สมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม
อกร่อง หูยาน ฐานแซม คือคำจำกัดความของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม
โดย ราช รามัญ
อกร่อง หูยาน ฐานแซม คือคำจำกัดความของพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ฐานแซม มาชมพระต้อนรับปีใหม่ด้วยสิ่งมงคลสวยงาม พระองค์นี้แฟนทางบ้านที่ส่งมาให้ชมได้กล่าวว่าผ่านตากูรูพระเบญจภาคีรุ่นใหญ่เจ้าของพิพิธภัณฑ์พระเครื่องของไทยมาแล้ว โดยท่านได้กล่าวว่าเป็นสมเด็จวัดระฆังพิมพ์ฐานแซมยุคแรก ลงรักปิดทองเก่ามา สภาพเช่นนี้ค่านิยมอยู่ที่ใจเลยครับ
หยิบพระมาส่องก่อนอื่นต้องเข้าถึงเอกลักษณ์ของพระสมเด็จ พิมพ์ฐานแซมคือ อกร่อง หูยานฐานแซม เส้นซุ้มเป็นลำหวายขนาดใหญ่ พระพักตร์ต้องเป็นผลมะตูม พระกรรณสองข้างยาว เกศมักจะยาวโค้งปลายจรดซุ้ม ความสวยของพระองค์นี้มองเห็นเส้นพระศอชัดเจน มองไปที่พระอุระจะเป็นทรงวี ตรงส่วนพระอุทรจะปรากฏร่องบางๆ มุมประสานของพระหัตถ์จะเป็นมุมกว้างและบริเวณข้อศอกมักจะหักเป็นมุมเหลี่ยม
บริเวณเข่าทั้งสองข้างจะสูงคล้ายด้ามสาก บริเวณตรงกลางจะเว้าเข้าไปเล็กน้อย ปรากฏเส้นฐานแซมเหนืออาสนะชั้นบนจะหักเชื่อมกับปลายฐานชั้นบนสุด และใต้อาสนะชั้นที่หนึ่งก็จะปรากฏเส้นฐานแซม ปลายเส้นแซมจะโค้งลงมาจบกับปลายฐานทั้งสองด้านมองเหมือนฐานขาสิงห์ จะสังเกตได้ว่าเส้นแซมของพระสมเด็จองค์นี้คมมาก
จากอายุพระ 100 กว่าปี ยังคงสภาพความสวยได้แบบนี้นับว่าไม่ธรรมดาครับ
อันเสน่ห์ของพระสมเด็จลงรักนั้น ถ้ามาพิจารณาดู ก่อนอื่นจะต้องเข้าใจก่อนว่ารักในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งผ่านมา 100 กว่าปีแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นรักจากเมืองจีน สีของรักนั้นจะเป็นสีดำอมน้ำตาลเข้มหรือให้เข้าใจง่าย ก็คือ รักที่เคลือบพระบูชารัตนโกสินทร์หรือที่เรียกว่า รักรัตนฯ เพราะอยู่ในยุคเดียวกัน
เมื่อมาส่องดูทองที่ปิดบนผิวรัก สีของทองนั้นจะออกซีดและแห้งเหมือนทองที่ปิดอยู่บนผิวพระรัตนฯ อาจจะมีคำถามต่อมาว่า ปกติพระที่ลงรักปิดทองเมื่อล้างรักออก หรือรักร่อนออกมักจะมีผิวแตกลายงา แต่ทำไมองค์นี้ก็มีจางๆ นั่นเป็นเพราะมวลสารขององค์พระ ถ้าองค์ไหนมวลสารมีส่วนผสมน้ำมันตังอิ๊วเยอะและไม่แก่ปูน เมื่อล้างรักออกก็จะเห็นความหนึกนุ่ม การแตกลายงาอาจจะไม่มากนัก หากองค์ไหนที่แก่ปูนหรือเนื้อแกร่งเมื่อล้างรักออกแล้วผิวย่อมดูเหมือนแตกลายงาอันเกิดจากน้ำรักไปรัดผิวพระที่เกิดการหดตัวบนผิวพระ
มาดูเนื้อหาของพระสมเด็จองค์นี้หนึกนุ่มชวนฝัน จากความแห้งแบบคลาสสิกและการร่อนตัวของรักจากที่กล่าวมาและคราบรักเก่าขนาดเล็กที่กระจัดกระจายฝังอยู่ตามองค์พระ นับเป็นเสน่ห์อีกประการหนึ่งที่มองให้เห็นความเก่าซึ่งไม่อาจล้างได้หมด เพราะถ้าล้างออกหมดและล้างไม่เป็น อาจจะพาผิวองค์เสียหายไปด้วย