posttoday

Attention please

08 ธันวาคม 2561

Attention Please …ดิฉันนั่งฟังประกาศสนามบินที่ดังขึ้นเป็นระยะ จนนึกสนุกอยากจะสังเกตปฏิกิริยาของคนรอบข้าง

โดย จิรวรรณ กาญจนานันท์ โค้ชผู้บริหารที่ได้รับการรับรองจากสหพันธ์โค้ชนานาชาติ 

Attention Please …ดิฉันนั่งฟังประกาศสนามบินที่ดังขึ้นเป็นระยะ จนนึกสนุกอยากจะสังเกตปฏิกิริยาของคนรอบข้าง แล้วก็สนุกนึกต่อไปถึงเรื่องของการเรียนรู้ ...นี่คือที่มาของเรื่องที่จะชวนคุยวันนี้ค่ะ

คำว่า Attention Please ช่างเรียกร้องความสนใจได้ดีจริงๆ เพราะเมื่อดังขึ้นแทบทุกคนที่ได้ยินจะหยุดสิ่งที่ทำอยู่ชั่วครู่ จากนั้นบางคนฟังจนจบ บางคนไม่จบ ในขณะที่บางคนก็หันกลับไปทำสิ่งที่ค้างไว้ต่อโดยที่ไม่ได้ฟังเลย นั่นแสดงว่า “การเรียกความสนใจได้สำเร็จ ...ไม่ได้ก่อให้เกิดความตั้งใจตามมาเสมอไป” เช่นเดียวกับกระบวนการเรียนรู้ที่ไม่ได้ต้องการแค่ความสนใจแต่ต้องการความตั้งใจด้วย

แม้ว่าจะถูกกระตุกความสนใจในตอนแรก แต่ถ้าเรื่องนั้นไม่เกี่ยวข้อง หรือไม่มีความสำคัญต่อเรา

เราก็จะตัดมันออกไปโดยอัตโนมัติ พฤติกรรมเหล่านี้แท้จริงแล้วเป็นกลไกที่ช่วยให้เราไม่ต้องรับข้อมูลทุกอย่างรอบตัวจนเกิดอาการ “จมข้อมูล” แต่จะกลั่นกรองเฉพาะสิ่งที่ตั้งใจโฟกัส แล้วค่อยส่งต่อไปประมวลผลในสมอง ซึ่งการตั้งใจหรือการมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งต่างๆ ของคนเรามีหลายรูปแบบแต่ที่ใช้อยู่ตลอดเวลาคือ แบบเลือกรับ (Selective Attention) และสลับไปมา (Alternating Attention)

แบบเลือกรับ (Selective Attention) คือ มุ่งสมาธิตรงไปจดจ่อกับสิ่งที่เขาต้องการเพียงอย่างเดียวราวกับปิดสวิตช์ทุกอย่างรอบตัวแล้วดำดิ่งลงไปในเรื่องนั้นๆ เช่น คนที่นั่งอ่านหนังสือได้รู้เรื่องท่ามกลางเสียงเพื่อนคุยกัน แต่สมาธิแบบนี้ไม่สามารถคงอยู่ได้ตลอดเวลา

แบบสลับไปมา (Alternating Attention) คือ การมีสมาธิสลับไปมาจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องหนึ่ง เช่น ฟังการประชุมและหันไปตอบคำถามเพื่อน

ส่วนการทำงานหลายอย่างในเวลาเดียวกัน หรือที่เรียกว่า Multitasking นักวิจัยเชื่อว่าจะสามารถทำได้ก็ต่อเมื่อมีหนึ่งงานที่ไม่ต้องใช้สมาธิมาก เช่น รีดผ้าไป คุยเรื่องหุ้นไปด้วย จะเห็นได้ว่าการรีดผ้าเป็นงานที่เราทำได้โดยไม่ต้องใช้สมาธิมาก เราจึงคุยเรื่องหุ้นหรือแม้แต่วิเคราะห์หุ้นไปด้วยได้ แต่ถ้าต้องใช้สมาธิสูงมากกว่าหนึ่งงาน คนเราใช้สมาธิแบบสลับไปมาในเวลาสั้นๆ อย่างรวดเร็ว เช่น คุณผู้หญิงขับรถพร้อมกับค้นกระเป๋าหยิบเงินค่าทางด่วน สลับกับการแต่งหน้าตอนรถติด การใช้สมาธิแบบนี้ทำให้งานด้อยประสิทธิภาพและอาจส่งผลเสียตามมา

ในเมื่อคนเราใช้สมาธิสองแบบนี้อยู่ตลอดเวลาก็แปลว่าเราไม่อาจจะโฟกัสอะไรได้นาน ถ้าอย่างนั้นลองสนุกตอบกันหน่อยนะคะว่า “ทำอย่างไรให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้?”

คำตอบก็คือ ...ออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับข้อจำกัดของสมาธิโดยเน้นไปที่ความเข้าใจ จดจำ และนำไปใช้ได้จริง เป็นวิธีที่ดีกว่าการพยายามยืดระยะเวลาความตั้งใจ แน่นอนว่าการเริ่มต้นที่ดีควรทำให้เขาเข้าใจว่าเรื่องที่จะสื่อสารเกี่ยวข้องและสำคัญกับเขาอย่างไร พยายามลดสิ่งเร้าที่จะเบี่ยงเบนความสนใจ เช่น ข้อมูล หรือรูปภาพที่ไม่จำเป็น การอธิบายเนื้อหาอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย ประกอบกับการเล่าเรื่อง ยกตัวอย่าง และเชื่อมโยงไปสู่เรื่องใกล้ตัวของเขาก็ยิ่งช่วยเพิ่มความเข้าใจและจดจำ

นอกจากนี้ การถามคำถามและทำกิจกรรมกลุ่มย่อยยังช่วยส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์เนื้อหาในเชิงลึก และช่วยเช็กความเข้าใจให้ถูกต้องก่อนที่จะต่อยอดขึ้นไป แต่สิ่งที่ลืมไม่ได้เลยก็คือ ต้องเชื่อมโยงให้เขาสามารถนำไปใช้กับการทำงานและในชีวิตได้ ผู้เรียนจึงจะได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้อย่างแท้จริง

ถ้าอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว ดิฉันก็จบสวยๆ ว่า “Thank you for your attention” ค่ะ