posttoday

ศูนย์ TTRS บริการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและทางการพูดจาก กสทช.

28 พฤษภาคม 2562

กสทช. จัดตั้งศูนย์ TTRS สื่อกลางถ่ายทอดการสื่อสารระหว่างคนทั่วไปกับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและทางการพูด

 

 ตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมของ กสทช. ได้มุ่งเน้นการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมใน 2 มิติ คือมิติเชิงพื้นที่ ซึ่งเน้นการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงในพื้นที่ชนบท พื้นที่ที่มีผลตอบแทนการลงทุนต่ำ พื้นที่ที่ยังไม่มีผู้ให้บริการหรือมีแต่ไม่ทั่วถึงหรือไม่เพียงพอแก่ สถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคม กับมิติเชิงสังคม ที่มุ่งเน้นการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมสำหรับผู้มีรายได้น้อย คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคม โดยโครงการศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service) หรือ TTRS เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ภายใต้แผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบโทรคมนาคมสำหรับรองรับคนพิการ และเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐาน เป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูดกับคนทั่วไป ได้สามารถเข้าถึงบริการของภาครัฐและเอกชนรวมถึงการใช้ชีวิตประจำวันในสังคมได้อย่างคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

ศูนย์ TTRS บริการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและทางการพูดจาก กสทช.

สำนักงาน กสทช. ได้เล็งเห็นถึงข้อจำกัดในการติดต่อสื่อสารของผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูด ที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับคนทั่วไปได้อย่างสะดวก จึงต้องอาศัยคนกลางอย่างเช่น ล่ามภาษามือ เป็นผู้แปลข้อความเพื่อความเข้าใจการสื่อสารที่ตรงกัน ซึ่งล่ามภาษามือมีจำนวนไม่เพียงพอกับความต้องการและค่าใช้จ่ายในการการจ้างล่ามภาษามือที่สูง อีกทั้งข้อจำกัดของการใช้ภาษาเขียนที่มีความแตกต่างในการจัดเรียงประโยค ทำให้ความหมายคลาดเคลื่อนไป

สำนักงาน กสทช. และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้เริ่มศึกษาแนวทางเพื่อให้เกิด ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (Thai Telecommunication Relay Service) หรือ TTRS เมื่อปี พ.ศ. 2553 ต่อมาศูนย์ TTRS จึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. กับมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ ด้วยความมุ่งมั่นในการพัฒนาเพื่อยกระดับด้านการสื่อสารและคุณภาพการให้บริการศูนย์ TTRS ยังได้เป็นต้นแบบการจัดให้บริการถ่ายทอดการสื่อสารให้แก่ผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูด ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติมากมาย เช่น รางวัลจากโครงการ Innovation Thailand สาขาการทำงานเพื่อสังคม ที่จัดขึ้นโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาร่วมกับ Google ประเทศไทย

ศูนย์ TTRS บริการถ่ายทอดการสื่อสารเพื่อผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและทางการพูดจาก กสทช.

ศูนย์ TTRS ได้เปิดให้บริการถ่ายทอดการสื่อสารระหว่างผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูดกับคนทั่วไป ผ่าน 9 ช่องทางสำหรับติดต่อสื่อสาร

1.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความสั้น (SMS) (หมายเลขโทรศัพท์ 086 000 5055)

2.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบรับ-ส่งข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Message(ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ Play Store (Android) และ App Store (iOS))

3.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Live Chat (ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ Play Store (Android) และ App Store (iOS))

4.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาข้อความผ่านเว็บไซต์(www.ttrs.or.th เลือก สนทนาข้อความ)

5.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเว็บไซต์และโทรศัพท์วิดีโอ ( www.ttrs.or.th เลือก สนทนาวิดีโอ)

6.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Video (ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ Play Store (Android) และ App Store (iOS))

7.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวิดีโอผ่านเครื่องบริการถ่ายทอดการสื่อสารสาธารณะ (ตู้ TTRS) (ดูรายชื่อสถานที่ติดตั้งตู้ได้ที่ www.ttrs.or.th)

8.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบปรับปรุงเสียงพูดสำหรับผู้ไร้กล่องเสียงและผู้ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ (เลขหมายโทรศัพท์ 1412 กด 3 สำหรับผู้ไร้กล่องเสียง กด 4 สำหรับผู้ที่ปากแหว่งเพดานโหว่)

9.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่านแอปพลิเคชัน TTRS Captioned Phone(ดาวน์โหลดแอปพลิเคชันที่ Play Store (Android) และ App Store (iOS))

นอกจากนี้ยังมีบริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินซึ่งสามารถติดต่อได้ทุกช่องทางที่มีสัญลักษณ์ฉุกเฉิน และศูนย์ TTRS ยังเปิดรองรับให้บริการทุกวันตั้งแต่เวลา 07.00 – 23.00 น.