วันที่ดวงอาทิตย์อยู่ตรงศีรษะ
ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว เดือน เม.ย.
ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว เดือน เม.ย.ของทุกปีมักเป็นช่วงที่ประเทศไทยมีอากาศร้อนที่สุด สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะช่วงนี้เมื่อถึงเวลาเที่ยงวัน ดวงอาทิตย์จะทำมุมตั้งฉากกับพื้นดินบริเวณละติจูดของประเทศไทย หากออกไปยืนกลางแจ้งในเวลาเที่ยง เราจะเห็นดวงอาทิตย์อยู่สูงเหนือศีรษะ วันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดของคนกรุงเทพฯ ในฤดูร้อนของปีนี้ตรงกับวันที่ 27 เม.ย. 2562
การที่แกนหมุนของโลกทำมุมเอียงกับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ประมาณ 23.5 องศา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดฤดูกาล แต่ละช่วงของปีเราเห็นดวงอาทิตย์เคลื่อนที่บนท้องฟ้าในแนวที่ต่างกัน ฤดูหนาวที่ผ่านมา ดวงอาทิตย์มีแนวการเคลื่อนที่เฉียงไปทางทิศใต้ ดวงอาทิตย์ขึ้นเหนือขอบฟ้าทางทิศตะวันออก โดยเยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อถึงเที่ยงวันก็ปรากฏอยู่สูงทางทิศใต้ ไม่ได้ผ่านเหนือศีรษะ จากนั้นก็ไปตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ แสงอาทิตย์ที่ตกในแนวเฉียงกับพื้นดินของประเทศไทยในขณะนั้นได้ทำให้เกิดฤดูหนาว
เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ดวงอาทิตย์เคลื่อนมาทางทิศเหนือมากขึ้น ตำแหน่งดวงอาทิตย์ขึ้นจึงเปลี่ยนมาอยู่ทางทิศตะวันออก เยื้องไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย เมื่อถึงเที่ยงวันก็ผ่านเหนือศีรษะแล้วคล้อยต่ำลง ตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตก เยื้องไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเล็กน้อย แสงอาทิตย์ที่ตกในแนวเกือบตั้งฉากกับพื้นดินของประเทศไทยในขณะนี้ทำให้เกิดฤดูร้อน
แต่ละปีมีช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะคนไทยอยู่ 2 ช่วง ช่วงแรกเกิดขึ้นในฤดูร้อน ระหว่างต้นเดือน เม.ย.-ต้นเดือน พ.ค. ช่วงที่ 2 เกิดขึ้นในฤดูฝน ตรงกับปลายเดือน ก.ค.-ต้นเดือน ก.ย. หากฝนไม่ตกและลมสงบ จะสังเกตได้ว่าบางวันในช่วงดังกล่าวอาจมีอากาศร้อนคล้ายเดือน เม.ย.
แต่ละพื้นที่ของประเทศมีวันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะแตกต่างกัน ช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะในฤดูร้อน ภาคใต้จะเกิดขึ้นก่อนภาคอื่นๆ จากนั้นก็ไล่ขึ้นมาตามการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า ซึ่งเคลื่อนจากทิศใต้ขึ้นมาทางทิศเหนือ ส่วนช่วงที่ดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะในฤดูฝนจะสลับกัน คือเริ่มจากภาคเหนือก่อน จากนั้นก็ไล่ลงไปตามการเปลี่ยนตำแหน่งของดวงอาทิตย์ที่เคลื่อนจากทิศเหนือลงไปทางทิศใต้
ระบบปฏิทินสากลที่เราใช้ทุกวันนี้มีการกำหนดวันให้ใกล้เคียงกับตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้ามากที่สุด ในปีปกติสุรทิน หรือปีที่มี 365 วัน ดวงอาทิตย์มักผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดสำหรับคนกรุงเทพฯ ครั้งแรกในวันที่ 27 เม.ย. ส่วนในปีอธิกสุรทิน วันที่เพิ่มเข้ามาในเดือน ก.พ. มักทำให้วันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดเลื่อนไปเป็นวันที่ 26 เม.ย. สำหรับปีนี้ วันและเวลาที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุดในกรุงเทพฯ และบางจังหวัดมีดังนี้ (เรียงตามวัน)
• อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 8 เม.ย. เวลา 12.20 น.
• อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 12 เม.ย. เวลา 12.21 น.
• อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 21 เม.ย. เวลา 12.20 น.
• กรุงเทพมหานคร วันที่ 27 เม.ย. เวลา 12.16 น.
• อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 1 พ.ค. เวลา 12.09 น.
• อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 2 พ.ค. เวลา 11.58 น.
• อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 7 พ.ค. เวลา 12.16 น.
• อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 15 พ.ค. เวลา 12.20 น.
หลังจากผ่านวันที่ดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นดินในฤดูร้อนไปแล้ว ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนไปทางทิศเหนือมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงจุดสูงสุดทางทิศเหนือในวันที่ 21 มิ.ย. 2562 จากนั้นจะวกกลับลงมา ทำให้ดวงอาทิตย์ในเวลาเที่ยงจะอยู่ตรงศีรษะอีกครั้ง ตัวอย่างของบางจังหวัด เรียงตามวัน ดังนี้
• อ.เมืองเชียงใหม่ วันที่ 29 ก.ค. เวลา 12.31 น.
• อ.เมืองพิษณุโลก วันที่ 6 ส.ค. เวลา 12.25 น.
• อ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 11 ส.ค. เวลา 12.06 น.
• อ.เมืองนครราชสีมา วันที่ 12 ส.ค. เวลา 12.17 น.
• กรุงเทพมหานคร วันที่ 16 ส.ค. เวลา 12.22 น.
• อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ วันที่ 22 ส.ค. เวลา 12.24 น.
• อ.เมืองนครศรีธรรมราช วันที่ 1 ก.ย. เวลา 12.20 น.
• อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา วันที่ 5 ก.ย. เวลา 12.17 น.
ตำแหน่งดวงอาทิตย์เป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อสภาพอากาศ เรามักพบว่าวันที่กรุงเทพฯ มีอุณหภูมิสูงสุดในแต่ละปีไม่จำเป็นต้องตรงกับวันที่ดวงอาทิตย์ผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะมากที่สุด เนื่องจากยังมีปัจจัยอื่นอีก เช่น กระแสลม ปริมาณฝน ความชื้นในอากาศ เป็นต้น
ปรากฏการณ์ท้องฟ้า
(24–31 มี.ค.)
หากท้องฟ้าเปิดในเวลาหัวค่ำจะมองเห็นดาวอังคารอยู่ในกลุ่มดาววัว สังเกตได้เมื่อท้องฟ้ามืดลงพอสมควร โดยเริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 1 ทุ่มครึ่ง ขณะนั้นดาวอังคารอยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกที่มุมเงย 35 องศา ดาวอังคารกำลังมีตำแหน่งบนท้องฟ้าอยู่ใกล้กระจุกดาวลูกไก่ เข้าใกล้กันที่สุดในคืนวันที่ 31 มี.ค. 2562 ที่ระยะห่าง 3 องศา โดยดาวอังคารอยู่ทางซ้ายมือของกระจุกดาวลูกไก่ สังเกตดาวอังคารได้จนกระทั่งใกล้ตกลับขอบฟ้าในเวลา 4 ทุ่ม
ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี และดาวเสาร์ เป็นดาวเคราะห์สว่าง 3 ดวง ที่เห็นได้ง่ายบนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด ดาวพฤหัสบดีอยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงูซึ่งมีพื้นที่ส่วนหนึ่งคั่นอยู่ระหว่างกลุ่มดาวแมงป่องกับคนยิงธนู ดาวเสาร์อยู่ห่างไปทางทิศตะวันออกในกลุ่มดาวคนยิงธนู ส่วนดาวศุกร์ ช่วงแรกอยู่ในกลุ่มดาวแพะทะเล จากนั้นจะเข้าสู่กลุ่มดาวคนแบกหม้อน้ำ กลางสัปดาห์ดาวพุธจะทำมุมห่างดวงอาทิตย์จนเริ่มปรากฏเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออก แต่ยังอาจสังเกตได้ค่อนข้างยาก
สัปดาห์นี้เป็นข้างแรม ดวงจันทร์อยู่บนท้องฟ้าเวลาเช้ามืด วันที่ 27 มี.ค. ดวงจันทร์ผ่านใกล้ดาวพฤหัสบดีที่ระยะ 3 องศา หลังจากดวงจันทร์สว่างครึ่งดวงในวันที่ 28 มี.ค. ดวงจันทร์จะกลายเป็นเสี้ยว เช้ามืดวันที่ 29 มี.ค. จันทร์เสี้ยวอยู่ใกล้ดาวเสาร์ที่ระยะ 3 องศา