คนเมืองอ่วม!!! แบกค่ารถไฟฟ้าแพงกว่าลอนดอน สวนทางรายได้ต่อหัว
ทีดีอาร์ไอ ชี้ค่ารถไฟฟ้ากรุงเทพแพงกว่าลอนดอน สูงกว่าสิงคโปร์ 15 บาท หรือคิดเป็น 50% สวนทางรายได้ประชากร หวั่นเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ดันราคามากกว่า 100 บาทต่อเที่ยว ลุยศึกษาแนวทางคุมค่าโดยสารเสนอรัฐบาล พบผู้มีรายได้น้อยแบกค่ารถไฟฟ้าไม่ไหว
ทีดีอาร์ไอ ชี้ค่ารถไฟฟ้ากรุงเทพแพงกว่าลอนดอน สูงกว่าสิงคโปร์ 15 บาท หรือคิดเป็น 50% สวนทางรายได้ประชากร หวั่นเปิดรถไฟฟ้าสายใหม่ดันราคามากกว่า 100 บาทต่อเที่ยว ลุยศึกษาแนวทางคุมค่าโดยสารเสนอรัฐบาล พบผู้มีรายได้น้อยแบกค่ารถไฟฟ้าไม่ไหว
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยว่า จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ เรื่องการเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยพบข้อมูลว่า ค่ารถไฟฟ้าในเมืองหลวงเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ(Purchasing Power Parity : PPP)พบว่าประเทศไทยอย่างกรุงเทพมหานครนั้นมีราคาค่อนข้างสูงหรือเฉลี่ยราว 28.30 บาท/เที่ยว สูงกว่าค่ารถไฟฟ้าของสิงคโปร์มากกว่า 50% โดยค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยของสิงคโปร์อยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว
ขณะที่ข้อสรุปค่าโดยสารต่อเที่ยวการเดินทางของผู้โดยสาร พบว่าไทยมีค่าโดยสารระบบรางสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเซียด้วยกันเอง รวมถึงพบว่าไทยมีส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถโดยสาร (รถเมล์) สูงที่สุด ซึ่งค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่อเที่ยวของคนไทยอยู่ที่ 67.4 บาท คิดเป็น 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศสิงคโปร์อยู่ที่ราว 25.73 บาท คิดเป็น 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท คิดเป็น 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อเปรียบเทียบโครงสร้างค่าโดยสารระหว่างรูปแบบการเดินทาง พบว่าค่าโดยสารต่อ 1 กิโลเมตรของผู้โดยสารในไทยสูงกว่าประเทศอื่น ๆ แม้กระทั่งเมืองลอนดอนของอังกฤษ โดยไทยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 14.8 บาท คิดเป็น 0.478 ดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นการคำนวณค่าผ่านดัชนีค่าครองชีพและกำลังซื้อที่ต่างกันแต่ละประเทศแล้วเช่นกัน พบว่าสูงกว่าสิงคโปร์ 6 เท่าและสูงกว่า ฮ่องกง 3 เท่า สำหรับตัวเลขการศึกษาพบว่าค่าโดยสารเฉลี่ยต่อ 1 กิโลเมตร ในเมืองลอนดอนอยู่ที่ 12.4 บาท หรือ 0.402 เหรียญสหรัฐ ส่วนสิงคโปร์อยู่ที่ 2.3 บาท หรือ 0.075 เหรียญสหรัฐ และฮ่องกง 4.08 บาท หรือ 0.155 เหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ดีขณะนี้ ทีดีอาร์ไอ อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางปรับปรุงสัญญาสัมปทานค่ารถไฟฟ้าของผู้เดินรถรายเดิมและสัญญาเดินรถใหม่ที่กำลังจะเปิดบริการเพื่อให้มีแนวทางควบคุมราคาค่าโดยสารให้มีความเป็นธรรมและเหมาะสมมากยิ่งขึ้น เพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลต่อไป อย่างไรก็ตามมองว่าในอนาคตการเปิดเดินรถไฟฟ้าสายใหม่และการเปิดเดินรถช่วงต่อขยายเส้นทางสายเดิมนั้นจะยิ่งส่งผลให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงมากยิ่งขึ้น หากยังไม่มีการบริหารจัดการทั้งด้านราคาและค่าแรกเข้า คาดว่าค่ารถไฟฟ้าเฉลี่ยต่อการเดินทางหนึ่งครั้งจะสูงกว่า 100 บาท เช่น การเดินทางช่วงบางใหญ่-บางนา หรือการเดินทางจากบางใหญ่-เอกมัย เป็นต้น
ดังนั้นการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายต่างๆ ไม่ควรทำให้ค่าโดยสารบานปลาย เพราะประชาชนไม่สามารถรับภาระได้ จากผลการศึกษาของทีดีอาร์ไอ พบว่า กลุ่มผู้มีรายได้น้อยมีความสามารถจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าได้ 11.69 บาท/คน/เที่ยว ซึ่งต่ำกว่าค่าโดยสารเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 28.30 บาทมากกว่า 1 เท่า ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางพบว่ามีความสามารถในการจ่ายค่ารถไฟฟ้า 20.33 บาท/คน/เที่ยว
ทั้งนี้ในต่างประเทศมีการควบคุมราคาค่าโดยสาร โดยนำเส้นทางรถไฟฟ้าที่เป็นไข่แดงกลางเมือง ซึ่งมีกำไรมากที่สุด พร้อมนำรายได้ไปเฉลี่ยให้กับรถไฟฟ้าสายอื่นที่กำไรน้อยเพื่อควบคุมค่าโดยสาร แต่ในไทยผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้า เป็นคนละบริษัทเอกชน และเอกชนบางรายก็ถือสัญญาหลายสัมปทานด้วย
ดร.สุเมธ กล่าวว่า รถไฟฟ้ามีต้นทุนสูง เนื่องจากจำนวนผู้โดยสารยังน้อยกว่าความสามารถรองรับของระบบที่เคยถูกออกแบบไว้ ( Design Capacity)และไทยสามารถลดต้นทุนรถไฟฟ้าได้ ด้วยการเพิ่มปริมาณผู้โดยสาร ส่วนบทสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายนั้น ภาครัฐควรพิจารณา คือ ให้กำหนดอัตราค่าโดยสารรถโดยสารประจำทางและรถไฟฟ้าสอดคล้องกับต้นทุนการดำเนินงาน และกลไกปรับราคาที่ต้องมีการทบทวนทั้งต้นทุนและปริมาณการใช้บริการ อย่างสม่ำเสมอ และมีการพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่ดีขึ้น เพื่อให้การประกอบการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ประชาชนได้รับบริการที่มีคุณภาพและเกิดความเท่าเทียมการใช้มากยิ่งขึ้นและระยะยาว แม้ว่าการพัฒนาตั๋วร่วมของระบบขนส่งสาธารณะมีค่าใช้จ่ายการดำเนินงานที่สูง แต่ภาครัฐควรเร่งพิจารณาด้วยเช่นกัน
รายงานข่าวกระทรวงคมนาคม ระบุว่า จากข้อมูลตัวเลขค่าครองชีพของประเทศไทยและสิงคโปร์แล้วต่างกันเกือบ 10 เท่า โดยพบว่าประเทศไทยมีรายได้ต่อหัว (GDP per capita) อยู่ที่ 18,587 บาท/เดือน สิงคโปร์มีรายได้ต่อหัวที่ 164,194 บาท/เดือน ขณะที่ฮ่องกงมีรายได้ต่อหัว 120,640 /เดือน ส่วนลอนดอนมีรายได้รายหัว 111,032 /เดือน อย่างไรก็ตามการจัดอันดับค่าครองชีพของโลกนั้น เมืองลอนดอนอยู่อันดับที่ 26 ฮ่องกงอยู่อันดับที่ 40 สิงคโปร์อันดับีท่ 105 และกรุงเทพอันดับที่ 216
ด้านการเปิดเผยข้อมูลของเว็ปไซต์ Aom Money พบว่าระบบโครงข่ายรถไฟฟ้าซึ่งแพงที่สุด คือ ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส แพงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT และ รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ของ รฟท. โดยเทียบจาก บีทีเอส สถานีศาลาแดง – อโศกราคาอยู่ที่ 37 บาท กับ MRT สถานีสีลม - สุขุมวิทจ่ายแค่ 23 บาท ซึ่งมีราคาแตกต่างถึง 14 บาทหรือต่อให้เทียบกันในราคาสูงสุด จาก บีทีเอส ศาลาแดง ไป บีทีเอส หมอชิต 44 บาท กับ MRT สีลม ไป MRT สวนจตุจักร แค่ 42 บาท MRT ก็ยังถูกกว่าอยู่ดี
อย่างไรก็ตามรถไฟฟ้าบีทีเอสยังมีส่วนต่อขยายไปชานเมือง ซึ่งอาจทำให้ค่าเดินทางสูงสุดถึง 59 บาท และอาจมากกว่า 100 บาทหากต้องการเดินทางจากเขตชานเมืองช่วงบางใหญ่-บางนา หรือ บางใหญ่-บางหว้า อีกทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสยังไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้า เหมือนกับการเชื่อมรถไฟฟ้าใต้ดิน MRTกับรถไฟฟ้าสายสีม่วงของรฟม. ขณะที่การเปรียบเทียบราคาแพคเกจเหมาเที่ยวพบว่า รถไฟฟ้า MRT คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยว ราคา 1,040 บาทและเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,250 บาท ขณะที่รถไฟฟ้าบีทีเอส คิดค่าบริการเหมา 40 เที่ยวราคา 1,080 บาท และเหมา 50 เที่ยว ราคา 1,300 บาท