อีริคสัน ร่วมกระทรวง DE จัดแสดง Ericsson 5G Lab ในพื้นที่ EEC
อีริคสัน ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดแสดงเทคโนโลยี 5G ในโอกาสร่วมลงพื้นที่เตรียมความพร้อมของสนามทดสอบ 5G Testbed
(จากภาพ) นายวุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ หัวหน้างานฝ่ายเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ และดร.เจษฎา ศิรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด (ที่ 1 และ 2 จากขวา) ให้การต้อนรับ นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ที่ 3 จากซ้าย) และคณะในการเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมของสนามทดสอบ Testbed 5G-IoT ในพื้นที่ EEC ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา
เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2562 อีริคสัน ประเทศไทย ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำโดยคุณวุฒิชัย วุฒิอุดมเลิศ หัวหน้างานฝ่ายเน็ตเวิร์คโซลูชั่นส์ บริษัท อีริคสัน ประเทศไทย จำกัด จัดแสดงเทคโนโลยี 5G ในโอกาสร่วมลงพื้นที่เตรียมความพร้อมของสนามทดสอบ 5G Testbed ณ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตศรีราชา โดยมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิวัฒนาการของเทคโนโลยี 5G เส้นทางสู่การสร้างรายได้จาก 5G ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โมเดลการทำธุรกิจใหม่ ๆ รวมไปถึงคลื่นความถี่ที่เหมาะสมสำหรับ 5G พร้อมกันนี้ยังได้นำอุปกรณ์ที่พร้อมรองรับเทคโนโลยี 5G ของอีริคสันมาแสดงในงาน แสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการสนับสนุนผู้ให้บริการและภาครัฐในการพัฒนาประเทศไทยเข้าสู่ยุค 5G
โดยอีริคสันได้นำซอฟท์แวร์ 5G Radio Access Network (RAN) ที่สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ และได้รับการรับรองตามมาตรฐาน 3GPP 5G New Radio (NR) เป็นรายแรกของโลก พร้อมสถานีฐานแบบใหม่ที่เรียกว่า Street Macro มานำเสนอ เพื่อตอบโจทย์ผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดในการหาสถานที่ตั้งสถานีฐานในเขตเมือง เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างไร้รอยต่อจาก 4G ไปยัง 5G โดย Street Macro จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างสถานีฐานแบบ Macro และ Micro โดยสถานีฐานชนิดใหม่นี้สามารถไปติดตั้งในพื้นที่ที่จำกัดตามตึกสูงในเมืองได้เหมือนแบบ Micro แต่สามารถให้การครอบคลุมของสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนแบบ Macro นอกจากนี้ Street Macro ยังมีขนาดเล็ก น้ำหนักเบา ติดตั้งง่าย และมีระบบ Active Antenna ฝังอยู่ภายในสถานีฐาน และประเทศไทยเป็นแห่งแรกของโลกที่ทางอิริคสันนำเข้ามาติดตั้ง
นอกจากนี้อีริคสันยังได้นำเทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์สถานีฐานแบบใหม่ของ Massive MIMO Technology ซึ่งจะช่วยการพัฒนาเครือข่าย 4G เดิมเข้าสู่ 5G โดยตอบสนองความต้องการในการเพิ่มความเร็วขึ้น ทั้งนี้ระบบสถานีฐานของอิริคสันที่มีการติดตั้งตั้งแต่ปี 2558 สามารถอัพเกรดเป็น 5G NR โดยการติดตั้งซอฟท์แวร์จากทางไกลได้ โดยการผสมผสานของผลิตภัณฑ์ใหม่ของอิริคสันรวมทั้งการสนับสนุน 5G บนสถานีฐานที่ติดตั้งไปแล้วจะทำให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าสู่ยุค 5G ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับแอพพลิเคชั่นส์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้
กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ขยายเพิ่มเติมนี้จะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้สูงขึ้น เข้าถึง 5G แบบ end-to-end ซึ่งรวมไปถึง 5G NR Radio ครั้งแรกในอุตสาหกรรมระดับโลก อีริคสันยังเป็นเจ้าแรกในตลาดสำหรับโซลูชั่นส์ที่จะเปลี่ยนถ่าย 4G สู่ 5G ได้อย่างราบรื่น โดยใช้แพลทฟอร์ม 5G ใหม่ของอีริคสัน ผนวกกับ Core และ Radio use cases ซึ่งแพลทฟอร์มใหม่นี้ประกอบไปด้วย 5G Core, Radio และ Transport portfolios ทำงานร่วมกับระบบดิจิทัล บริการด้านการเปลี่ยนถ่ายและความปลอดภัย
ในอนาคตอุตสาหกรรมการผลิตหรือโรงงานต่าง ๆ จะต้องใช้ 5G เพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ยุค Industrial 4.0 โรงงานในอนาคตจะต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาสู่กระบวนการผลิต ซึ่งจะเกิดขึ้นได้โดยการผ่านการเชื่อมโยงโครงข่าย 5G ระบบการสื่อสารภายในโรงงานจะต้องผ่านเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐานและผ่านการยอมรับโดยภาคอุตสาหกรรม การเชื่อมโยงด้วยโครงข่ายที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นย่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายในขั้นตอนการผลิตได้ ทั้งนี้ด้วยการเชื่อมโยงที่ได้มาตรฐานจะต้องมีการเพิ่มอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น Wireless Sensor เข้าไปตามสายการผลิตในโรงงาน ซึ่งสามารถทำได้อย่างง่ายดายและทันที โดยไม่จำเป็นต้องไปขัดจังหวะขั้นตอนการผลิต หรือการนำหุ่นยนต์ทั้งแบบประจำที่หรือแบบเคลื่อนที่เข้าไปยังสายการผลิต ก็สามารถทำได้โดยไม่ต้องมีการลากสายให้ยุ่งยากเหมือนโรงงานในปัจจุบัน ทั้งนี้ 5G จะมีบทบาทสำคัญในการเก็บรวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ในโรงงาน แล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาวิเคราะห์และสั่งการหุ่นยนต์ที่อยู่ในสายการผลิต โดยผ่านระบบคลาวด์ การควบคุมการเคลื่อนที่ของหุ่นยนต์จะเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุดเมื่อนำเข้ามาสู่สายการผลิตจริง โดยจะต้องมี Latency ที่น้อยกว่า 1 มิลลิวินาที โดยในการสาธิตนี้จะแสดงให้เห็นถึงการควบคุมแขนกลของหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมผ่านการขยับมือของผู้ควบคุมบนโครงข่าย 5G
อีกหนึ่งตัวอย่างที่อีริคสันนำมาสาธิต คือ รถตักดินที่ควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่าย 5G เป็นการสาธิตการนำ 5G HF (High Frequency หรือความถี่สูง) มาใช้งาน โดยข้อมูลการควบคุมรถตักดินนี้จะถูกสั่งการจากแท่นควบคุมไปยัง 5G Core Network ก่อนที่จะถูกส่งต่อไปที่แขนกลของหุ่นยนต์ผ่านโครงข่าย 5G NR ในแบบ Realtime โดยหุ่นยนต์จะตอบสนองต่อการควบคุมในแบบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย เช่น การเคลื่อนไปข้างหน้า การหมุนซ้ายขวา หรือการตักดิน เป็นต้น รถตักดินที่ควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่าย 5G จะเป็นการสาธิตการเชื่อมต่อระหว่างอุปกรณ์เครื่องจักรในภาคสนาม เช่น การทำเหมืองแร่ โดยการควบคุมจากระบบปฏิบัติการหลังบ้านแบบ Real time การควบคุมระยะไกลจะทำให้การปฏิบัติงานของเครื่องจักรขนาดใหญ่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีความปลอดภัยและลดความเสี่ยงเนื่องจากอุบัติภัยในการทำงานได้อีกด้วย สำหรับชุดสาธิตนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของโครงข่าย 5G ที่มี Low Latency รวมทั้งมีความมั่นคงและเชื่อถือได้ สามารถทำให้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องจักรทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในอนาคตการควบคุมระยะไกลผ่านโครงข่าย 5G จะถูกนำมาใช้ในการทำงานภายใต้สภาพแวดล้อมที่มีอันตราย เพื่อลดความเสี่ยงต่อชีวิตของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน นอกจากนี้ชุดสาธิตนี้ยังแสดงให้เห็นการเชื่อมโยงของ 5G URLLC (Ultra reliability and Low latency communication) โดยการเปรียบเทียบรถตักดินสองคัน โดยที่คันหนึ่งมีการเชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 5G NR ในขณะที่อีกคันหนึ่งมีการเชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 4G LTE หลังจากที่ได้ทำการทดสอบแล้วผู้สังเกตุการณ์จะเห็นได้ว่ารถตักดินคันที่เชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 5G NR จะสามารถเคลื่อนที่ตอบสนองได้อย่างทันท่วงที เมื่อเทียบกับอีกคันที่เชื่อมโยงผ่านโครงข่าย 4G LTE ซึ่งยังมีการตอบสนองที่ช้าอยู่
“เทคโนโลยี 5G จะสามารถเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการได้สูงขึ้นถึง 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 22 ของรายได้ที่คาดการณ์ไว้ภายในปี 2569 โดยอุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมด้านพลังงานและสาธารณูปโภค และความปลอดภัยด้านสาธารณะ จะเป็นภาคส่วนที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างรายได้จาก 5G ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามผู้ให้บริการจำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับ 5G เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศไทยต่อไป” วุฒิชัย กล่าว