จินตวีร์ วิวัธน์ ราชินีนวนิยายไซไฟ-สยองขวัญ
นวนิยาย “มิติเร้น” ของ จินตวีร์วิวัธน์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์
โดย พริบพันดาว
นวนิยาย “มิติเร้น” ของ จินตวีร์วิวัธน์ ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์ ผสมผสานความสนุกสนานแบบดราม่าอันเข้มข้นและชวนติดตาม ได้ถูกรับเลือกให้เป็น 1 ใน 88 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ จากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) และกรมวิชาการ เมื่อปี 2544 นิยายเรื่องนี้เป็นแนวไซไฟ เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสารต่วยตูนพิเศษรายเดือน ความยาว 20 กว่าบท และถูกนำมารวมเล่ม
มิติเร้น เป็นเรื่องราวของยานมนุษย์ต่างดาวที่พลัดตกลงมา ทำให้มนุษย์ต่างดาวที่รอดชีวิตต้องหลบอยู่ในป่า อีกคนหนึ่งเข้าไปอาศัยอยู่ในร่างมนุษย์โลก ทำให้เกิดอาการคล้ายคนเจ็บป่วยแต่แพทย์ไม่สามารถหาเหตุภายในที่ชัดเจนได้ จนเจ้าของคนไข้และเพื่อนที่ช่วยกันสืบหาภายนอก พบมนุษย์ต่างดาวที่แอบซ่อนอยู่ในป่า พามาพบกับมนุษย์ต่างดาวอีกคนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในร่างมนุษย์ และมนุษย์ต่างดาวทั้งสองพากันกลับดาวที่จากมาโดยสันติ
วิทยานิพนธ์ระดับศิลปศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาภาษาไทย คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในหัวเรื่อง “การวิเคราะห์ฉากตื่นเต้นสำคัญในนวนิยายสยองขวัญของ จินตวีร์ วิวัธน์” (Title Alternative An analysis of dramatic scenes in Chintawi Wiwat’s mystery novels) โดย วิภาพ คัญทัพ ในปี 2547 ให้ข้อมูลว่า แนวคิดและเอกลักษณ์งานเขียนของ จินตวีร์ วิวัธน์ โดยผ่านการพิจารณาองค์ประกอบภายในฉากตื่นเต้นสำคัญ โดยเสนอผลการศึกษาแบบพรรณนาวิเคราะห์ จากนวนิยายของผู้ประพันธ์จำนวน 36 เรื่อง เป็นผลงานที่ตีพิมพ์เผยแพร่ในระหว่างปี 2519-2531
พบว่านวนิยายของ จินตวีร์ วิวัธน์ ให้ความสำคัญแก่การสร้างความขัดแย้งระหว่างตัวละครฝ่ายมนุษย์และตัวละครฝ่ายอำนาจลี้ลับ เป็นภูมิหลังทางจิตใจของตัวละครในฉากตื่นเต้นสำคัญ และเป็นการเสนอแนวคิดเรื่องการทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
นอกจากนี้ ผู้ประพันธ์ยังเลือกใช้องค์ประกอบต่างๆ อย่างพิถีพิถันตั้งใจ โดยใช้ความรู้และความสงสัยใคร่รู้ ทำให้เกิดการติดตาม สืบสวน จินตนาการ และการคาดเดา เพื่อโน้มนำอารมณ์ผู้อ่าน
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งคือ นวนิยายสยองขวัญของ จินตวีร์ วิวัธน์ มีลักษณะคล้ายวรรณกรรมกอธิกใหม่ กล่าวคือรูปทรงสถาปัตยกรรมกอธิกได้รับการออกแบบใหม่ด้วยจินตนาการของผู้ประพันธ์เอง ให้มีความสง่างามแบบผสมผสานสถาปัตยกรรมไทย
ตัวละครที่อาศัยอยู่ในบ้านในฐานะเจ้าของ มีลักษณะทางสังคมที่แตกต่างจากความเป็นสามัญธรรมดา ผู้ประพันธ์กำหนดให้เป็นเจ้าจากดินแดนห่างไกลจากการรับรู้ในชีวิตประจำวันตามปกติของผู้อ่าน และผู้ประพันธ์ออกแบบตัวละครฝ่ายอำนาจลี้ลับอย่างหลากหลาย ไม่ใช่เพียงแต่ภูตผีปีศาจตามความเชื่อแบบไสยศาสตร์เท่านั้น แต่ยังมีทั้งมนุษย์ต่างดาว ต่างภพ และที่ปรากฏในรูปพลังงาน ทั้งที่มาจากภายในตัวมนุษย์เอง และในจักรวาลกว้างใหญ่ ซึ่งสร้างขึ้นด้วยความเชื่อแบบวิทยาศาสตร์
จินตวีร์ วิวัธน์ แสดงให้เห็นว่า แม้จะมีวัตถุประสงค์เพื่อความบันเทิงสำราญอารมณ์แก่ผู้อ่าน แต่นวนิยายสยองขวัญของผู้ประพันธ์มีลักษณะเป็นบันเทิงคดีที่มีคุณค่าในเชิงปรัชญา คือผู้ประพันธ์มีความศรัทธาในความเป็นมนุษย์
บล็อกของชมรมนักอ่านนิยายผี หนังสือผี นิยายสยองขวัญ และประสบการณ์เรื่องเล่าระทึกขวัญ สั่นประสาท เขย่าอารมณ์ ได้ยกย่องให้ จินตวีร์ วิวัธน์ เป็น “ราชินีนักเขียนผีแห่งสยามประเทศ”
นวนิยาย “สาบนรสิงห์” ของเธอ ได้รับการเชิดชูจากบรรดานักอ่านให้เป็นผลงานระทึกขวัญระดับงานชิ้นเยี่ยม หรือมาสเตอร์พีซของ จินตวีร์ วิวัธน์ เนื่องจากเป็นการผสมผสานเกร็ดโบราณในตำนานภารต อย่างนารายณ์สิบปาง กับนวนิยายระทึกขวัญแบบไทยๆ ผสมความคิดทางวิทยาศาสตร์ได้อย่างลงตัว ด้วยความยาวกว่า 1,700 หน้า ไม่ใช่อุปสรรคของการอ่าน เพราะมีฉากตื่นเต้น สนุกสนาน ลุ้นระทึก กับเรื่องราวของพญานรสิงห์ที่ตามหาความรักในอดีตชาติ และเรื่องราวปมเงื่อนต่างๆ ตลอดไปจนถึงบทอวสาน
ข้อมูลจาก “คนบนถนนหนังสือ” ในปี 2527 บอกว่า จินตวีร์ วิวัธน์ ก็คือนักเขียนหญิงนาม จินตนา ปิ่นเฉลียว ภายหลังแต่งงานใช้นามสกุล ภักดีชายแดน ได้ชื่อว่าเป็นกวีหญิงฝีปากกล้า นามปากกา “วิวัธน์” คือชื่อของบิดา วิวัธน์ ปิ่นเฉลียว
เธอเป็นลูกคนสุดท้องในบรรดาพี่น้อง 3 คน เดิมอยู่กับครอบครัวที่ จ.ลำปาง แต่เมื่อจบชั้นมัธยม 6 (แบบสมัยเก่า) จึงย้ายมาเรียนต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา ในกรุงเทพฯ เรียนจบมัธยม 8 เมื่อปี 2500 สอบได้เป็นที่ 3 ของประเทศ แล้วเข้าศึกษาต่อที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ จบเมื่อปี 2506 จากนั้นจึงเข้าทำงานเป็นข้าราชการกองพลังงาน สำนักนายกรัฐมนตรี
ประวัติด้านงานเขียน เริ่มเขียนกลอนตั้งแต่อายุ 10 กว่าปี มีผลงานแพร่หลายตามนิตยสารอยู่เสมอ และกวาดรางวัลมากมาย สำหรับนามปากกา จินตวีร์ วิวัธน์ เริ่มใช้เมื่อปี 2518 ช่วงเดียวกับที่พี่น้องปิ่นเฉลียวเริ่มจัดทำนิตยสารรายเดือนต่วยตูนพิเศษ และมอบให้จินตนาเป็นบรรณาธิการ นำเสนอเรื่องราวลึกลับอิงไสยศาสตร์และวิทยาศาสตร์
จินตนา เคยให้สัมภาษณ์ว่า ที่มาเขียนเรื่องลึกลับเพราะพี่ชาย วาทิน ปิ่นเฉลียว หรือต่วย ชอบอ่านหนังสือประเภทนี้มาก และจะแอบเก็บไว้เป็นอย่างดี กลัวน้องจะหยิบมาอ่าน เพราะรู้ว่าเป็นคนกลัวผี แต่จินตนาพยายามแอบขโมยอ่านทุกเรื่อง แม้ว่าจริงๆ จะเป็นคนกลัวผี ซึ่งเป็นข้อดีของนักเขียนที่เจาะจงเฉพาะแนวลึกลับและผีสาง เพราะเวลาบรรยายความรู้สึกกลัวจะใกล้เคียงกับตัวเอง
จินตนา เสียชีวิตในวันที่ 24 พ.ค. 2531 ขณะอายุเพียง 46 ปี ซึ่งนับแต่นั้นเป็นต้นมาก็ยังไม่มีนักเขียนหญิงคนใดก้าวขึ้นมาแทนที่ตำแหน่งราชินีนิยายสยองขวัญของไทยได้อีกเลย