปไหม เราขาดการใส่ใจคนอื่นมากไปหน่อยไหม สิ่งที่เราคิดมันเกิดจากการตั้งคำถามกับตัวเองว่า เราคือใคร เรามีหน้าที่ทำอะไร เราเกิดมาทำไม”
ธณฤษภ์ เล่าถึงที่มาของชื่อนิทรรศการ “แฝด คือตัวผมเอง มีผลงาน 27 ภาพ เป็นตัวผมเองซ้ำๆ เราทุกคนนี้ละ เราพูดคุยกับตัวเราเองซ้ำๆ มีรีแอ็กชั่นกับเรื่องราวที่เข้ามาในชีวิตประจำวันไม่คงที่ เรามีการเรียนรู้สิ่งใหม่ มีการปรับแต่งออกแบบตัวเราอยู่เรื่อยๆ มันมาจากข้อมูลเก่าก่อน แล้วเราก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาทบทวน แล้วก็พยายามทำความเข้าใจกับตัวแปร บริบทภายนอก เช่น สเปซที่เป็นบุคคลอื่น คนในสังคมอื่น ในวัฒนธรรมอื่น เราต้องเอาความเป็นเราไปบวกกับสิ่งเหล่านั้น เราถึงหาท่าทางแสดงออกได้ ถ้าเราไม่พิจารณาว่าสเปซข้างหน้าเราคืออะไร เราแสดงออกไปเลยด้วยความมั่นใจ ผมว่ามันอาจจะดูรุนแรงไปหน่อยถ้าทุกคนทำแบบนั้นก็คงจะยุ่งไปหมด
27 หน้าอาจไม่ใช่ผมทั้งหมด ความเป็นอื่นจากตัวเรา เหมือนกับว่าเราพยายามไม่นิยามว่าตัวเราคือสิ่งใดที่ตายตัว ไม่เอากรอบตรงนั้นมาควบคุมมากเกินไป เช่น ถ้าเราออกแบบดีไซน์เราหน้าตาดี แต่งตัวดี พูดจาดีตลอดเวลา เป็นกรอบที่กระด้างเกินไปในความเป็นจริง ทุกการแสดงออกมันมีความหมายของมัน”
สีน้ำมันที่ถูกระบาย ปาด ป้าย ฝีแปรงบ่งบอกอารมณ์ ใช้สื่อความหมาย และแสดงถึงความเป็นอื่นในตัวตน
“ดรออิ้งใช้ดินสอชาร์โคล หมึกจีน การฉลุกระดาษ การกรีดให้เกิดร่องลึก สีน้ำมันใช้ปรับเปลี่ยนวิธีไปตามภาพ
บางภาพเพนต์เรียบๆ ต่อเนื่อง ทำละเอียดๆ แบบ Sfumato เป็นการควบคุมฝีแปรง ควบคุมความรู้สึก ใช้เหตุผล ความมีระเบียบขั้นตอน มีสติมากๆ ให้อยู่ในที่ในทาง
บางภาพเป็นอิมเพรสชั่น ปลดปล่อยอารมณ์มาเยอะๆ มีความบังเอิญ มีความเคลื่อนไหวของสี และทิศทางของแปรง ปาดแบบฉับไว Painterly เป็นการปลดปล่อยฝีแปรง
หรือบางชิ้นเพนต์ย้อน เวลาขึ้นรูปเกลาจนกระชับจนละเอียดที่สุด แล้วค่อยหยาบขึ้นๆ เป็นการทบทวนการกระทำ เพื่อดูว่าการกระทำของเราคืออะไร เหมือนวันนี้เราเลิกงานกลับบ้านไปคิดทบทวนว่าวันนี้มีอะไรผิดพลาดบ้าง
ผมไม่อาจควบคุมการตีความคนอื่น แต่ผมพยายามรับผิดชอบต่อสถานการณ์อยู่ตรงหน้า เลยเห็นว่าตัวตนของเราเป็นหลากหลายขึ้นกับสิ่งภายนอก ผมว่าถ้าเรามีชีวิตอยู่ เราจะออกแบบตัวเองไปเรื่อยๆ เปลี่ยนแปลงและยอมรับความผิดพลาดที่ผ่านมาไปให้ได้
ความเป็นอื่นจากตัวตน ไม่ใช่การหนีตัวตน แต่เป็นการวิปัสสนา ทบทวน วิเคราะห์ สังเคราะห์ ให้เห็นประจักษ์ต่อหน้าว่าหน้าตาฉันเป็นแบบนี้
ทุกคนควรมาทบทวนตัวเอง ทุกวันนี้เราแทบหลับตลอดเวลาด้วยซ้ำไป วันหนึ่งแทบไม่มีสติเลย ทุกอย่างเป็นไปตามสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ตามประสบการณ์ แรงกระตุ้นเต็มไปหมดเลย”
มีงานอยู่ 5 ชิ้นที่ศิลปินเอาตัวเองไปสวมเป็นคนอื่น ได้แนวคิดมาจากถูกคนอื่นมองและตัดสินจากรูปลักษณ์ภายนอก “เราถูกประเมินซ้ำแล้วซ้ำเล่า เขาขังเราไว้ในกรอบความคิดของเขา โดยเราไม่มีสิทธิแก้ตัวแล้วดิ้นออกจากกรอบได้เลย มันค่อนข้างฉาบฉวย หรือเราเองก็อาจเคยประเมินคนอื่นแบบนั้นก็ได้”
ผมคิดว่าผมจะเป็นชาติพันธุ์อื่นและพูดถึงประเด็นสันติเสรีภาพกับไม่สันติ ชิ้นหนึ่งผมสวมเป็นฮิตเลอร์ผิวขาว ผิวเหลืองเป็น เหมาเจ๋อตง ผิวสีน้ำตาล มหาตมะ คานธีผิวดำ เนลสัน แมนเดลา และสวมเป็นผู้หญิงโมนาลิซา (มีหนวด) จากผลงานของ มาร์แซล ดูว์ช็อง เป็นภาพซ้อนภาพจนภาพเดิมมันเบลอ
อันนี้แสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ตัวผมที่ผมประเมินตัวเอง แต่คือคนอื่นประเมินเรา แล้วเราสวมทับภาพลักษณ์อื่นๆ บางครั้งเราอาจจะต้องเป็นอะไรบ้างที่ไม่ใช่เรา เพื่อให้ทุกอย่างราบรื่น บางครั้งถ้าเรามาพิจารณาที่ตัวเอง เราจะตีความคนอื่นไม่รวดเร็วแบบนี้”
ความหลากหลายของตัวตน อาจจะเป็นการประกอบสร้างตัวตนขึ้นมาใหม่ หรืออีกนัยหนึ่ง คือการขุดคุ้ย ถอดรื้อ ตีแผ่ตัวตนทุกมุม ทุกซอกหลืบของตัวตน ทั้งที่เป็นมาแต่กำเนิด หรือตัวตนที่ได้รับอิทธิพลมาจากผู้อื่นที่หลบซ่อนอำพรางอยู่ให้ออกมาปรากฏแก่สายตา
นิทรรศการ “แฝด 27 : ความเป็นอื่นจากตัวตน” จัดแสดงถึงวันที่ 23 พ.ย. ณ นัมเบอร์วันแกลอรี่ 19 ซอยสีลม 21 สีลม บางรัก