เมื่อ'การยิ้ม'ไม่ใช่เพียงแค่'การยิ้ม'
โดย...ดิลก ถือกล้า dilok.tue9176@gmail.com
โดย...ดิลก ถือกล้า dilok.tue9176@gmail.com
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ในทางการเมืองมีประเด็นระอุเรื่องของการยิ้มของคนไทย ที่นักการเมืองรุ่นใหม่ท่านหนึ่งได้เคยสัมภาษณ์ให้ความเห็นไว้เรื่องการยิ้มของคนไทยในมุมมองของเขา
แล้วคนหยิบมาเป็นประเด็นในทำนองว่า มีมุมมองที่ไม่เข้าใจคนไทย ไม่รู้รากเหง้าของคนไทย จนเกิดประเด็นถกเถียงกันในสังคม แต่ผมจะไม่ขอยกเรื่องนี้มากล่าวถึง เพราะปล่อยให้เป็นเรื่องทางการเมือง แต่ที่ผมอยากจะเขียนถึง คือ การยิ้ม สำหรับแต่ละชาติ ไม่ได้มีนิยามของการยิ้มที่เหมือนกันเสมอไป
ผมเคยเจอเรื่องความไม่เข้าใจเรื่องวัฒนธรรมการยิ้มกับตัวเองในช่วงที่ทำงานกับบริษัทญี่ปุ่นชื่อดังแห่งหนึ่ง เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่า มีอยู่วันหนึ่ง ผู้จัดการด้านวิศวกรรมชาวญี่ปุ่นที่เพิ่งมาบ้านไม่ถึง 2 เดือน ได้เข้ามาคุยกับผมด้วยท่าทีไม่ค่อยพอใจว่า "ดิลกซัง ผมไม่เข้าใจว่า ทำไมวิศวกรคนไทยถึงไม่ค่อยจริงจังเวลาเกิดปัญหาในงาน ทำไมดูพวกเขาทำเล่นๆ เหมือนไม่รู้สึกอะไร"
ผมทำท่าแปลกใจ เพราะเท่าที่รู้จักน้องๆ วิศวกร แต่ละคนทุ่มเท และรักงาน ผูกพันกับบริษัทมาก เลยถามเขาไปว่า "มีเหตุการณ์อะไร ทำให้เขารู้สึกแบบนั้น"
เขาเล่าให้ผมฟังว่า เมื่อวานมีปัญหาในสายการผลิต เขาเรียกทีมวิศวกรเพื่อประชุมด่วนระดมความคิดในการจัดการปัญหา แต่เรื่องที่ทำให้เขาหงุดหงิดใจ มากกว่าปัญหาในสายการผลิต ก็คือ การที่วิศวกรกลุ่มนี้ ยังยิ้มแย้ม พูดคุยแหย่เย้ากัน เหมือนไม่ได้รู้สึกอะไรกับปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่
ผมถามว่า เขาคาดหวังอะไร เขาบอกว่า อย่างน้อยเขาควรจะได้เห็นท่าทีที่เคร่งเครียด จริงจังให้มากกว่านี้ ผมเลยบอกเขาว่า เขาควรจะต้องเรียนรู้คนไทยให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การยิ้มของคนไทย เพราะคนไทยกับการยิ้มเวลาเจอปัญหา เป็นเหมือนการลดความกดดัน ลดภาวะตึงเครียดข้างใน และไม่ได้แปลว่า จะไม่จริงจังเวลาเผชิญปัญหา ถ้าเขาไม่เข้าใจตรงนี้ จะทำให้การบริหารทีมงานคนไทยของเขามีปัญหาได้ ซึ่งในเวลานั้นเหมือนเขาทำท่าจะไม่ค่อยเข้าใจเท่าไร
แต่ในทางกลับกัน ผมได้เจอเรื่องการยิ้มของคนญี่ปุ่น ที่ทำให้คนไทยตีความผิด และเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องของเรื่องคือ ในบริษัทญี่ปุ่นอีกแห่งหนึ่งที่ผมเคยทำงาน ผมได้ทำหน้าที่พาน้องๆ ที่รับมาใหม่ๆ ไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น บริษัทที่จัดการฝึกอบรมได้จัดเลี้ยงอาหารเย็นแบบญี่ปุ่นเป็นการเลี้ยงต้อนรับ มีพนักงานบริษัทผู้หญิงมาแต่งชุดประจำชาติญี่ปุ่น
ในวันนั้น พนักงานของเราที่ไปฝึกงานคนหนึ่ง ได้แสดงอาการรุ่มร่ามล่วงเกินพนักงานที่มาต้อนรับด้วยการจับมือ ถือแขน ไม่มีท่าทีจะหยุด จนผมต้องเข้าไปกันออกมา ซึ่งพนักงานหญิงชาวญี่ปุ่นคนนั้นก็พยายามขอตัวออกมาอย่างมีมารยาท พร้อมหน้าตาที่ยิ้มแย้ม รุ่งขึ้นผมได้คุยกับน้องคนนั้น ถามว่า ทำไมเขาไปจับไม้จับมือพนักงานหญิงคนนั้น เขาบอกว่า เขาคุยด้วยแล้วจับมือ จับแขนหลายครั้ง เห็นพนักงานคนนั้นยังยิ้มแย้มดี คิดว่าเขาคงไม่ถือสาอะไร
ผมเลยบอกว่า เขาเข้าใจผิดอย่างมาก คนญี่ปุ่นเขายิ้มเพราะต้องเก็บความรู้สึกที่แท้จริงไว้ข้างใน เพราะเขาถูกฝึกให้ต้องอดกลั้นด้วยการยิ้ม แม้ข้างในจะเป็นอย่างไร เราเลยได้เห็นคนญี่ปุ่นยังยิ้มได้แม้จะร้องไห้ออกมา ผมบอกว่าการที่เขาไปทำอย่างนั้น เป็นเรื่องเสียมารยาทอย่างมาก และผมต้องพาเขาไปขอโทษพนักงานหญิงคนนั้นต่อหน้าหัวหน้างาน และตัวน้องเองก็ได้บทเรียนเรื่องนี้ไปไม่น้อย
และเมื่อได้ศึกษาเรื่องการยิ้มของชาติ อื่นๆ น่าสนใจว่า มีการตีความเรื่องการยิ้มที่แตกต่างกัน คนรัสเซีย มองว่าการยิ้มให้กับคนที่ไม่คุ้นเคย คนแปลกหน้า เป็นการแสดงออกถึงความไม่จริงใจ เขาจะยิ้มในหมู่เพื่อน และในช่วงที่อารมณ์ดีเท่านั้น
คนอินเดียในคนรุ่นก่อนๆ ในวันแต่งงาน เจ้าสาวจะไม่แสดงอาการยิ้มแย้มเพราะต้องสงบเสงี่ยมสำรวม หากใครยิ้มแย้มออกหน้าออกตาจะถูกมองว่าไม่งาม ต่างจากคนอเมริกันที่เจ้าสาวจะต้องยิ้มอย่างเบิกบานสนุกสนานให้เต็มที่
เป็นเรื่องที่น่าคิดว่า การยิ้มไม่ใช่สิ่งที่จะตีความได้อย่างผิวเผินด้วยความเข้าใจจากประสบการณ์ตรงของตนเอง แต่การยิ้มคือสิ่งที่ต้องตีความด้วยความเข้าใจในบริบทของวัฒนธรรมแต่ละชาติ ไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ผิด และแสดงออกต่อสถานการณ์นั้นอย่างผิดๆ ได้
"เมื่อได้ศึกษาเรื่องการยิ้มของชาติอื่นๆ น่าสนใจว่า มีการตีความเรื่องการยิ้มที่แตกต่างกัน คนรัสเซีย มองว่าการยิ้มให้กับคนที่ไม่คุ้นเคย คนแปลกหน้า เป็นการแสดงออกถึงความไม่จริงใจ เขาจะยิ้มในหมู่เพื่อน และในช่วงที่อารมณ์ดีเท่านั้น ส่วนคนอินเดียในคนรุ่นก่อนๆ ในวันแต่งงาน เจ้าสาวจะไม่แสดงอาการยิ้มแย้มเพราะต้องสงบเสงี่ยมสำรวม"