posttoday

ดาวประกายพรึกกับดาวหางดวงใหม่

18 พฤศจิกายน 2561

คนไทยเรียกดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำว่าดาวประจำเมือง

โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด 

คนไทยเรียกดาวศุกร์ที่ปรากฏบนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำว่าดาวประจำเมือง และเมื่อดาวศุกร์ย้ายไปอยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดเราจะเรียกว่าดาวประกายพรึก หรือดาวรุ่ง ขณะนี้ดาวศุกร์กำลังเป็นดาวประกายพรึก เราสามารถเห็นดาวศุกร์ในเวลาเช้ามืดเช่นนี้ได้ทุกวัน ต่อเนื่องไปถึงกลางปี 2562

ดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์สว่างที่สุดเมื่อมองจากโลก สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดาวศุกร์สว่างสุกใส เห็นได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน ก็คือระยะห่างจากดวงอาทิตย์และระยะห่างจากโลกที่ไม่ไกลกันนัก ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ดาวศุกร์มีบรรยากาศหนาแน่นซึ่งสะท้อนแสงอาทิตย์ได้ดี

ดาวสว่างที่เห็นอยู่ใกล้ดาวศุกร์ ห่างไปทางขวามือด้านบนในช่วงนี้ คือ ดาวรวงข้าวหรือดาวสไปกา (Spica) เป็นหนึ่งในดาวฤกษ์ที่สว่างที่สุด 20 ดวงบนท้องฟ้า แต่เมื่อเทียบกับดาวศุกร์แล้ว ดาวรวงข้าวดูหมองลงไปทีเดียว ในความเป็นจริง ด้วยระยะห่างจากโลกที่เท่ากัน เราสามารถบอกได้ว่าเมื่อเทียบกับดาวศุกร์แล้ว ดาวรวงข้าวจะเป็นดาวที่สว่างมาก เราเห็นดาวรวงข้าวสว่างน้อยกว่าดาวศุกร์ก็เพราะระยะห่างที่ไกลถึง 250 ปีแสง

การปรากฏใกล้กันระหว่างดาวศุกร์กับดาวรวงข้าวบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืดเช่นนี้เกิดขึ้นทุกๆ 8 ปี และเกิดในเดือนเดียวกัน คือ เราเคยเห็นดาวทั้งสองอยู่ใกล้กันเมื่อเดือน พ.ย. 2553 และจะเห็นได้อีกในเดือน พ.ย. 2569 สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะคาบการโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวศุกร์มีความพ้องกับโลก เมื่อโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 8 รอบ ดาวศุกร์จะโคจรรอบดวงอาทิตย์ครบ 13 รอบ

ขณะที่เรามองเห็นดาวศุกร์อยู่ในกลุ่มดาวหญิงสาว เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในช่วงสัปดาห์นี้ เรากำลังมองไปบนท้องฟ้าบริเวณที่มีดาวหางซึ่งเพิ่งค้นพบใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ปรากฏอยู่ห่างไปทางซ้ายมือของดาวศุกร์ ดาวหางดวงนี้มีชื่อว่ามัคโฮลซ์-ฟุจิกะวะ-อิวะโมะโตะ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ ซี/2018 วี 1 (C/2018 V1 (Machholz-Fujikawa-Iwamoto)) ดาวหางมีชื่อยาวเช่นนี้เนื่องจากผู้ค้นพบในเวลาไล่เลี่ยกันมีทั้งหมด 3 คนได้แก่ โดนัลด์ มัคโฮลซ์ ชาวอเมริกัน ชิเงะฮิซะฟุจิกะวะ และมะซะยุกิ อิวะโมะโตะ สองคนหลังนี้เป็นชาวญี่ปุ่น

โดนัลด์ มัคโฮลซ์ เป็นผู้รายงานการค้นพบดาวหางดวงนี้เป็นคนแรกเมื่อวันที่ 7 พ.ย. 2561 ชื่อของเขาเป็นที่คุ้นหูในหมู่นักดาราศาสตร์ที่สนใจเกี่ยวกับดาวหาง เนื่องจากเขามีผลงานการค้นพบดาวหางมาแล้วหลายดวง ดวงนี้เป็นดวงที่ 12 ที่สำคัญ คือ การค้นพบของเขามาจากการเห็นด้วยตาผ่านการใช้กล้องโทรทรรศน์กวาดหาดาวหางบนท้องฟ้า เป็นวิธีล่าดาวหางแบบดั้งเดิม ซึ่งปัจจุบันเป็นการยากที่จะพบดาวหางดวงใหม่ด้วยวิธีนี้

โดนัลด์ มัคโฮลซ์ เป็นนักล่าดาวหางระดับตำนานสำหรับชาวอเมริกัน เขาเริ่มค้นหาดาวหางตั้งแต่ปี 2518 กว่าจะค้นพบดาวหางดวงแรกเมื่อปี 2521 ก็ใช้เวลาในการค้นหาไปถึง 1,700 ชั่วโมง หลังจากนั้นดาวหางดวงที่ 2 ที่เขาค้นพบมาถึงเมื่อปี 2528 หลังจากใช้เวลาไปอีก 1,742 ชั่วโมง ดาวหางดวงล่าสุดเป็นดาวหางดวงที่ 12 ห่างจากดวงที่ 11 ซึ่งค้นพบเมื่อปี 2553 เป็นระยะเวลาของการค้นหานาน 746 ชั่วโมง ปัจจุบันนี้เขามีอายุมากถึง 66 ปีแล้ว แต่ยังคงล่าดาวหางด้วยกล้องโทรทรรศน์ชนิดสะท้อนแสงขนาดหน้ากล้อง 18 นิ้ว สำหรับผู้ค้นพบร่วมอีกสองคนซึ่งเป็นนักดาราศาสตร์สมัครเล่นชาวญี่ปุ่น ได้รายงานการค้นพบในวันเดียวกัน โดยมาจากการตรวจพบในภาพถ่าย อันเป็นวิธีการค้นหาดาวหางอีกวิธีหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน

ขณะนี้ดาวหางมัคโฮลซ์-ฟุจิกะวะ-อิวะโมะโตะ มีความสว่างน้อยเกินกว่าจะเห็นได้ด้วยตาเปล่า กำลังมีความสว่างเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามระยะห่างที่เข้าใกล้ดวงอาทิตย์และโลกมากขึ้น โดยจะใกล้โลกที่สุดในวันที่ 27 พ.ย. และใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดในวันที่ 3 ธ.ค. 2561 ห่างจากดวงอาทิตย์ที่ระยะไกลประมาณวงโคจรของดาวพุธ อย่างไรก็ตาม รายงานความสว่างในปัจจุบันและแนวโน้มความสว่างในอนาคต คาดว่ายังคงสังเกตได้ยากด้วยตาเปล่าและมีตำแหน่งอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า จึงไม่ใช่ดาวหางที่คนทั่วไปจะมองเห็นได้ง่าย

ปรากฏการณ์ท้องฟ้า(18-25 พ.ย.)

ดาวประกายพรึกกับดาวหางดวงใหม่

ดาวพุธซึ่งอยู่บนท้องฟ้าเวลาหัวค่ำตลอดช่วง 3 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เคลื่อนกลับเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ไปแล้ว ทำให้ท้องฟ้าหลังดวงอาทิตย์ตกเหลือแต่ดาวเสาร์กับดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์สว่างสองดวงที่เห็นได้ง่ายด้วยตาเปล่า

ดาวเสาร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกไม่มากนักในกลุ่มดาวคนยิงธนู สัปดาห์นี้ดาวเสาร์จะตกลับขอบฟ้าหลัง 2 ทุ่มเล็กน้อย จากตำแหน่งของดาวเสาร์ ให้มองสูงขึ้นไปทางซ้ายมือ บนท้องฟ้าทิศใต้จะเห็นดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปในแต่ละคืน ดาวอังคารจะเคลื่อนต่ำลงไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ตกลับขอบฟ้าราวเที่ยงคืนครึ่ง

ท้องฟ้าเวลาเช้ามืดมีดาวศุกร์เป็นดาวเคราะห์สว่างดวงเดียวอยู่เหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในกลุ่มดาวหญิงสาว หลังจากใกล้กันที่สุดในสัปดาห์ที่แล้ว ดาวศุกร์ยังคงอยู่ใกล้ดาวรวงข้าว และกำลังเคลื่อนห่างออกมามากขึ้น

สัปดาห์นี้ช่วงแรกยังเป็นข้างขึ้น ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าในเวลาหัวค่ำของทุกวัน ดวงจันทร์สว่างเต็มดวงในวันที่ 23 พ.ย. 2561 นั่นแปลว่าคืนวันลอยกระทงซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 22 พ.ย. ดวงจันทร์จะยังไม่เต็มดวงสมบูรณ์ หากดูดวงจันทร์ด้วยกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาจะเห็นได้ว่าดวงจันทร์ไม่เป็นดวงกลม ขอบด้านที่หันไปทางทิศตะวันออกของดวงจันทร์จะไม่เรียบและมีส่วนมืดเป็นส่วนบางๆ ให้เห็นได้

สถานีอวกาศนานาชาติหรือไอเอสเอส โคจรรอบโลกที่ความสูงประมาณ 400 กิโลเมตร ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตาเปล่าเมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบ โดยมองเห็นเป็นดาวสว่างเคลื่อนที่บนท้องฟ้า มีโอกาสเห็นได้เฉพาะในเวลาเช้ามืดและหัวค่ำ ที่น่าสนใจมีดังนี้

วันจันทร์ที่ 19 พ.ย. 2561 กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียงเริ่มเห็นสถานีอวกาศปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 19.22 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางขวามือของดาวเสาร์ ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 19.25 น. ที่มุมเงย 23 องศา หลังจากนั้นไม่เกินหนึ่งนาทีจะสิ้นสุดการมองเห็นเมื่อสถานีอวกาศเข้าสู่เงามืดของโลก

เช้ามืดวันอังคารที่ 20 พ.ย. 2561 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏขณะออกจากเงามืดของโลกทางทิศตะวันตกในเวลา 05.16 น. ที่มุมเงย 36 องศา จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นไปทางซ้ายมือ ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 05.17 น.ที่มุมเงย 64 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดการมองเห็นใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันออกเฉียงใต้ในเวลา 05.20 น.

หัวค่ำวันอังคารที่ 20 พ.ย. 2561 สถานีอวกาศเริ่มปรากฏใกล้ขอบฟ้าทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลา 18.30 น. จากนั้นเคลื่อนสูงขึ้นโดยผ่านใกล้ดาวเสาร์ ถึงจุดสูงสุดบนท้องฟ้าด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือในเวลา 18.33 น. ที่มุมเงย 63 องศา แล้วเคลื่อนต่ำลง สิ้นสุดการมองเห็นขณะสถานีอวกาศเข้าสู่เงามืดของโลกทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือในเวลา 18.36 น. ที่มุมเงย 12 องศา