ปั้นไทยขึ้นฮับ ธุรกิจล่องเรือยอชต์
โบ๊ทลากูนยอช์ตติ้งเผยนักท่องเที่ยวคุณภาพนิยมแล่นเรือยอชต์แวะพักภูเก็ตหนุนธุรกิจโต คาดปี 2563 โต 40%
โดย...ภูวดล โกมลรัตนเสถียร
ปัจจุบันการท่องเที่ยวทางทะเลเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ได้รับความนิยม จากนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ทั้งการเล่นเรือใบและการท่องเที่ยวด้วยเรือยอชต์ เพื่อชมความงามของท้องทะเลและหมู่เกาะต่างๆ ซึ่งภูเก็ตกลายเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในทะเลอันดามันที่สำคัญ สามารถดึงดูดตลาดนักท่องเที่ยวคุณภาพที่มีกำลังซื้อสูงเข้ามาท่องเที่ยว
วริศ ยงสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โบ๊ทลากูนยอช์ตติ้ง เปิดเผยว่า ปัจจุบันนักท่องเที่ยวคุณภาพได้แล่นเรือยอชต์มาจอดแวะพักและท่องเที่ยวที่ภูเก็ต โดยมีจำนวนเรือที่เพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 1,200-1,500 ลำ ส่วนใหญ่จะเดินทางมาจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ออสเตรเลีย อังกฤษ และญี่ปุ่น
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภูเก็ตกลายเป็นจุดหมายปลายทางหรือเดสติเนชั่น ที่สำคัญ มาจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเลหลายแห่ง รวมถึงเกาะต่างๆ เช่น เกาะห้อง เกาะลันตา เกาะราชา อีกทั้งการเปิดเที่ยวบินตรงจากดูไบ สิงคโปร์ ฮ่องกง และเซี่ยงไฮ้ เข้าภูเก็ตและ กระบี่ ทำให้กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีกำลังซื้อสูงต้องการที่จอดเรือ และเมื่อบินมาถึงก็สามารถนำเรือแล่น ท่องเที่ยวได้ รวมถึงฝีมือและคุณภาพของช่างและบริษัทในการบำรุงดูแลเรือก็ได้มาตรฐานระดับสากล
พร้อมกันนี้ พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่นิยมการเข้าถึงหาดและท้องทะเลอย่างไร้สิ่งรบกวน อิสระ และความเป็นส่วนตัว ทำให้คาดการณ์ว่าในปี 2563 จำนวนเรือยอชต์ที่เดินทางมาภูเก็ต จะเพิ่มขึ้นเป็น 2,100 ลำ หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 40% โดยเป็นเรือซูเปอร์ยอชต์ประมาณ 190 ลำ ซึ่งทะเลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะกลายเป็นแหล่งที่มีเรือยอชต์เดินทางมากเป็น อันดับ 3 ของโลก รองจากเมดิเตอร์เรเนียนและทะเลแคริบเบียน
สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาไทยโดยเรือยอชต์ จะมีระยะเวลา พักผ่อนเฉลี่ยครั้งละ 60 วัน ซึ่งจะมี การจับจ่ายใช้สอยค่าใช้จ่ายต่างๆ เฉลี่ยไม่ต่ำกว่าคนละ 1 แสนบาท ทั้งค่าที่พักบนฝั่ง ค่าอาหาร ปาร์ตี้ สปา ช็อปปิ้งและท่องเที่ยว ส่วนเรือซูเปอร์ยอชต์ 1 ลำที่เดินทางมาไทย จะมีการใช้จ่ายอยู่ที่ 35-70 ล้านบาท/ทริป
อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีข้อจำกัดด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากตามปกติเมื่อเจ้าของเรือยอชต์ หรือซูเปอร์ยอชต์ นำเรือเข้าแวะพักที่ประเทศใด มักจะนำเรือของตนไปปล่อยเช่า แต่กฎหมายของไทยยังไม่อนุญาตให้ทำได้ รวมถึงข้อจำกัดเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมทาง การตลาดเพื่อผลักดันให้ไทยเป็นหนึ่ง ในปลายทางในเส้นทางเรือยอชต์ของ โลก
ดังนั้น ภาคเอกชนต้องการให้ ภาครัฐสนับสนุนงานยอชต์โชว์ที่มีอยู่ และแก้ไขกฎระเบียบเพื่ออนุญาตให้เรือยอชต์ที่จดทะเบียนในต่างประเทศสามารถเข้ามาปล่อยเช่าในประเทศได้ รวมถึงสนับสนุนด้านการเงินลงทุนสำหรับการซื้อเครื่องจักรที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจเรือยอชต์ ส่วนภาคเอกชนจะเดินหน้าขยายการลงทุนในพื้นที่ศักยภาพ โดยเฉพาะในภูเก็ต กระบี่ สมุย เพื่อดึงดูดตลาดท่องเที่ยวเรือยอชต์ใหม่ๆ
"ไทยยังมีคู่แข่งสำคัญคือมาเลเซียที่กำลังเร่งพัฒนามารีนาให้มีความครบวงจรในระดับโลก รวมถึงสิงคโปร์ที่ใช้ จุดเด่นเรื่องเมืองปลอดภาษีมาดึงดูด นักท่องเที่ยว ดังนั้นภาครัฐและเอกชนของไทยต้องร่วมมือกระตุ้นธุรกิจเรือยอชต์ เพื่อจะช่วยดึงดูดเม็ดเงินการ ท่องเที่ยวทางเรือให้เติบโตได้ต่อเนื่อง" วริศ ให้ความเห็นทิ้งท้าย