ประวัติศาสตร์หญิงรันทด ในนิทานเมิ่งเจียงหนี่ว์
ใครที่เคยไปเที่ยวกำแพงเมืองจีน
ใครที่เคยไปเที่ยวกำแพงเมืองจีน นอกจากชื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ผู้ริเริ่มโปรเจกต์นี้ ก็มีชื่อ เมิ่งเจียงหนี่ว์ (孟姜女) ที่น่าจะเคยผ่านหู
เมิ่งเจียงหนี่ว์เป็นชื่อหญิงสาวใน “ตำนานรักเมิ่งเจียงหนี่ว์” ชื่อจีนของนิทานเรื่องนี้คือ “孟姜女哭长城” แปลว่า “เมิ่งเจียงหนี่ว์ร้องไห้ (ทลาย) กำแพงเมืองจีน”
ในจีนตำนานรักเมิ่งเจียงหนี่ว์นั้นแสนดัง เพราะเป็นหนึ่งในสี่ยอดนิทานพื้นบ้านของจีน (สามเรื่องที่เหลือก็คือ นางพญางูขาว เหลียงซานป๋อจู้อิงไถ (ม่านประเพณี) และหนุ่มเลี้ยงวัวกับสาวทอผ้า)
โครงเรื่องมีว่า หลังจากเพิ่งได้แต่งงานกันหมาดๆ สามีเมิ่งเจียงหนี่ว์ที่ชื่อฟ่านสี่เหลียงก็ถูกจิ๋นซีฮ่องเต้เกณฑ์ไปใช้แรงงานสร้างกำแพงเมืองจีน ฟ่านสี่เหลียงทนตรากตรำไม่ไหวจนตายไป แต่เมิ่งเจียงหนี่ว์ที่อยู่ไกลออกไปกลับไม่เคยได้รับข่าวคราว
ด้วยความห่วงใยสามี พอจะเข้าสู่ฤดูหนาว เธอจึงดั้นด้นเดินทางพันลี้เพื่อจะเอาเสื้อหนาวให้สามีที่ค่ายสร้างกำแพง
เมื่อไปถึงจึงได้รู้ว่าฟ่านสี่เหลียงจากโลกนี้ไปแล้ว เธอร่ำไห้อยู่สิบวันสิบคืน น้ำตาของเธอเซาะกำแพงเมืองจีนทลายลงส่วนหนึ่ง และโครงกระดูกของฟ่านสี่เหลียงที่ถูกฝังไว้ใต้ซากกำแพงก็ผุดขึ้นมาให้เห็น
จิ๋นซีทรงมาตรวจหน้างานว่าใครกันทำโครงการล่าช้า เมิ่งเจียงหนี่ว์พบเข้าจึงด่าว่าอย่างไม่เกรงกลัว แล้วเมิ่งเจียงหนี่ว์ก็ฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดลงทะเล
ที่จริงนิทานนี้มีหลายเวอร์ชั่น ซึ่งนั่นเป็นธรรมดาของตำนานและนิทานพื้นบ้านแทบทุกเรื่อง
แต่เมื่อเทียบกับสุดยอดนิทานพื้นบ้านที่เหลือ ตำนานนี้ดูจะจับต้องได้มาก เพราะมีบุคคลในประวัติศาสตร์มาอ้างอิง มีสถานที่เกิดเหตุระบุชัดเจน
ว่ากันว่าบริเวณด่านซานไห่กวาน (山海关) ด่านหนึ่งของกำแพงเมืองจีน คือสถานที่เกิดเหตุ
ด่านซานไห่กวานเป็นด่านติดทะเล ประเด็นที่เมิ่งเจียงหนี่ว์กระโดดลงทะเลจึงมีภูมิศาสตร์รองรับ ที่ด่านก็ยังมีศาลเจ้าแม่เมิ่งเจียงหนี่ว์ให้คนรำลึกบูชา แถมศาลนี้ยังสร้างมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง คือกว่า 1,000 ปีมาแล้ว
มีชื่อ มีเสียง มีสถานที่คาตา พอบวกกับความโหดในประวัติศาสตร์ของจิ๋นซีฮ่องเต้ ตำนานนี้จึงดูสมจริงกว่าตำนานอื่นใด
และก็เคยมีนักวิชาการจีนค้นคว้าไว้ ว่าตำนานรักเมิ่งเจียงหนี่ว์นั้นมีที่มาจากบันทึกประวัติศาสตร์จริงจัง... เพียงแต่เรื่องราวถูกซ้อนทับตามกาลเวลาหลายสิบชั้นจนแทบไม่เหลือเค้าเดิม
ต้นเค้าแรกเริ่ม อยู่ในบันทึกประวัติศาสตร์ที่ชื่อ “จั่วจ้วน”(左传) บันทึกไว้ไม่เกิน 400 อักษรจีน (ซึ่งก็ไม่น้อยเท่าไหร่)
เรื่องบันทึกไว้ว่า ครั้งหนึ่งในยุคชุนชิว (ก่อนปัจจุบันประมาณ 2,500 ปี ก่อนหน้ายุคจิ๋นซีฮ่องเต้ประมาณ 300 ปี)เจ้าแคว้นฉีเปิดศึกโจมตีอีกแคว้นที่เล็กกว่า แต่กลับพ่ายแพ้ ขุนพลแคว้นฉีที่ชื่อฉี่เหลียงพลีชีพในสงคราม
เจ้าแคว้นฉีสั่งนำศพขุนพลฉี่เหลียงกลับแคว้น โดยตั้งโลงศพเพื่อจะทำพิธีไว้อาลัยข้างนอกเมือง
แต่ภรรยาม่ายของขุนพลฉี่เหลียงไม่เห็นด้วย เพราะตามประเพณียุคนั้น พิธีไว้อาลัยต้องกระทำภายในบ้านของผู้ตาย
เจ้าแคว้นฉีไม่ทำตามประเพณี ก็เหมือนหมิ่นเกียรติว่า ฉี่เหลียงมีความผิด (ที่รบแพ้) แต่แท้ที่จริงความสูญเสียครั้งนี้เป็นเพราะเจ้าแคว้นฉีตัดสินใจพลาด เปิดศึกรังแกแคว้นเล็ก ทำสงครามที่ไม่เป็นธรรม จนฉี่เหลียงต้องรับกรรม
หากเจ้าแคว้นฉีดึงดันจะทำพิธีนอกเมือง ก็แสดงว่าจงใจไม่ให้เกียรติผู้ตาย ภรรยาฉี่เหลียงจึงออกโรงยืนกรานคัดค้านการไว้อาลัยครั้งนั้น ในที่สุดเจ้าแคว้นฉีต้องยอมตั้งโลงศพและเสด็จมาทำพิธีไว้อาลัยที่บ้านฉี่เหลียง
เรื่องราวนี้ที่ถูกบันทึกไว้ ก็เพื่อสื่อถึงความเคร่งครัดในจารีตประเพณีของภรรยาฉี่เหลียง และยังสื่อถึงความกล้าหาญ ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านด้วยหลักจารีต แม้คนผิดประเพณีจะเป็นถึงระดับเจ้าแคว้น เห็นได้ว่าภรรยาของฉี่เหลียงนั้นแสนแมนและใจนิ่ง สามารถใช้ Logic แห่งการเมืองและประเพณีได้ครบถ้วน มั่นคง ไม่ฟูมฟาย แม้อยู่ในช่วงที่น่าโศกเศร้า
พอมาถึงบันทึก “หลี่จี้” (礼记) ในยุคจ้านกว๋อ(จิ๋นซีกำลังจะเกิด) บุคลิกของเธอก็เปลี่ยนไป จากเดิมที่ไม่ได้ร้องห่มร้องไห้อะไร แต่ในบันทึกนี้เพิ่มดราม่าลงไปว่า “เธอร้องไห้หนักมาก”
พอเข้ายุคฮั่นตะวันตก (จิ๋นซีฮ่องเต้เพิ่งตาย) บันทึกประวัติศาสตร์ก็เสริมให้เธอเล่นใหญ่ ร้องไห้หนักมากไม่พอต้องร้องต่อเนื่องหลายวันจนกำแพงถล่มลงมา
ในยุคเดียวกันนี้เองยังเพิ่มให้ภรรยาฉี่เหลียงกระโดดน้ำฆ่าตัวตายประท้วงด้วย แค่สถานที่ยังไม่ใช่ทะเลด่านซานไห่กวานเท่านั้นเอง
พอถึงยุคถัง เรื่องราวของสองสามีภรรยาก็มาอยู่ในโลกของนิทานเต็มตัว โดยทั้งคู่ถูกย้ายมาอยู่ในยุคฉิน (ทั้งที่เรื่องจริงเกิดก่อน และไม่เกี่ยวกับจิ๋นซีฮ่องเต้ในยุคฉินเลย) และปรับให้ฉี่เหลียงเป็นลูกผู้ดีที่มีโทษหลบหนีการถูกเกณฑ์สร้างกำแพงเมืองจีนติดตัว
ฉี่เหลียงต้องถูกจับแต่งงานกับเมิ่งจ้งจือ (ภรรยาฉี่เหลียงเริ่มมีการระบุชื่อในยุคนี้) เพราะบังเอิญไปเห็นเธอในร่างเปลือยเปล่าขณะอาบน้ำ
“ชายเห็นเรือนร่างเท่ากับเสียพรหมจรรย์ให้กับชายนั้น เธอจึงต้องแต่งงานกับฉันนะฉี่เหลียง”
ฉี่เหลียงปฏิเสธเมิ่งจ้งจือเพราะตัวเองเป็นนักโทษหนีคดี กลัวแต่งแล้วจะต้องลำบากไปด้วย แต่เมิ่งจ้งจือก็โนสนโนแคร์...
สุดท้ายเมิ่งจ้งจือก็ต้องมานั่งร้องไห้ทลายกำแพงเมืองจีนเหมือนเวอร์ชั่นก่อนๆ ที่เพิ่มเติมคือ ซีนเมิ่งจ้งจือเอาเสื้อหนาวไปให้สามี และในซากกำแพงที่ถล่มมีกระดูกของเขาปรากฏขึ้นมา
จากนั้นเรื่องราวก็เริ่มเข้าใกล้เรื่องที่เล่ากันในปัจจุบัน โดยชื่อของฉี่เหลียงเพี้ยนเป็นฟ่านสี่เหลียง ภรรยาของฉี่เหลียงได้ชื่อใหม่ว่า เมิ่งเจียงหนี่ว์
ในยุคหยวน นักแต่งงิ้วเปลี่ยนฟ่านสี่เหลียงเป็นบัณฑิตตกยาก (ไม่ใช่ลูกผู้ดีแล้ว) ส่วนในยุคชิง จิ๋นซีฮ่องเต้เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในตอนท้าย พระองค์เสนอให้เมิ่งเจียงหนี่ว์มาเป็นสนม ซึ่งเมิ่งเจียงหนี่ว์ยื่นข้อเสนอให้จิ๋นซีจัดการพิธีศพให้สามีของเธออย่างดีเป็นการแลกเปลี่ยน จิ๋นซียินยอมทำตามแต่โดยดี แต่ท้ายที่สุด เมิ่งเจียงหนี่ว์ก็กระโดดน้ำฆ่าตัวตายเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีแห่งภรรยาฟ่านสี่เหลียง
เรื่องวิวัฒนาการของนิทานจัดว่าเป็นเรื่องธรรมดา หลายท่านคงเห็นว่า นี่ก็เป็นนิทานอีกเรื่องที่ถูกแต่ละยุคเติมแต่งใส่ค่านิยมและดราม่าตามแต่ละยุคที่เปลี่ยนไป ซึ่งเทคนิคนี้มีทุกยุคทุกสมัยทุกชนชาติ
แต่เห็นบุคลิกที่ถูกทับถมเข้าไปของเมิ่งเจียงหนี่ว์แล้วอดเห็นใจไม่ได้ อากัปกิริยาของผู้หญิงที่รักและห่วงใยสามี ยิ่งนานวันยิ่งต้องรับบทหนักขึ้นทุกวัน ประวัติศาสตร์ของตำนานรักเมิ่งเจียงหนี่ว์ที่ถูกนำมาซ้อนชั้นให้ดูทำให้รู้ว่า ผู้หญิงจะรักสามีได้ ต้องทั้งร้องไห้หนักหน่วง ร้องไห้ต่อเนื่อง ทำพิธีศพให้สมเกียรติ กระโดดน้ำตาย แถมห้ามให้ใครมาแอบมองตัวเองเปลือยกายอาบน้ำ... ช่างเหนื่อยและฟูมฟายขึ้นทุกยุค
แต่จากที่มาเริ่มแรก กลับแสดงให้เห็นว่า อาการเล่นใหญ่แห่งหญิงรันทดทั้งหมดนี้ เริ่มต้นจากหญิงแกร่งที่เฉียบคม แต่ถูกกลบด้วยคติของสังคมที่ต้องการให้หญิงต้องมีความฟูมฟายไปอย่างน่าเสียดาย
จนน่ากลัวว่า หากผู้หญิงยุคหลังไม่ยอมฟูมฟาย คะแนนความรักสามีในสายตาคนรอบข้าง จะเหลือกระจิริดเพียงใด
ซึ่งนั่นคงไม่ใช่เพราะพวกเธอรักสามีน้อยผิดธรรมชาติ แต่เป็นเพราะว่ามาตรฐานของสังคมต้องการดราม่ามากกว่านี้ เท่านั้นเอง
ปล.อันที่จริงในบทความนี้ควรเรียกชื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ ว่าฉินสื่อหวงตี้ เพื่อสอดคล้องกับสำเนียงภาษาจีนกลางในชื่อตัวละครอื่น แต่ในที่นี้ขอสงวนเรียกจิ๋นซีฮ่องเต้ไว้เพื่อความคุ้นเคยต่อผู้อ่าน