ชาบัวศิริกว๊านพะเยา ไร้สารพิษดื่มพื่อสุขภาพ
“บัวหลวง” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของการเคารพบูชา
โดย อักษรา ปิ่นนราสกุล
“บัวหลวง” เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของการเคารพบูชา นิยมใช้ถวายเป็นพุทธบูชาของพุทธศาสนิกชนทั่วหัวระแหง “กว๊านพะเยา” เป็นหนองน้ำจืดแห่งใหญ่ในภาคเหนือที่มีบัวหลวงจำนวนมาก แพร่พันธุ์ดาษดื่นอย่างดงามในกว๊านพะเยา ทั้งบัวหลวงสีขาว และสีชมพู ด้วยภูมิปัญญาและความขยันของกลุ่มสตรีบ้านห้วยเคียน หมู่ 10 ต.ท่าจำปี อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา ได้ศึกษาเรียนรู้เรื่องของบัวหลวง จนทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์พัฒนา “บัวหลวง” มาเป็น “ชาบัว” กว๊านพะเยา กลายเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพที่มีชื่อระดับประเทศ
ศิริลักษณ์ ดวงพันธุ์ ผู้ประกอบการเจ้าของผลิตภัณฑ์ “ชาบัวศิริ” กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบัวศิริบ้านห้วยเคียน หมู่ 10 ต.ท่าจำปี อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา กล่าวว่า “เนื่องจากได้รับความรู้เรื่องคุณค่าและคุณประโยชน์ของบัวหลวง จากสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ที่มีผลงานวิจัยระบุว่า ใบชาบัวหลวงอายุ 9 เดือน ไม่มีสารกาเฟอีน ไม่มีสารอัลคาลอย มีส่วนช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล และช่วยเร่งการเผาผลาญอาหาร ประกอบกับกว๊านพะเยามีบัวหลวงกระจายอยู่ทั่วบริเวณ ดังนั้นตนจึงสนใจหันมาผลิตชาจากบัวหลวงจากกว๊านพะเยา ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา และได้จดทะเบียนเป็น
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนฯ ดำเนินการผลิตอย่างจริงจังเมื่อปี 2559 จนถึงปัจจุบัน ยังการันตีด้วยรางวัล “นวัตกรรมก้าวไกล” ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ไทยสู่สากล จากสถาบัน วว. ในปี 2559
ในกระบวนการผลิต “ศิริลักษณ์” เล่าว่า “กระบวนการผลิตชาบัวศิริ ซึ่งมีวัตถุดิบเป็นบัวหลวงจากกว๊านพะเยา ทางกลุ่มได้นำส่วนประกอบของบัวหลวง 5 ส่วน ประกอบด้วย ใบ ก้าน ดอก เกสร และดีบัว ผ่านกระบวนการอบแห้งและฆ่าเชื้อด้วยตู้อบพลังแสงอาทิตย์ จากนั้นนำมาบรรจุในบรรจุภัณฑ์ที่สะอาด และป้องกันความชื้นอย่างดี ส่งออกจำหน่ายให้แก่ผู้ที่สนใจในการดูแลสุขภาพ และเป็นของฝากประเภทเครื่องดื่มสมุนไพรเพื่อสุขภาพของ จ.พะเยา โดยเฉพาะเป็นบัวหลวงจากกว๊านพะเยา
คุณค่าชาบัวหลวงจากกว๊านพะเยา จากการนำส่วนประกอบทั้ง 5 ส่วนมาแปรรูปเป็นชา พบว่าส่วนที่มีคุณค่าสูงสุด ที่ดีต่อสุขภาพของผู้ที่ดื่มชา คือ “ดีบัว” ที่เป็นใจสีเขียวสดอยู่ในเม็ดบัว ส่วนนี้จะค่อยแกะออกอย่างเบามือ และนำไปอบในตู้เช่นเดียวกับส่วนอื่น ด้วยความสดของดีบัว จึงทำให้มีคุณค่าสูงที่สุดในบรรดาส่วนประกอบของชาบัวทั้งหมด
ทั้งนี้ บัวหลวงในกว๊านพะเยาที่สามารถนำมาแปรรูปเป็นชาบัวได้ คือ บัวหลวงชนิดดอกสีชมพู ขณะที่บัวหลวงดอกสีขาวไม่สามารถทำได้ เนื่องจากนำมาทดลองแล้ว ดอกสีขาวจะเน่า ดังนั้นจึงใช้แต่สีชมพู เมื่อใช้วัตถุดิบในชุมชน ผู้ผลิตเป็นคนในชุมชน ทำให้ช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชน ทั้งชาวประมงที่รับจ้างเก็บบัวหลวง สมาชิกกลุ่มฯ อีกทั้งเป็นการประชาสัมพันธ์กว๊านพะเยาและ จ.พะเยาด้วย”
ไม่เพียงแต่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบัวกว๊านพะเยา เท่านั้น ที่มีรายได้จากการแปรรูปบัวหลวง หากแต่ยังทำให้เกิดการจ้างงาน ส่งต่อการกระจายรายได้สู่ครอบครัวชาวประมงและชุมชนรอบกว๊านพะเยาได้อีก
“ทุกเช้าจะเห็นภาพของชาวประมงออกพายเรือหาปลาในกว๊านพะเยาตั้งแต่เช้ามืด แสงอาทิตย์ยังไม่ทอแสงที่ขอบฟ้า ชาวประมงจะใช้เวลานั้นเก็บบัวหลวง เลือกบัวหลวงสีชมพู และต้องเป็นบัวถูกไอน้ำจับ เป็นบัวหลวงที่สดชื่น ไม่ถูกแสงแดดแผดเผา ชาวประมงจะเก็บและนำมาขายให้กับกลุ่มฯ เป็นรายได้เสริมรอบละ 300 บาท แม้ว่าในเช้ามืดวันใดที่ไม่ได้ปลาก็จะไม่เสียเวลาเปล่า เพราะมีรายได้จากการเก็บบัวหลวงขายแล้ว
การเก็บบัว ชาวประมงจะเก็บ 4 ส่วน คือ ใบ ก้าน ดอก ฝักบัว จากนั้นกลุ่มฯ จะนำมาทำความสะอาด แยกชิ้นส่วน และหั่นเพื่อเข้าตู้อบแห้งและทำการฆ่าเชื้อในตู้อบพลังแสงอาทิตย์ ก่อนที่จะนำไปบรรจุภัณฑ์เพื่อส่งจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคต่อไป
รายได้จากการแปรรูปบัวหลวงกว๊านพะเยา เป็นชาบัว ทำให้ชาวประมงชุมชนมีความมั่นคงด้านอาชีพ เพราะมีรายได้จากวัตถุดิบในท้องถิ่น ทำให้คนในท้องถิ่นร่วมกันรักษาธรรมชาติของกว๊านพะเยา และอนุรักษ์บัวหลวงกว๊านพะเยาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของ จ.พะเยาอีกทางหนึ่ง”
ระบบการตลาด “ศิริลักษณ์” ได้จำหน่ายผลิตภัณฑ์ในช่องทางการตลาดที่หลากหลาย เช่น การจัดบูธออกร้านจำหน่ายในเทศกาลต่างๆ ทั้งในและต่างจังหวัด และในกรุงเทพฯ การขายทางออนไลน์ ผ่านเฟซบุ๊ก ชื่อ “บัวศิริ ชาบัวกว๊านพะเยา” หรือโทร. 08-999-7363