posttoday

ดาวหางวีร์ทาเนน

11 พฤศจิกายน 2561

ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561

โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด 

ช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2561 คุณผู้อ่านที่ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์อาจเริ่มได้ยินข่าวคราวเกี่ยวกับดาวหางดวงหนึ่งที่มีกำหนดจะผ่านใกล้โลกที่สุดในกลางเดือน ธ.ค.ที่จะถึงนี้ ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่าวีร์ทาเนน เป็นดาวหางรายคาบที่เข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดทุกๆ 5.4 ปี การมาของดาวหางในปีนี้นับว่าน่าสนใจที่สุดในรอบหลายปีนับตั้งแต่ค้นพบ เนื่องจากดาวหางจะผ่านใกล้โลก มีความเป็นไปได้ที่ดาวหางจะมีความสว่างมากพอให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าจากสถานที่ซึ่งท้องฟ้ามืดสนิท ไม่มีแสงไฟฟ้าและเมฆหมอกรบกวน

ดาวหางวีร์ทาเนนมีชื่ออย่างเป็นทางการในบัญชีดาวหางของสหพันธ์ดาราศาสตร์สากลว่า 46 พี/วีร์ทาเนน (46P/Wirtanen) ตัวอักษร P หมายความว่าเป็นดาวหางรายคาบ คือมีคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์น้อยกว่า 200 ปี ตัวเลขนำหน้าเป็นลำดับในบัญชีดาวหางรายคาบ คาร์ล เอ. วีร์ทาเนน นักดาราศาสตร์ชาวอเมริกัน ค้นพบดาวหางดวงนี้ในภาพถ่ายที่ถ่ายไว้เมื่อวันที่ 15 ม.ค. 1948 จากโครงการสำรวจท้องฟ้าของหอดูดาวลิกในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

วงโคจรของดาวหางวีร์ทาเนน หรือ 46 พี เป็นวงรี จุดใกล้ดวงอาทิตย์อยู่ไกลกว่าวงโคจรของโลกออกเป็นเล็กน้อย ส่วนจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่เกือบถึงวงโคจรของดาวพฤหัสบดี ระนาบวงโคจรเอียงทำมุมเพียง 11 องศา กับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ดาวหางมีโอกาสผ่านใกล้โลก ดาวอังคาร และดาวพฤหัสบดี ผลการสังเกตการณ์ที่ผ่านมา นักดาราศาสตร์วัดได้ว่าดาวหางดวงนี้มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 1.2 กิโลเมตร

วันที่ 16 ธ.ค. 2561 เวลาประมาณ 2 ทุ่ม ตามเวลาประเทศไทย ดาวหางวีร์ทาเนนจะผ่านใกล้โลกที่สุดด้วยระยะห่าง 0.077 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 11.6 ล้านกิโลเมตร (1 หน่วยดาราศาสตร์ คือระยะห่างเฉลี่ยระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์) เทียบได้กับระยะทางประมาณ 30 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์ ขณะนั้นดาวหางอยู่สูงบนท้องฟ้าทิศตะวันออกในกลุ่มดาววัว คาดว่าท้องฟ้าฤดูหนาวของประเทศไทยอาจเป็นโอกาสเหมาะสำหรับการสังเกตดาวหางดวงนี้

บันทึกสถิติการเข้าใกล้ของดาวหางตามรายงานของศูนย์ดาวเคราะห์น้อย สหพันธ์ดาราศาสตร์สากล ระบุว่า ดาวหางที่เคยใกล้โลกที่สุดในประวัติศาสตร์คือ ดาวหางเลกเซลล์ (D/1770 L1 (Lexell)) เมื่อวันที่ 1 ก.ค. 1770 ห่างโลกที่ระยะ 0.0151 หน่วยดาราศาสตร์ หรือประมาณ 6 เท่าของระยะห่างระหว่างโลกกับดวงจันทร์

ปัจจุบันดาวหางวีร์ทาเนนยังมีความสว่างค่อนข้างต่ำ จำเป็นต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาขนาดใหญ่ส่องดูจึงจะเห็นได้ โดยปรากฏอยู่ในกลุ่มดาวเตาหลอม ผลการสังเกตการณ์นับตั้งแต่เดือน พ.ค. 2561 มีแนวโน้มว่าดาวหางกำลังสว่างขึ้น ซึ่งเป็นไปตามธรรมชาติและเป็นไปตามความคาดหมาย เนื่องจากดาวหางกำลังเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากขึ้น ความร้อนและการแผ่รังสีจากดวงอาทิตย์ทำให้น้ำแข็งบนดาวหางระเหิด พ่นฝุ่นและแก๊สออกไปรอบๆ กลายเป็นเป็นหัวและหางของดาวหาง

หากดาวหางวีร์ทาเนนมีพัฒนาการไปในทิศทางใกล้เคียงกับที่พยากรณ์ไว้ คาดว่าดาวหางจะสว่างขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอยู่ในกลุ่มดาวเตาหลอม ซึ่งเป็นกลุ่มดาวที่มีดาวสมาชิกไม่สว่าง อยู่ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของกลุ่มดาวนายพราน (ดาวเต่าของไทย) เคลื่อนไปทางทิศเหนือ ผ่านพื้นที่ของกลุ่มดาวซีตัสและกลุ่มดาวแม่น้ำในช่วงปลายเดือน พ.ย.-ต้นเดือน ธ.ค. จากนั้นเข้าสู่กลุ่มดาววัว โดยผ่านจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 12 ธ.ค. 2561

ขณะที่ดาวหางใกล้โลกที่สุดในคืนวันที่ 16 ธ.ค. 2561 หรือ 4 วัน หลังจากใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด เราสามารถระบุตำแหน่งของดาวหางวีร์ทาเนนได้ค่อนข้างง่าย เพราะดาวหางอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ เป็นบริเวณซึ่งมีดาวสว่างปานกลางหลายดวงอยู่เป็นกระจุก จึงสังเกตเห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า ตำแหน่งของดาวหางอยู่ใกล้เคียงแนวเส้นที่ลากระหว่างกระจุกดาวลูกไก่ถึงดาวอัลเดบารันหรือตาวัว ซึ่งเป็นดาวฤกษ์สว่างที่สุดในกลุ่มดาววัว

สำหรับตัวดาวหางเอง คาดว่าอาจสว่างที่สุดด้วยโชติมาตรหรืออันดับความสว่างประมาณ 3 หรือ 4 (เป็นการคาดหมายจากข้อมูลในอดีต ดาวหางอาจจางกว่านี้ก็ได้) นักดาราศาสตร์บอกความสว่างของวัตถุท้องฟ้าเป็นตัวเลข โดยยิ่งมีค่าน้อยยิ่งสว่าง ดาวโชติมาตร 6 เป็นดาวจางที่สุดที่คนสายตาปกติจะเห็นได้ด้วยตาเปล่าภายใต้ท้องฟ้ามืด ในทางทฤษฎี ดาวหางจึงสว่างพอจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า

เวลาที่ได้ยินว่ามีวัตถุท้องฟ้าที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า หลายคนอาจจะนึกถึงสิ่งที่เมื่อมองไปบนท้องฟ้าแล้วสามารถเห็นได้เลย แต่ในหลายกรณีซึ่งรวมถึงกรณีนี้ มีข้อจำกัดและรายละเอียดที่เราต้องทำความเข้าใจเสียก่อน ซึ่งอาจจะทำให้ความหวังที่จะเห็นดาวหางดวงนี้ด้วยตาเปล่าในทางปฏิบัติอาจไม่ง่ายนัก

การระบุความสว่างของดาวหางหมายถึงความสว่างโดยรวมทั้งหมดของดาวหาง ปัญหาอยู่ตรงที่ดาวหางมีลักษณะปรากฏที่ไม่เป็นจุดเหมือนดาว แต่มีการแผ่กระจายออกเป็นหัวดาวหางซึ่งโดยทั่วไปมีลักษณะเป็นทรงกลม และหางซึ่งยืดยาวออกไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และตรงข้ามกับทิศทางการเคลื่อนที่ ดาวหางแต่ละดวงก็มีลักษณะแตกต่างกัน บางดวงมีแค่หัว แทบมองไม่เห็นหาง บางดวงมีหางยาว แต่ไม่สว่างจะเห็นหางได้ชัดเจนในภาพถ่ายเท่านั้น

สำหรับกรณีของดาวหางวีร์ทาเนน ซึ่งจะมาใกล้โลกที่สุดในกลางเดือน ธ.ค.นี้ การที่ดาวหางอยู่ใกล้โลกทำให้ดาวหางมีความสว่างมากกว่าตอนอยู่ไกลก็จริง แต่ก็ทำให้หัวดาวหางแผ่กว้างออกเป็นดวงโต คาดว่าอาจมีขนาดปรากฏพอๆ กับดวงจันทร์เต็มดวง หรืออาจใหญ่กว่าได้เกือบ 2 เท่า แปลว่าความสว่างของดาวหางจะถูกเกลี่ยจนทำให้มีความสว่างพื้นผิวต่ำ และหางจะไม่ยาวมาก การสังเกตดาวหางจากเมืองใหญ่ที่มีแสงและมลพิษรบกวนจึงไม่น่าจะเป็นไปได้ หรือเป็นไปได้ยากมาก ยกเว้นจะมีการปะทุความสว่างขึ้นอย่างผิดปกติ ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้น การสังเกตดาวหางวีร์ทาเนนจะทำได้ดีจากสถานที่ห่างไกลจากตัวเมือง ยิ่งมืด ห่างไกลจากแสงรบกวนมากเท่าใดก็มีโอกาสเห็นมากขึ้นเท่านั้น

ดาวหางหลายดวงมีพฤติกรรมที่แปลกและไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ เช่น อยู่ๆ ก็สว่างขึ้นมาหลายเท่าโดยไม่ทราบสาเหตุ หรืออยู่ๆ ก็จางลงกว่าที่คาดหมายไว้ ข้อมูลการสังเกตการณ์ในช่วงต่อจากนี้ไปจนถึงต้นเดือน ธ.ค. จะเป็นข้อมูลสำคัญ ซึ่งจะบอกได้ว่าดาวหางจะสว่างแค่ไหนในช่วงที่ใกล้โลกที่สุด

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า (11-18 พ.ย.)

ท้องฟ้าเวลาหัวค่ำมีดาวพุธ ดาวเสาร์ และดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์สว่าง 3 ดวง ที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้นสัปดาห์เป็นช่วงท้ายๆ ที่ยังมีโอกาสเห็นดาวพุธอยู่ใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตก หลังจากนั้นดาวพุธจะเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์และใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นจนไม่สามารถสังเกตเห็นได้

ดาวเสาร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้ามากกว่าดาวพุธ โดยอยู่ในกลุ่มดาวคนยิงธนูบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตก ค่อนไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ สังเกตดาวเสาร์ได้จนใกล้ตกลับขอบฟ้าในเวลาประมาณ 2 ทุ่มครึ่ง มองสูงขึ้นไปบนท้องฟ้าทิศใต้จะเห็นดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ มีเวลาสังเกตดาวอังคารได้นานหลายชั่วโมงจนกระทั่งใกล้ตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืนครึ่ง

ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมีดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์สว่างอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก ดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว กำลังค่อยๆ เคลื่อนเข้าใกล้ดาวรวงข้าวหรือดาวสไปกา ซึ่งเป็นดาวสว่างในกลุ่มดาวหญิงสาวมากขึ้น โดยจะใกล้กันที่สุดในเช้ามืดวันที่ 15 พ.ย. ที่ระยะห่าง 1.2 องศา

สัปดาห์นี้เป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าในเวลาหัวค่ำของทุกวัน คืนวันที่ 11 พ.ย. จะเห็นจันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 3 องศา วันที่ 15 พ.ย. ดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงขณะอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล หัวค่ำวันที่ 16 พ.ย. ดวงจันทร์ขยับไปอยู่ใกล้ดาวอังคารที่ระยะ 3 องศา

ปลายสัปดาห์คาดว่าฝนดาวตกสิงโตจะมีอัตราสูงสุด โดยเฉพาะในเช้ามืดวันที่ 18 พ.ย. 2561 ฝนดาวตกสิงโตมีจุดกระจายอยู่บริเวณหัวของกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งจะปรากฏอยู่สูงเหนือศีรษะในเวลาเช้ามืด ฝนดาวตกกลุ่มนี้เคยมีอัตราสูงและเห็นได้เป็นจำนวนมากในช่วงปี 2541-2545 นับได้หลายร้อยดวงต่อชั่วโมง ปัจจุบันลดลงมาก เหลือเพียงราว 10-15 ดวง/ชั่วโมงเท่านั้น เนื่องจากโลกไม่ได้เคลื่อนผ่านบริเวณที่มีสะเก็ดดาวอยู่หนาแน่น