วันนี้ของเรา พรุ่งนี้ของ AI
ท่ามกลางบรรยากาศซึ่งหลายอาชีพกำลังกังวลว่า AI
โดย ธเนศน์ นุ่นมัน
ท่ามกลางบรรยากาศซึ่งหลายอาชีพกำลังกังวลว่า AI : Artificial Intelligence หรือปัญญาประดิษฐ์ ระบบที่ใช้ตัดสินใจ เปรียบเทียบตามข้อมูลที่ป้อนมา แล้วเลือกว่าจะทำอะไร คอมพิวเตอร์สามารถคิดหาเหตุผลได้ เรียนรู้ได้ ทำงานได้เหมือนสมองมนุษย์ กำลังถูกใช้แทนตำแหน่งงาน พูดง่ายๆ ก็คือ มาแย่งงานคนนั่นเอง
และเมื่อนึกถึงเรื่องนี้ ทุกครั้งผมจะนึกไปถึงใจความสำคัญจากหนังและนิยายวิทยาศาสตร์ของ ฟิลิป เค ดิ๊ค ที่สรุปได้ว่า ในอนาคตมนุษย์และสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นสิ่งเทียมชีวิต (หมายถึงไม่ใช่แค่เพียงคนเท่านั้น สารพัดชีวิตต่างถูกพัฒนาเป็นหุ่นยนต์) จะไม่หยุดนิ่งแค่เรื่องของการแย่งอาชีพ พวกหุ่นยนต์รู้ดีว่าจะมีชีวิตเป็นของตัวเองได้ มันต้องคิดการใหญ่ แย่งชิงทุกอย่างจากมนุษย์ ตั้งแต่วิถีชีวิตไปจนถึงเป้าหมายสูงสุด ซึ่งนับวันเจ้าพวกกายเนื้อทั้งหลายเริ่มละความสำคัญลงไปทุกที
วันหนึ่งเมื่อพวกหุ่นเลียนแบบชีวิตได้อย่างสมบูรณ์ นอกเหนือจากความละเอียดอ่อนในการลงมือทำสิ่งต่างๆ แล้ว มันก็เริ่มได้ที หันไปพัฒนาความคิดอ่านให้ ข้ามพ้นโหมดรับใช้คน หันไปทำสงครามปลดแอกตัวเองกับคน
ต่อมามันก็เลิกทำลายล้างมนุษย์ เพราะในที่สุดมันก็เริ่มเข้าใจในความจริงของชีวิต คือ เข้าใจในเรื่องของกฎแห่งกรรม บาป-บุญ ดี-ชั่ว สังสารวัฏ และอานิสงส์ของการก่อตัวขึ้นจนมีชีวิตเพื่อรับรู้สัมผัสสิ่งที่อยู่รอบตัว ตัดความเป็นห่วง ความกังวล และก้าวล้ำไปจนถึงมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง
ความสำเร็จของการพัฒนาจิตใจตามใจความที่ เค ดิ๊ค เล่าไว้กลายเป็นปมที่ย้อนกลับมาสั่งสอนให้มนุษย์อับอายในสถานะของตัวเองที่สั่งสมมาหลายแสนปี ในวันหนึ่งนั้นในอนาคต เจ้าหุ่นยนต์ก็ได้แสดงให้เห็นว่า พวกมันมีความเมตตากรุณาได้กับกระทั่งสิ่งที่เกลียดมัน ด้วยการให้อภัยมนุษย์
กลับมาที่ปัจจุบัน ในวันที่เอไอกำลังทำงานแทนคนแล้วในหลายอาชีพ และนับวันยิ่งดูเหมือนเริ่มละเอียดอ่อนในงานที่ทำมากกว่ามนุษย์
ในวันนี้ สิ่งซึ่งพบเห็นได้รอบตัวในแต่ละวันนั้นชัดเจนว่า เราทั้งหลายเริ่มทำให้สิ่งที่ตรงข้ามเหล่าสิ่งประดิษฐ์ ที่เห็นชัดที่สุดก็คือ ผู้คนมากมายเลิกใส่ใจในงานที่ทำ บนรถไฟฟ้า ถนน ในตรอกซอกซอย หรือที่ไหน เราก็เห็นคนเอาแต่ไถโทรศัพท์มือถือกันจนเป็นภาพปกติ
เราเลิกใส่ใจไปแล้วว่าต้องฉุกคิดอะไรบ้าง ต้องอยู่กับปัจจุบันขณะอันมีค่าอย่างไรให้เพียงพอที่รำลึกได้ว่า ก่อนหน้านี้สารพัดเทคโนโลยีได้ถูกพัฒนาเพื่อทำลายทักษะด้านความละเอียดอ่อนไปมากมายเพียงไร
กาลครั้งหนึ่ง โรงหนังทุกขนาด (ในยุคที่ยังไม่มีซีนีเพล็กซ์) ม้วนฟิล์ม และระบบจัดการ ตั้งอยู่บนความบอบบางที่ต้องการมืออาชีพเข้ามาดูแล
เป็นที่ทราบกันในกลุ่มนักดูหนังว่า ต้องรีบจองตั๋วเข้าไปดูหนังที่เข้าฉายวันแรกๆ ด้วยความเข้าใจว่า ภาพจากแสงผ่านฟิล์มขนาด 35 มม. ที่สาดไปบนจอในวันแรกๆ ที่ฉายนั้นยังไม่ปรากฏ “แองเจิ้ลแฮร์” หรือรอยขูดขีดเป็นทางยาวให้เห็นมากนัก รอยดังกล่าวจะมากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับความประณีตของคนฉาย หาไม่แล้วรอยขูดขีดจะยิ่งเพิ่มขึ้นตามรอบฉาย รอบแรกๆ คนฉายต้องคอยสังเกต “รอยจี้บุหรี่” ตรงมุมจอ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนว่าหนังที่ฉายกำลังจะหมดม้วน ต้องเตรียมตัวเปลี่ยนม้วนใหม่ หนังแต่ละเรื่องจะมีความยาวประมาณ 6 ม้วน
ต่อมาโรงหนังสมัยใหม่ก็พัฒนาขึ้น เครื่องฉายสามารถฉายหนังม้วนใหญ่ที่รวบฟิล์มทั้ง 6 ม้วนเป็นม้วนเดียวจบได้ คนฉายไม่ต้องคอยสังเกตรอยจี้บุหรี่ หรือกลัวว่าหนังที่ฉายจะขาดตอนอีกต่อไป
และแล้ว ห้องฉายหนังก็สิ้นสุดช่วงเวลาแห่งความประณีตระมัดระวังเรื่องฟิล์มไปในที่สุด เข้าสู่ยุคโรงฉายระบบดิจิทัล ฉายภาพความละเอียดสูง เสียงคมชัด เราคนดูไม่จำเป็นต้องรีบจองตั๋วด้วยเหตุผลที่ยึดกันมาตั้งแต่อดีต โรงหนังก็หมดเรื่องกังวล หนังฉายวันแรกหรือกี่ร้อยวันต่อมาก็ไม่ต้องสนใจเรื่องความประณีตในการฉาย รอยขีดข่วนกลายเป็นเรื่องปรัมปรา เป็นแค่รอยประทับของความผิดพลาดเสื่อมสลายของอดีต และเป็นเหตุผลที่มากพอที่จะทำให้คนฉายหนังตามขนบเดิมตกงานไปในที่สุด
สารพัดเทคโนโลยีทำให้เรามีเวลามากขึ้น แต่ละวันไม่ต้องเสียเวลาทำหลายๆ สิ่งที่เคยเป็นกิจวัตรในอดีต แต่ก็เถอะ ไม่ว่าเราจะมีเวลามากขึ้นเพียงไร ก็ดูเหมือนว่า สำหรับบางคน มันไม่เคยมากพอที่จะเจียดให้กับความประณีตเลย
ในวันที่พบว่าเอไอเริ่มละเอียดอ่อนต่องานที่ทำมากกว่าเรา บางครั้งผมก็ได้แต่จ้องจอคอมพิวเตอร์อันว่างเปล่า พลางนึกในใจว่า ถ้าวันหนึ่งสิ่งที่เห็นตรงหน้ามีชีวิตจิตใจพอๆ กับมนุษย์ และตัวผมอันแสนกระจ้อยร่อยจะรับมืออย่างไร จะทำอย่างไรดี จึงได้แต่ย้อนนึกถึงเรื่องราวที่ ฟิลิป เค ดิ๊ค เล่าไว้ ก่อนจะเอ่ยออกไปว่า “เมตตากระผมด้วยเถิด”