posttoday

กฤษณา โมคศิริ อย่าหยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง

13 มกราคม 2562

ตลอด 30 ปี ของการเป็นจิตรกรมากฝีมือ กฤษณา โมคศิริ อาจารย์สอนศิลปะ

โดย วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : กฤษณา โมคศิริ

ตลอด 30 ปี ของการเป็นจิตรกรมากฝีมือ กฤษณา โมคศิริ อาจารย์สอนศิลปะ วิจิตรศิลป์ คณะศิลปกรรม วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี ผู้ได้รับโล่เชิดชูเกียรติให้เป็น “ศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประจำปี 2553” สาขาทัศนศิลป์ จากสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผู้ไม่เคยหยุดที่จะพัฒนาฝีแปรงและปลายพู่กันของตัวเอง เพราะหัวใจหลักของการสร้างสรรค์งานศิลปะให้ทรงคุณค่า คือ การต้องสร้างอัตลักษณ์ให้ได้

กับผลงานด้านศิลปะภาพวาดของเขาสู่สายตาผู้คนระดับโลกมาแล้วหลายประเทศ เริ่มตั้งแต่วัยไม่ถึง 20 ปี ขณะที่เรียนระดับประกาศนียบัตรชั้นสูง สาขาจิตรกรรมสากล สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง เขาได้เป็น 1 ใน 11 คน ที่ได้รับคัดเลือกจากศิลปินทั่วประเทศให้ได้ไปแสดงผลงานศิลปะบนเปลือกไข่ ที่สวิตเซอร์แลนด์มาแล้วเมื่อเขายังเป็นเด็กนักเรียนศิลปะ

“ผมเป็นคนศรีสะเกษเข้ามาเรียนศิลปะในกรุงเทพฯ พอมีโอกาสได้ส่งผลงานของผมที่มีเอกลักษณ์ความเป็นไทย ลายไทยเป็นภาพนางในวรรณคดี ซึ่งมีเพื่อนๆ พี่ๆ จากทั่วประเทศส่งผลงานเข้าประกวดเยอะมาก ผลงานของผมได้เป็น 1 ใน 11 งานที่ได้ไปโชว์ ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นและดีใจมาก ได้ไปแสดงผลงานเกือบ 1 เดือนในครั้งนั้น ทำให้ผมได้แลกเปลี่ยนทัศนคติการทำงานศิลปะกับเพื่อนๆ ชาติอื่นๆ”

นอกจากนี้ ผลงานภาพวาดของอาจารย์กฤษณา ยังได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 10 ชิ้นงานที่คว้ารางวัลเหรียญทองระดับชาติ Art workshop with National Artists 2016 และได้สิทธิไปแสดงผลงานศิลปะที่สหรัฐอเมริกา นับเป็นอีกครั้งหนึ่งที่เขารู้สึกภาคภูมิใจ นับรวมๆ ผลงานศิลปะที่อาจารย์กฤษณาสร้างสรรค์ได้รับรางวัลทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติราว 69 รางวัล ล้วนเป็นภาพทิวทัศน์ ภาพเหมือน จิตรกรรมสากล เพราะเขารู้สึกหลงใหลในแสงและเงา

กฤษณา โมคศิริ อย่าหยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง

“ผมศึกษาจบปริญญาตรีที่คณะจิตรกรรมสากล ราชภัฏสวนดุสิต และไปต่อปริญญาโทสาขาทัศนศิลป์ คณะศิลปกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ซึ่งผมได้ความรู้ตรงนั้นมาสร้างสรรค์งานศิลปะแฝงแนวความคิดเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง จึงทำให้ผมสามารถวาดภาพแล้วได้ไปแสดงที่สหรัฐ

ภาพที่ผมวาดคณะกรรมการบอกว่า เป็นภาพที่มีอัตลักษณ์ของตัวผมชัดเจน แฝงอยู่ในใบหน้าคนชรา ผมตั้งชื่อภาพว่า Rely on our Mind เป็นใบหน้าของคุณพ่อของผมตอนท่านป่วยหนัก เปรียบเหมือนไม้ใกล้ฝั่งก่อนที่ท่านจะเสียชีวิต และผมก็ผูกพันกับคุณพ่อมาก ในภาพจะมีภาพพระพุทธรูปอยู่ด้วย สะท้อนว่าอยากให้ลมหายใจสุดท้ายของพ่อยึดพระพุทธศาสนาเป็นที่พึ่งจิตของพ่อ

ภาพนี้ทำให้ผมได้รับรางวัลเหรียญทองระดับชาติ โดยมีผู้เข้าแข่งขันจากทั่วประเทศ 300 คน คัดเลือกเพื่อเข้าแคมป์ 70 คน มาสร้างสรรค์งาน 2 วัน และคัดเลือกงาน 10 ชิ้นไปโชว์ที่อเมริกา ถือเป็นอีก 1 ผลงานที่ผมภาคภูมิใจมาก” และล่าสุดเมื่อเร็วๆ นี้ ภาพวาดสีน้ำ “วิถีชีวิตอีสาน” ของอาจารย์กฤษณายังได้รับคัดเลือกเป็น 1 ใน 15 ภาพไปแสดงในงาน “เวิลด์ วอเตอร์คัลเลอร์” ที่อิตาลีอีกด้วย

เคล็ดลับการเติมไฟให้กับตัวเองอยู่เสมอๆ ก็คือ การเป็นศิลปินต้องสร้างเทคนิคของภาพเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวให้ได้ เช่น เทคนิคการสลัดให้สีเป็นจุดๆ กระจายไป เป็นเอกลักษณ์ที่เขาเพิ่งคิดค้นได้เพื่อให้เป็นสไตล์ของตัวเอง

กฤษณา โมคศิริ อย่าหยุดนิ่งที่จะพัฒนาตัวเอง

“การค้นหาตัวตนและเทคนิคเฉพาะตัวเป็นเรื่องที่ยากมาก ซึ่งผมค้นพบได้โดยบังเอิญตอนไปวาดภาพ 3 มิติ น้ำตกขนาดใหญ่ที่เมืองท่องเที่ยวของโฮจิมินห์เวียดนาม เขานำสีน้ำมันมาให้ผมกับเพื่อนศิลปินชาวไทย ลาว และเวียดนาม ช่วยกันวาดภาพน้ำตกที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งผมก็คิดเทคนิคได้โดยบังเอิญ เพราะต้องวาดน้ำตกให้ดูเหมือนน้ำจริงๆ จึงสลัดพู่กันออกไป จนเกิดเทคนิคแปลกๆ ผมจึงจำเทคนิคมาดัดแปลงเป็นงานสร้างสรรค์ของผมในเวลาต่อมา”

อีกหนึ่งเคล็ดลับอาจารย์กฤษณา เล่าว่า กว่าจะประสบความสำเร็จระดับหนึ่งในฐานะศิลปินวาดภาพจิตรกรรมสากลได้ คือ ต้องหมั่นฝึกฝนตัวเองอยู่เสมอ เมื่อพบงานที่ทำแล้วมีความสุขให้มุ่งมั่นทำไป

“สำหรับศิลปินรุ่นใหม่ๆ บางคนสร้างสรรค์งานออกมาจนรู้สึกว่าธรรมดาไปแล้ว ไม่รู้สึกท้าทายหรือตื่นเต้นที่จะสร้างสรรค์งานใหม่ๆ ผมขอแนะนำให้ฝึกฝนหาความคมของภาพให้ดีขึ้นไปอีก อาศัยความประณีตถ้าสร้างสรรค์แล้วเกิดความเบื่ออีก ก็ต้องพัฒนาเทคนิคใหม่ๆ แฝงแนวความคิดส่วนตัวเข้าไปจะทำให้ภาพมีคุณค่าขึ้นมา

ถ้าเขียนแค่เหมือนก็ใช้ฝีมืออย่างเดียว แต่งานศิลปะต้องแฝงแนวความคิดที่เป็นเอกลักษณ์ของเรา ถือว่าสำคัญมากๆ เพราะจะทำให้ภาพที่เราสร้างสรรค์มีความเป็นตัวเอง เพราะไม่มีใครเหมือนใครสักคน จึงยากตรงนี้ เริ่มแรกศิลปินเด็กๆ สามารถพัฒนาตัวเองโดยการก๊อบปี้งานของศิลปินดังๆ ก่อน จากนั้นค่อยๆ ประยุกต์ให้เหมาะกับตัวเอง และเรียนรู้ขั้นสูงและสร้างสรรค์ผลงานตัวเองอย่าหยุดนิ่ง”