posttoday

ประกันหนุนคุมค่ารักษา/ยา

28 ธันวาคม 2561

สมาคมประกันชีวิตเผยรัฐเตรียมคุมค่ายา รักษาพยาบาล ส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่าเสีย ธุรกิจเติบโตจากปริมาณผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น

สมาคมประกันชีวิตเผยรัฐเตรียมคุมค่ายา รักษาพยาบาล ส่วนรวมได้ประโยชน์มากกว่าเสีย ธุรกิจเติบโตจากปริมาณผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้น

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทย เปิดเผยว่า ทางภาคธุรกิจประกันภัยเห็นด้วยกับการที่ภาครัฐบาลมีแนวคิดจะทำการควบคุมค่ายา ค่ารักษา เวชภัณฑ์ และค่าบริการ เพื่อให้อยู่ในระดับที่สมเหตุสมผล ไม่ให้เป็นการบวกเพิ่มมากจนเกินไป ซึ่งจะทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์มากกว่าเสียประโยชน์ โดยสิงคโปร์และมาเลเซียได้ดำเนินการไปก่อนหน้านี้แล้ว ไทยจึงควรจะไปศึกษาแนวทางดังกล่าวจากทั้งสองประเทศ

ทั้งนี้ เมื่อต้นทุนในการรักษาพยาบาลต่ำลงจะลดภาระของประชาชนทำให้มีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ในการหันมาซื้อประกันสุขภาพเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชน จะทำให้โรงพยาบาลรัฐบาลมีพื้นที่และบุคลากรว่างพอในการรองรับกลุ่มรากหญ้าที่แท้จริง ได้รับ การดูแลอย่างรวดเร็ว ส่งเสริมสุขภาพประชาชนดีขึ้น ซึ่งจะทำให้ประเทศชาติได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น เพราะงบประมาณส่งถึงผู้ที่เดือดร้อนจริงๆ

ขณะที่ภาคธุรกิจประกันภัยเมื่อ ต้นทุนค่ารักษาพยาบาลต่ำลง จะทำให้สามารถออกแบบประกันสุขภาพในราคาเบี้ยที่ลดต่ำลง จากปัจจุบันที่เบี้ยประกันค่อนข้างสูงตามการเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลที่เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 8-10% ทุกๆ ปี ทำให้ประชาชนที่เห็นความจำเป็นและอยากเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนเข้าไม่ถึง จึงหันไปใช้บริการโรงพยาบาลรัฐและประกันสังคมกันมากทำ ให้ประเทศสูญเสีย เพราะประชาชนต้อง ลางานทั้งวันเพื่อไปรอเข้าคิวรับการรักษาพยาบาล

อย่างไรก็ตาม ในมุมของโรงพยาบาลเอกชนจะได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นในระยะยาว โดยในระยะสั้นอาจจะทำให้กำไรลดลงบ้างเล็กน้อยแต่ยังมีกำไร ในระยะยาวจะได้ประโยชน์จากการที่จะได้ลูกค้าเพิ่มขึ้นในอนาคต จากการที่ประชาชนเข้าถึงการประกันสุขภาพ หรือ จากการที่ประชาชนสามารถเอื้อมถึง เพราะถ้าราคาไม่แพงมาก เชื่อว่าประชาชนจะหันไปใช้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพราะได้รับบริการ ที่เร็วกว่า

ด้านฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย คาดว่าการควบคุมค่าเวชภัณฑ์และค่าบริการทางการแพทย์ ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากความหลากหลายของการให้บริการ อย่างไร ก็ดีหากรัฐบาลเข้ามาควบคุมราคาดังกล่าวจริง จะส่งผลกระทบด้านลบต่อกลุ่ม โรงพยาบาลเนื่องจากสัดส่วนหลักของรายได้มาจากค่ายารักษาโรค

ปัจจุบันรัฐบาลมีการควบคุมราคา ยารักษาโรคบางรายการอยู่แล้ว ขณะที่กรมการแพทย์มีมาตรฐานราคาของการผ่าตัดบางประเภท แต่ไม่ใช่การควบคุมราคาของทั้งระบบเนื่องจากต้องขึ้นกับประเภทของยาและความยากลำบาก ในการผ่าตัดของคนไข้แต่ละคน ทั้งนี้ยาประเภทเดียวกันอาจมีราคาแตกต่างกันขึ้นอยู่กับแหล่งผลิต วิธีการผลิต ขณะที่การรักษาโรคเดียวกันในคนไข้แต่ละคนก็มีความแตกต่างขึ้นกับสภาพของคนไข้