พระพุทธศาสนา ในประเทศฮังการี
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา) ดร., คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย
โดย วรธาร ทัดแก้ว ภาพ Phanna Som
พระมหาสมบูรณ์ วุฑฺฒิกโร (พรรณา) ดร., คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร) ถือเป็นพระสงฆ์ไทยรูปหนึ่งที่ได้รับนิมนต์จากผู้บริหารของวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกต (Dharma Gate Buddhist College) เมืองบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ให้ไปสอนหนังสือนิสิตระดับปริญญาตรีและโทในประเทศสหภาพยุโรป
ครั้งแรก ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนเป็นเวลา 19 วัน ระหว่างวันที่ 15 เม.ย.-3 พ.ค. 2561 สอนทั้งหมด 2 วิชา คือ วิชาอภิธรรมฝ่ายบาลี (Pali Abhidhamma) หรือวิชาอภิธรรมตามแนวคัมภีร์บาลีของฝ่ายเถรวาท ซึ่งรูปแบบการสอนของท่านค่อนข้างเข้มข้น มีการตั้งหัวอภิธรรมขึ้นมาให้นักศึกษาได้ถกกัน ในบรรยากาศธรรมชาติแบบเป็นกันเอง อีกวิชาคือพุทธจิตวิทยา (Buddhist Psychology)
ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-22 พ.ย. 2561 เป็นเวลา 20 วัน สอน 3 วิชา ประกอบด้วย 1.วิชา ประเทศพระพุทธศาสนาเถรวาท (Theravada Buddhist Countries) 2.วิชาธรรมบท (Dhammapada) และ 3.วิชาพุทธจิตวิทยา (Buddhist Psychology) ปิดท้ายด้วยกิจกรรมนำปฏิบัติกรรมฐานเป็นเวลา 2 วัน วันละ 7 ชั่วโมง
ผู้ที่มาเรียนกับท่านแม้จะไม่มากมายเต็มห้องแต่ก็หลากหลาย เนื่องจากวิทยาลัยได้เปิดให้ประชาชนทั่วไปที่สนใจพระพุทธศาสนาได้มาลงทะเบียนเรียนด้วย ดังนั้นผู้เรียนจึงคละปนกัน บางคนเป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 บางคนชั้นปีที่ 2 บางคนกำลังศึกษาปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยอื่น บางคนเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย บางคนก็เป็นประชาชนที่ส่วนใหญ่ทำงานแล้วก็ตั้งใจมาเรียนเพื่อนำไปใช้ในชีวิต
พระมหาสมบูรณ์ เล่าว่า ความสนใจในพระศาสนาพุทธของคนฮังการีนั้นคล้ายกับชาวยุโรปทั่วไป คือ เน้นศึกษาพระพุทธศาสนา เพื่อนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ได้นับถือในเชิงพิธีกรรม ประเพณีเหมือนบ้านเรา โดยสิ่งที่เขาสนใจมากที่สุด ก็คือ เรื่องวิปัสสนากรรมฐาน ที่ความสนใจเพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ
“อาตมาเคยถามจำนวนชาวพุทธในฮังการีกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยท่านหนึ่ง ท่านบอกว่าชาวพุทธในฮังการีมีประมาณคร่าวๆ 5 หมื่นคน ส่วนใหญ่เป็นฝรั่งฮังการีแทบทั้งนั้น ไม่ได้เป็นชาวเอเชียที่นับถือพระพุทธศาสนาแล้วอพยพเข้ามาในฮังการี
ขณะที่พระพุทธศาสนาที่มีอิทธิพลต่อชาวพุทธฮังการีมากที่สุด ก็คือ พระพุทธศาสนาแบบวัชรยานของทิเบต เรียกว่า ถ้าเมื่อใดที่องค์ดาไล ลามะ เสด็จมาแสดงธรรมะคนจะมาฟังเป็นเรือนหมื่นเลย ส่วนพระพุทธศาสนาแบบเถรวาท เช่น ในไทย เมียนมา กัมพูชา ลาว ยังไม่ค่อยมีอิทธิพลต่อคนฮังการีมากนัก เพราะเพิ่งเข้าไปเผยแผ่ได้ไม่นาน และไม่ค่อยมีบุคคลที่เป็นผู้นำในการเผยแผ่ที่เข้มแข็ง
กระนั้นก็ตาม แม้พระพุทธศาสนาแบบวัชรยานของทิเบตจะมีอิทธิพลต่อจิตใจและความศรัทธาของชาวพุทธฮังการีมากแค่ไหน แต่คนฮังการีก็ไม่เคยยึดติดที่นิกายเหมือนในบ้านเรา เพราะเขาค่อนข้างที่จะเปิดกว้างมากในเรื่องนี้ ขอแค่รู้ว่าเป็นพระพุทธศาสนาเขาก็พร้อมศึกษาหมด ที่สำคัญฮังการียังมีศูนย์วิปัสสนาเยอะ แสดงให้เห็นว่าคนฮังการีนั้นสนใจวิปัสสนามากขึ้นจริง”
พระมหาสมบูรณ์ เล่าต่อว่า นอกจากคนฮังการีจะสนใจวิปัสสนากรรมฐานแล้วยังศึกษาพระพุทธศาสนาในเชิงวิชาการด้วย เห็นได้จากมีการไปเรียนต่อต่างประเทศ เช่น ทิเบต อินเดีย ศึกษาพระพุทธศาสนา ศึกษาภาษาบาลี และสันสกฤต แต่สิ่งที่ต้องบอกว่าเซอร์ไพรส์มาก ก็คือ ฮังการี ถือเป็นประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่ก่อตั้งวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนาโดยตรงขึ้น ซึ่งก็คือวิทยาลัยพระพุทธศาสนาธรรมเกตที่เปิดการศึกษาในระดับปริญญาตรีและโท ส่วนประเทศอื่นในยุโรปจะมีแค่สาขาพระพุทธศาสนาย่อยๆ ในคณะต่างๆ เท่านั้น
“วิทยาลัยนี้ก่อตั้งมาได้ประมาณ 20 ปี เกิดขึ้นมาจากกลุ่มพุทธศาสนิกชนชาวฮังการีที่รวมตัวก่อตั้งเป็นพุทธสมาคมขึ้นมา ส่วนงบประมาณได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลฮังการี ซึ่งต้องยอมรับว่าตั้งแต่ก่อตั้งวิทยาลัยแห่งนี้มีหนังสือที่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาได้รับการแปลเป็นภาษาฮังการีมากมายหลายเล่ม” พระมหาสมบูรณ์ กล่าว