posttoday

‘มหาเธร์’งัดก๊อก 2 ปราบทุจริตเรื้อรังมาเลเซีย

02 กุมภาพันธ์ 2562

ประเด็นอื้อฉาวเรื่องการทุจริต

โดย ทีมข่าวต่างประเทศโพสต์ทูเดย์

ประเด็นอื้อฉาวเรื่องการทุจริต โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตเงินจากกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย (1MDB) ได้สร้างความเสียหายหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐให้กับมาเลเซีย และยังนำไปสู่การเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ครั้งแรกของประเทศเมื่อปีที่แล้ว ขณะที่อดีตนายกรัฐมนตรี นาจิบ ราซัค ถูกตั้งข้อหาที่เกี่ยวข้องกับวันเอ็มดีบีไปแล้ว 42 ข้อหา

นายกรัฐมนตรี มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้เปิดเผย “ยุทธศาสตร์ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติระยะ 5 ปี” (NACP) มุ่งปราบการทุจริตให้หมดไปจากมาเลเซียภายใน 5 ปี นับว่าเป็นความพยายามครั้งที่ 2 ในการปราบทุจริตระดับประเทศ หลังจากอับดุลเลาะห์ อาหมัด บาดาวี อดีตนายกรัฐมนตรี เคยออกแผนพัฒนาความซื่อตรงแห่งชาติ (NIP) ในปี 2004 พร้อมขยายอำนาจคณะกรรมการปราบปรามการทุจริตมาเลเซีย (เอ็มเอซีซี) โดยความพยายามดังกล่าวยังได้ส่งต่อไปถึงรัฐบาลยุคนาจิบ ซึ่งได้ออกแผนปฏิรูปรัฐบาล 1.0 และ 2.0 ในปี 2010 และ 2012 แต่มหาเธร์ กล่าวว่า แผนเอ็นไอพียังไม่สามารถปราบวัฒนธรรมแห่งการทุจริตออกไปจากมาเลเซีย

ทั้งนี้ สเตรทส์ไทมส์ รายงานว่า แม้มหาเธร์เคยถูกกล่าวหาเรื่องปล่อยให้เกิดการทุจริต และเอื้อพวกพ้องสมัยดำรงนายกรัฐมนตรี 22 ปี สิ้นสุดเมื่อปี 2003 เนื่องจากมีเศรษฐีหลายคนที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลเจริญรุ่งเรือง แต่ความพยายามปราบการทุจริตแห่งชาติครั้งนี้จะแตกต่างจากครั้งก่อน เนื่องจาก
มหาเธร์อยู่ฝั่งแนวร่วมแห่งความหวัง (ปากาตัน ฮาราปัน : พีเอช) ขั้วตรงข้ามกับแนวร่วมแห่งชาติ (บาริซันแนชันนัล : บีเอ็น) ที่เคยเป็นรัฐบาลมาตลอด อีกทั้งคณะรัฐมนตรีของพีเอชหลายคนก็ขึ้นชื่อว่าเป็นนักการเมืองสายปฏิรูป รวมถึง อันวาร์ อิบราฮิม ผู้ริเริ่มขบวนการปฏิรูปการเมือง หรือรีฟอร์มาซี ซึ่งกำลังจะได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากมหาเธร์

นอกจากนี้ การปรากฏตัวของแกนนำ 2 พรรคใหญ่ที่สุดของฝ่ายค้านอย่างอับดุล ฮาดี อาวัง ประธานพรรคอิสลามแห่งมาเลเซีย (ปาส) และโมฮัมหมัด ฮาซาน รักษาการประธานพรรคอัมโน พรรคใหญ่ที่สุดของบีเอ็น ในงานเปิดแผนเอ็นเอซีพียังเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าแผนใหม่ของมหาเธร์ได้รับการสนับสนุนเป็นวงกว้างด้วย

อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิจารณ์พีเอชยังคงวิจารณ์เรื่องการทุจริตภายในพีเอชอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะเรื่องล่าสุดคือ ข้อกล่าวหาเรื่องการซื้อเสียงในการเลือกตั้งซ่อมเขตคาเมรอน ไฮแลนด์ส รัฐปาหัง เมื่อวันที่ 26 ม.ค.ที่ผ่านมา แต่มหาเธร์ ระบุว่า จำนวนเคสร้องเรียนการทุจริตที่เพิ่มขึ้นเป็นเพราะประชาชนรู้สึกมีอิสระมากขึ้นในการร้องเรียน

ขณะที่ดัชนีการรับรู้คอร์รัปชั่น (ซีพีไอ) ประจำปี 2018 ขององค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (ทีไอ) มาเลเซียยังได้อันดับสูงขึ้น 1 อันดับ มาอยู่ที่ 61 แต่คะแนนยังเท่าเดิมที่ 47 คะแนน

เพิ่มมาตรการล็อตใหญ่

แผนเอ็นเอซีพีกำหนด 6 ยุทธศาสตร์หลักในการปราบทุจริต คือ 1.เสริมสร้างคุณธรรมและสามัญสำนึกทางการเมือง 2.เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของภาครัฐ 3.เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ 4.เพิ่มความน่าเชื่อถือของฝ่ายตุลาการและระบบยุติธรรม 5.เพิ่มความน่าเชื่อถือของหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และ 6.ส่งเสริมธรรมาภิบาลอันดีในเอกชน

ภายใต้ 6 ยุทธศาสตร์แบ่งเป็นความริเริ่ม 115 รายการ แบ่งเป็นกรอบระยะสั้น (1 ปี) ระยะกลาง (2 ปี) และระยะยาว (5 ปี) โดยกรอบระยะสั้น 1 ปี รวมถึงการตั้งระบบแสดงบัญชีทรัพย์สินสำหรับคณะรัฐมนตรีและสมาชิกสภาการออกกฎหมายห้ามสมาชิกคณะรัฐมนตรีหรือบุคคลที่ทรงอิทธิพลออกจดหมายสนับสนุนโครงการต่างๆ และกำหนดมาตรฐานในกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างของโครงการต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งจะบังคับใช้กับรัฐวิสาหกิจด้วย และหากพบว่ามีการละเมิดสัญญารัฐบาลจะยกเลิกสัญญาได้ และจะยื่นฟ้องคดีแพ่งกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

กรอบระยะ 2 ปี รวมถึงการออกกฎหมายใหม่เรื่องการระดมทุนพรรคการเมืองและการวิ่งเต้น และการปรับแก้เรื่องงบประมาณสำหรับการเลือกตั้ง

สำหรับกรอบระยะ 5 ปี รวมถึงการห้ามใช้ทรัพย์สินและอุปกรณ์ของรัฐในการหาเสียง เพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการกำหนดเขตเลือกตั้งทั้งเลือกตั้งรัฐสภาและเลือกตั้งรัฐ และปรับแก้พระราชบัญญัติปราบปรามการทุจริตปัจจุบัน เพื่อบังคับให้บุคคลที่ได้ผลประโยชน์จากโครงการภาครัฐหรือผู้เข้าร่วมประมูลโครงการต้องเปิดเผยโครงสร้างผู้ถือหุ้นในโครงการ

จับตาแก้ปัญหาเชื้อชาติ

หนึ่งในประเด็นที่น่าจับตาที่สุดไม่แพ้เรื่องการปราบทุจริตคือ การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติที่เรื้อรังมานาน โดยประเด็นที่น่าจับตาคือรัฐบาลจะจัดการกับระบบสิทธิพิเศษทางเชื้อชาติอย่างไรในการทบทวนแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติมาเลเซีย ฉบับที่ 11 รอบกลางเทอม ซึ่งจะมีผลถึงปี 2020

ทั้งนี้ คำถามเรื่องการแก้ปัญหาขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติเริ่มมีมากขึ้นนับตั้งแต่พ้นยุครัฐบาลชุดเดิมที่เอาใจคนเชื้อสายมลายู ขณะที่พรรคอัมโนกำลังเสื่อมอำนาจอย่างรวดเร็วหลังแพ้เลือกตั้ง เช่นเดียวกับพันธมิตรร่วมก่อตั้งบีเอ็น ได้แก่ พรรคสมาคมชาวจีน (เอ็มซีเอ) และสภาชาวอินเดีย มาเลเซีย (เอ็มไอซี)

อย่างไรก็ดี เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์ รายงานว่า มหาเธร์ไม่เคยชูนโยบายแก้ปัญหาเรื่องความขัดแย้งระหว่างเชื้อชาติ อีกทั้งหลังชนะการเลือกตั้งในปีที่แล้ว มหาเธร์ยังให้คำมั่นว่าจะรักษาสิทธิพิเศษสำหรับภูมิบุตรไว้ด้วย

นอกจากนี้ รัฐบาลมาเลเซียยังต้องยอมถอยแผนให้สัตยาบันในอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ไอซีอีอาร์ดี) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เมื่อเดือน พ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากชาวมลายูลุกฮือประท้วงรัฐบาลอย่างหนัก นำโดยการปลุกระดมของพรรคอัมโน ซึ่งมหาเธร์ยอมรับว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะให้สัตยาบันได้ แม้ว่ารัฐบาลพีเอชจะพยายามส่งเสริมความสามัคคีระหว่างเชื้อชาติ