เหรียญหล่อเจ้าสัวหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นครปฐม
ชื่อเจ้าสัวเป็นมงคลนาม เป็นชื่อเรียกคหบดีชาวจีนในอดีต
โดย อาจารย์ชวินทร์ chavintapoti@gmail.com
ชื่อเจ้าสัวเป็นมงคลนาม เป็นชื่อเรียกคหบดีชาวจีนในอดีต เมื่อมาสร้างเป็นพระเครื่องก็ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะมีความเชื่อว่าเมื่อนำมาบูชา ย่อมเด่นในด้านค้าขาย โชคลาภและประสบความสำเร็จดั่งชื่อของพระเครื่องคือเจ้าสัว
- เมื่อหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เกจิอาจารย์ชื่อดัง จ.นครปฐม ได้จัดสร้างเหรียญซุ้มกระจังเพื่อแจกเป็นที่ระลึกในงานทำบุญฉลองอายุครบ 7 รอบของหลวงปู่บุญนั้นบรรดาเจ้าสัวในย่านนครชัยศรี
ซึ่งได้รับแจกจากการมาร่วมทำบุญกับหลวงปู่บุญ ต่างพากันปีติที่การค้าการขายดีมากขึ้นจากการบูชาเหรียญรุ่นนี้ จนได้นามว่าเหรียญเจ้าสัวในเวลาถัดมา เหรียญที่นำมาให้ชมสวยสุดซึ้งสภาพแบบนี้การเช่าหาหลักล้าน
- การสร้างเหรียญเจ้าสัวนั้น ก็เหมือนหล่อพระแบบโบราณทั่วไป คือ ทำเป็นช่อด้วยดินไทย เทหล่อด้วยเนื้อโลหะเหลวที่หลอมด้วยความร้อนสูง พอเย็นลงก็ทุบดินออกเบ้าพิมพ์ แล้วตัดองค์พระออกมาจากช่อชนวน ตกแต่งด้วยตะไบทั้งด้านข้างและด้านหลัง แล้วจึงเชื่อมหูเหรียญในภายหลัง
- แม่งานในการสร้างพระชุดนี้ คือ พระวินัยกิจโกศล เจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ในสมัยนั้น หลังจากหล่อพระเสร็จ และหลวงปู่ได้ปลุกเสกเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระวินัยกิจโกศลได้ขอแบ่งพระซุ้มกระจังนี้จำนวนหนึ่งนำกลับไปแจกแก่ญาติโยมที่วัดกัลยาณมิตร กรุงเทพฯ
- พระชุดที่นำไปออกที่วัดกัลยาณมิตร เนื้อหาจะออกทองผสมแก่ทองเหลือง มากกว่าทองแดง แต่พิมพ์ทรงทั้งหมด เป็นพระพิมพ์เดียวกัน สร้างและปลุกเสกพร้อมกันกับพระที่หลวงปู่บุญแจกเองที่วัดกลางบางแก้วทั้งหมด
- หลังจากนั้นหลวงปู่บุญได้นำพระที่เหลือจากการแจกจ่ายทั้งหมดบรรจุไว้บนเพดานมณฑปพระพุทธบาทจำลองภายในวัด ต่อมาเมื่อปี 2516 วัดเปิดกรุนำเหรียญหล่อเจ้าสัวนี้ออกมาให้ชาวบ้านทำบุญบูชา เพื่อนำปัจจัยบูรณะวัด
- อัตราทำบุญสำหรับเหรียญเจ้าสัวในขณะนั้น เนื้อเงิน 200 บาท เนื้อทองแดง 100 บาท พระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับเนื้อผงยาวาสนา องค์ละ 100 บาท แต่ปัจจุบันราคาเช่าหาสะสม เหรียญเจ้าสัวทะลุสู่หลักล้านแล้ว ในขณะที่พิมพ์เศียรโล้นเนื้อผงยาวาสนาราคาเช่าหาสภาพสวยๆ อยู่ที่หลักแสนปลาย-หลักล้านต้นเท่านั้น ถือได้ว่าเหรียญเจ้าสัวมีราคาเช่าหาแพงที่สุดในกลุ่มพระเครื่องของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว
- เหรียญเจ้าสัว มีลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ หูเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธ นั่งขัดสมาธิเพชรบนอาสนะฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างมีกรอบซุ้มเรือนแก้ว 2 เส้นขนานกัน กรอบซุ้มหยักเข้ารูป พระเกศองค์แหลมเรียวยาวเกือบจรดเส้นกรอบซุ้ม พระเมาลีเป็นตุ่ม มีรายละเอียดที่เส้นสังฆาฏิ พระพาหากลม
- ด้านหลังเหรียญมีรอยจารตัวเฑาะว์ ซึ่งเป็นการจารโดยหลวงปู่เพิ่ม และมีรอยตะไบด้านหลังและด้านข้างเพื่อแต่งพิมพ์ให้สวยงามเรียบร้อย หูเหรียญต้องมีร่องรอยเชื่อมหู ซึ่งเป็นรอยเก่าปรากฏอยู่ ด้านของพุทธคุณนั้น เด่นทางด้านโชคลาภ ทำมาค้าขาย และทางด้านแคล้วคลาด เชื่อกันว่าผู้ที่บูชาเหรียญเจ้าสัวล้วนจะมีฐานะร่ำรวยขึ้นตามลำดับ
- พระเครื่องของหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว นอกจากมีเหรียญหล่อเจ้าสัวที่ท่านนับได้ว่าเป็นต้นตำรับแล้ว ยังมีพระพิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ ซึ่งมีทั้งเนื้อผงยาจินดามณีชุบรักและเนื้อดิน, พระบูชาไม้แกะ พระเนื้อโลหะ รวมถึงเครื่องรางและเบี้ยแก้, เม็ดยาวาสนาจินดามณี ที่โด่งดังเป็นที่ต้องการของนักสะสมเช่นกัน
- หลวงปู่บุญ เกิดที่ ต.บ้านนางสาว อ.ตลาดใหม่ เมืองนครชัยศรี มณฑลนครชัยศรี จ.นครปฐม เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 8 ปีวอก จุลศักราช 1210 สัมฤทธิศก เวลาใกล้รุ่ง ตรงกับวันที่ 3 ก.ค. 2391
- ประวัติของท่านจากบันทึกของพระวินัยกิจโกศล (ตรี จนฺทสโร ป.ธ.7) อดีตเจ้าอาวาสวัดกัลยาณมิตร ปี 2471 ในหนังสือ “บุญวิธี” ว่าเมื่อยังเยาว์เป็นไข้หนักถึงแก่สลบไม่หายใจ พวกผู้ใหญ่เข้าใจว่าตายเสียแล้ว ระหว่างที่จะเอาไปฝังได้กลับฟื้นขึ้นมา และได้รับการรักษาพยาบาลต่อจนหายเป็นปกติ บิดามารดาได้ถือเอาเรื่องหายจากไข้ ครั้งนั้นเป็นนิมิตดี จึงให้ชื่อว่า “บุญ” ท่านละสังขารอย่างสงบเมื่อวันจันทร์ที่ 30 มี.ค. 2478 เวลา 10.45 น. พอดีสิริอายุได้ 87 ปี พรรษาที่ 66