ลุ้นกนง.ขึ้นดอกเบี้ย 0.25%
การประชุม กนง. รอบสุดท้ายของปี 2561 ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ มีโอกาสสูงขึ้นที่ กนง.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25%
โดย...ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) รอบสุดท้ายของปี 2561 ในวันที่ 19 ธ.ค.นี้ มีโอกาสสูงขึ้นที่ กนง.อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% หลังจากที่ กนง.ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนขึ้นถึงความจำเป็นในการปรับสมดุล ของการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อสร้างขีด ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้รวบรวมประเด็นที่น่าสนใจที่ต้องติดตามที่อาจจะมีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบายของ กนง. ดังนี้
โอกาสที่ กนง.อาจจะปรับสมดุลการดำเนินนโยบายการเงินมีสูงขึ้น เนื่องจากการให้น้ำหนักมากขึ้นกับการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) และรักษาเสถียรภาพทางการเงิน ในขณะที่ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวตามศักยภาพ แม้จะอยู่ในทิศทางที่ชะลอลง
* สัญญาณของสะสมของความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยเริ่มปรากฏชัดขึ้น อาทิ พฤติกรรมแสวงหาความเสี่ยง (Search for Yield) ที่เพิ่มขึ้นซึ่งสะท้อนจากการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงขึ้นทดแทนเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ ตลอดจนการเพิ่มขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันกว่า 3 ไตรมาส ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการกู้ยืมเพื่อซื้อรถยนต์และที่อยู่อาศัยที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่แนวโน้มของหนี้เสียของการกู้ยืมในกลุ่มนี้เริ่มมีสัญญาณขยับขึ้น ทั้งนี้ หากพฤติกรรมแสวงหาความเสี่ยงยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจในระยะยาว ขณะที่วัฏจักรของการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวติดต่อกันกว่า 10 ปี อาจมีแนวโน้มชะลอลงในระยะข้างหน้า ดังนั้นปรับลดปัจจัยเสี่ยงต่อการสะสมความเปราะบางของเสถียรภาพเศรษฐกิจ และการสร้างขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) เพื่อรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้า คงมีความจำเป็นมากขึ้น
* ภาพการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่ดีอยู่ แม้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสะดุดไปบ้างในไตรมาส 3/2561 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยในเดือน ต.ค.ที่กิจกรรมของเศรษฐกิจในประเทศมีสัญญาณ ฟื้นตัวอย่างชัดเจน อาจจะบ่งชี้ว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2561 น่าจะกลับมาขยายตัวในระดับที่ดีขึ้นและสอดคล้องกับการขยายตัวตามศักยภาพของเศรษฐกิจไทย
ขณะที่การบรรลุข้อตกลงในการเลื่อนการเก็บภาษีการค้าจากจีนเพิ่มเติมของสหรัฐ ไปจนถึงช่วงต้นเดือน มี.ค. 2561 น่าจะช่วยคลายปัจจัยกดดันต่อภาคการส่งออกลงบางส่วน แม้ว่าความไม่แน่นอนในการบรรลุข้อตกลงทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐจะยังมีอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และความชัดเจนของการลงทุนในโครงการโครงสร้าง พื้นฐานขนาดใหญ่ คงจะสนับสนุนโมเมนตัมของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าให้สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง
การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักในการหนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเพิ่มเติมอย่างมีนัยสาคัญ เนื่องจากการเคลื่อนไหวของค่าเงินส่วนหนึ่งเป็นผลจากอิทธิพลของเงินดอลลาร์สหรัฐ รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก
* การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่าง ต่อเนื่องของเฟด รวมทั้งความกังวลด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคต่างๆ ของโลกเป็นปัจจัย ที่หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่กดดันให้ค่าเงินในเอเชียอ่อนค่า โดยดัชนีค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งกว่ากว่า 5.1% เทียบกับช่วงปลายปี 2560 ซึ่งการแข็งค่าของเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรสหรัฐที่ปรับสูงขึ้น ส่งผลให้มีเงินทุนไหลกลับเข้าสู่ตลาดสหรัฐ
อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่าปัจจัยเสี่ยงด้านเสถียรภาพของแต่ละประเทศที่เป็นปัจจัยกดดันให้ค่าเงินอ่อนค่าเพิ่มเติม ซึ่งประเทศที่มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนแอมักจะประสบกับการไหลออกของเงินทุน อันส่งผลให้ค่าเงินอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก แม้ว่าธนาคารกลางของประเทศเหล่านั้นจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าน้อยกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค ส่วนหนึ่งมาจากผลของเสถียรภาพต่างประเทศของไทยที่อยู่ในระดับแข็งแกร่ง กอปรกับการพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกประเทศในระดับต่ำ
* ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายระหว่างไทยและสหรัฐที่ยังอยู่ในระดับสูง ไม่น่าที่จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการดึงดูดเงินทุนไหลเข้ารอบใหม่ อันจะส่งผลกดดันให้ค่าเงินบาทแข็งค่าอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่าส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยของไทยและสหรัฐ และไทยมีความแตกต่างมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียยกเว้นญี่ปุ่น หลังจากที่ธนาคารกลางของเกาหลีใต้ได้มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปลายเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่นักลงทุนต่างชาติเริ่มปรับลดการถือครองหลักทรัพย์ตราสารการเงินต่างๆ ในไทยลง โดยมีการขายสุทธิในตลาดพันธบัตรตั้งแต่ช่วงต้นเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา อันน่าจะบ่งชี้ถึงความน่าสนใจในการลงทุนสินทรัพย์สกุลบาทที่อาจมีความน่าสนใจลดลง
สำหรับผลต่อเศรษฐกิจไทย ท่ามกลางระดับสภาพคล่องในตลาดการเงินไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้ผลของการส่งผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นต่อต้นทุนการเงินอยู่ในระดับจำกัด กล่าวคือขนาดของการส่งผ่านผลของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปยังตลาดเงินอาจจะถูก ลดทอนลงบางส่วน ขณะที่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์คงจะขึ้นอยู่กับการประเมินสภาวะแวดล้อมทางการเงินอื่นๆ นอกจากปัจจัยด้านต้นทุนทางการเงินด้วย อาทิ ความสามารถในการชำระหนี้ลูกหนี้ รวมถึงความต้องการสินเชื่อ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า กนง.คงจะเว้นระยะเวลาเพื่อประเมินพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า ก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินรอบใหม่ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับพัฒนาการการเติบโตและความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.ในรอบนี้น่าจะเป็นลักษณะการปรับขึ้นนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง