นักวิชาการจี้รัฐบาลเลิก"LTF" ชี้อุ้มคนรวย-ไม่ตอบโจทย์ส่งเสริมการออมระยะยาว
นักวิชาการกระทุ้งรัฐ เลิกกองทุนแอลทีเอฟไม่กระทบประชาชน แต่เอื้อประโยชน์คนรวยรับสิทธิทางภาษีมากกว่าผู้มีรายได้น้อย
นักวิชาการกระทุ้งรัฐ เลิกกองทุนแอลทีเอฟไม่กระทบประชาชน แต่เอื้อประโยชน์คนรวยรับสิทธิทางภาษีมากกว่าผู้มีรายได้น้อย
นายอธิภัทร มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยผลงานวิจัยที่ได้ทำร่วมกับสถาบันวิจัยป๋วย อึ๊งภากรณ์ (PIER) เรื่อง “การเปลี่ยนนโยบาย แอลทีเอฟ กระทบผู้เสียภาษีอย่างไร” โดยพบว่าหากรัฐบาลไม่ต่ออายุกองทุนหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่ครบกำหนดในปี 2563 ผลกระทบในภาพรวมต่อภาระภาษีจะเกิดขึ้นมีไม่มากนัก เนื่องจากผู้เสียภาษีได้มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดหย่อนภาษีไปยังทางเลือกอื่นๆ แต่หากผู้เสียภาษีไม่มีการปรับตัวก็จะได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะส่วนลดภาษีของแอลทีเอฟอยู่ที่ 30-40% ของการเสียทั้งหมดที่จ่ายไป
ทั้งนี้ ผู้เสียภาษีมีทางเลือกในการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของประกันชีวิตที่มีผู้ใช้สิทธิทางด้านภาษีเป็นจำนวนมาก และหากในปี 2563 รัฐบาลไม่ต่ออายุแอลทีเอฟ จะมีสิทธิภาษีของกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) รองรับปริมาณการซื้อของแอลทีเอฟได้ทั้งหมด และไม่กระทบต่อภาระภาษีของผู้ซื้อด้วย
นายอธิภัทร กล่าวว่า การถือครองแอลทีเอฟส่วนใหญ่ จะกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มของคนรวยมากถึง 30% และมีปริมาณการซื้อแอลทีเอฟเกิน 1 แสนบาท อยู่ที่ประมาณ 40% ของผู้ซื้อทั้งหมดและเป็นผู้เสียภาษีประมาณ 70% ของแอลทีเอฟทั้งหมดในตลาด และมีการใช้สิทธิทางด้านภาษีมากเมื่อเทียบกับเพดานภาษี
ขณะที่กลุ่มของผู้มีรายได้ปานกลางและผู้มีรายน้อยมีสัดส่วนการถือครองประมาณ 10% เป็นผลมาจากพฤติกรรมของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางไม่สามารถรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงไม่คุ้นเคยกับตลาดทุน จึงเลือกที่จะไปลงทุนในสินทรัพย์อย่างอื่น เช่น ประกันชีวิต ที่พบว่าทุกกลุ่มรายได้ให้ความสนใจเข้าซื้อเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับการลงทุนในอาร์เอ็มเอฟที่กระจุกตัวในลักษณะเดียวกันและได้รับความนิยมน้อยกว่า จากเงื่อนไขการผูกมัดการซื้อและถือครองที่ใช้ระยะเวลานานกว่า
สำหรับข้อเสนอการปรับเปลี่ยนการลดหย่อนแอลทีเอฟ เป็นเครดิตภาษี (Non-Refundable tax Credit) เพื่อเป็นแนวทางหนึ่งในการช่วยผู้เสียภาษีให้ได้รับแรงจูงใจในการลงทุนให้เท่ากับคนทุกระดับรายได้ และช่วยในเรื่องของการลงทุนแอลทีเอฟที่เอื้อคนรวยมากกว่าคนมีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งหากปรับเปลี่ยนจะส่งผลกระทบต่อผู้มีรายได้สูงให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้น 5% ขณะที่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ภาระภาษีจะลดลงประมาณ 28% และหากมีการปรับเปลี่ยนเกิดขึ้นจะส่งผลข้างเคียงต่อแรงจูงใจในการซื้ออาร์เอ็มเอฟของผู้มีรายได้น้อยจากส่วนลดภาษีที่แตกต่างกันค่อนข้างมากของการซื้อแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟ
“ภาครัฐจะต้องพิจารณาให้รอบคอบเกี่ยวกับลำดับความสำคัญของสิทธิประโยชน์ทางภาษีในการเป็นเครื่องมือส่งเสริมการออมและการลงทุนในการเกษียณอายุ ที่ผ่านมาการลงทุนชนิดนี้ ตอบโจทย์ของรัฐบาลไหม มีการออมและลงทุนระยะยาวเพิ่มขึ้นหรือไม่”นายอธิภัทร กล่าว