5Cควรรู้ก่อนขอสินเชื่อ
การวิเคราะห์พิจารณาให้สินเชื่อต้องพิจารณาให้ครบ 5C เพื่อที่จะได้ลูกหนี้มีคุณภาพ ไม่สร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงินภายหลัง
การวิเคราะห์พิจารณาให้สินเชื่อต้องพิจารณาให้ครบ 5C เพื่อที่จะได้ลูกหนี้มีคุณภาพ ไม่สร้างความเสียหายให้กับสถาบันการเงินภายหลัง
*************************
คอลัมน์ตลาดนัดการเงิน โดย...ธเนศ นวบุศย์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาการให้คำปรึกษาลูกค้า ธนาคารกสิกรไทย
การวิเคราะห์เครดิตของเจ้าหน้าที่สินเชื่อถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญประการหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์จำเป็นจะต้องมีการพิจารณาลูกหนี้ก่อนการให้กู้ยืมเงิน ทั้งการประเมินเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินโดยรวมของลูกค้า(บริษัท/บุคคล) โดยทั่วไปจะช่วยในการกำหนดความสามารถในการชำระหนี้ของนิติบุคคลหรือความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลธรรมดา
ฉะนั้น 5 C จึงใช้เป็นเกณฑ์ในการประเมินคุณภาพผู้ขอสินเชื่อวิธีหนึ่งที่นิยมใช้ ซึ่งประกอบไปด้วย Character, Capacity, Capital, Collateral และ Conditions การเข้าใจว่าผู้ปล่อยกู้นั้นพิจารณาอะไรเกี่ยวกับผู้ขอสินเชื่อจะช่วยให้ผู้ประกอบการเตรียมตัวได้ดีขึ้นเมื่อขอสินเชื่อ
1. คุณลักษณะ ความน่าเชื่อถือ (Character) เป็นการพิจารณาดูว่าตัวผู้กู้เป็นคนอย่างไร มีประสบการณ์ในธุรกิจที่ทำอยู่แค่ไหน และมีประวัติที่ไม่ดีทางการเงินหรือไม่ เนื่องจากนิสัยพื้นฐานเหล่านี้ จะสะท้อนถึงความสามารถในการบริหารจัดการธุรกิจ และพฤติกรรมด้านการเงินได้เป็นอย่างดี ลักษณะนิสัย ความน่าเชื่อถือ และ ความรับผิดชอบ ของผู้กู้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญอันดับต้นๆ สำหรับการพิจารณาการให้สินเชื่อ เพราะถ้าลูกค้า/ลูกหนี้ ขาดความซื่อสัตย์ ความจริงใจแล้ว ก็ย่อมมีโอกาสเกิดหนี้สูญแก่ทางธนาคารได้
ปกติแล้วถ้าเป็นลูกหนี้รายใหม่ธนาคารจะพิจารณาชื่อเสียง ฐานะการศึกษา อุปนิสัยครอบครัว ความซื่อสัตย์ ซึ่งความซื่อสัตย์เป็นหลักสำคัญของอุปนิสัย ลองนึกว่าถ้าเราเป็นเจ้าของเงิน เราต้องการมั่นใจว่าเราได้รับค่างวดคืนทุกเดือน ในฐานะคนปล่อยกู้ ย่อมต้องการจำกัดความเสี่ยงให้น้อยที่สุด การที่ผู้กู้มีความรับผิดชอบ จ่ายตรงเวลาในอดีต เป็นเครื่องมือที่ทำให้มั่นใจว่าผู้ปล่อยกู้จะได้รับเงินคืน
2. ความสามารถในการชำระหนี้ (Capacity) ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อเพราะเป็นแหล่งชำระหนี้คืนให้กับธนาคาร ลูกหนี้ที่แม้อยากจะชำระหนี้สักเพียงใด หากปราศจากซึ่งความสามารถในการชำระหนี้แล้ว ย่อมไม่เกิดการชำระหนี้ การดูว่าธุรกิจมีความสามารถในการชำระหนี้คืนแค่ไหน ดูได้จากรายได้ของธุรกิจหลังหักค่าใช้จ่ายต่างๆ แล้วต้องเหลือเพียงพอชำระหนี้ทั้งหมดในแต่ละเดือน ดังนั้นการให้กู้ยืมและการให้เครดิตของธนาคารจะต้องประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ ตัวอย่างเช่น
- ความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลธรรมดา การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของบุคคลธรรมดา พิจารณาได้จากรายได้ประจำ หมายถึง เงินเดือน รายได้อื่นๆ ความสามารถในการชำระหนี้ในระยะเวลาที่ต่อเนื่องขึ้นอยู่กับเงินเดือน และรายได้ที่ได้รับอย่างสม่ำเสมอ และความสามารถในการนำรายได้นั้นมาใช้ส่วนหนึ่งเพื่อการชำระหนี้ ความสามารถในการหารายได้จะชี้ให้เห็นถึงความแน่นอนของรายได้อันนำมาสู่การชำระหนี้ในอนาคต พิจารณาได้จากลักษณะของงานที่ทำ พื้นความรู้ความสามารถในการทำงาน สุขภาพ ความมั่นคงในการทำงาน และความก้าวหน้าในการทำงาน หนี้สินที่มีอยู่ หมายถึง ภาระที่มีอยู่เดิม รูปแบบของการใช้จ่าย หมายถึง ภาวะที่ผู้มีรายได้จะต้องรับผิดชอบก่อนที่จะเหลือรายได้เพื่อการชำระหนี้ เมื่อทราบรายได้ ความแน่นอนของรายได้ หนี้สินเดิม และรูปแบบของการใช้จ่ายแล้ว ส่วนที่เหลือจะเป็นเครื่องคุ้มครองรายจ่ายชำระหนี้แก่ธนาคาร
- ความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ อาจพิจารณาจาก อัตราส่วนทางการเงิน เช่น อัตราสภาพคล่อง (Liquidity Ratio) อัตราส่วนหนี้สิน (Leverage Ratio) อัตราส่วนความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio) ฯลฯ
3. ทุนที่จะนำมาลง (Capital) โดยทั่วไปแล้ว ส่วนหนึ่งผู้กู้ต้องมีเงินทุนส่วนตัวมาลงทุนด้วย หรือมีกำไรสะสมมาจากการประกอบธุรกิจมาลงทุน ธุรกิจอาจดำเนินการได้โดยไม่มีการกู้ยืม ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนน้อย เป็นผลให้กำไรของกิจการน้อยตามไปด้วย ดังนั้นผู้ประกอบการจึงทำการกู้ยืมตามกำลังความสามารถของตน แต่ขณะเดียวกันถ้ามีการใช้เงินกู้ยืมสูง (Leverage) ธุรกิจอาจประสบปัญหา เนื่องจากกำไรที่ธุรกิจได้รับส่วนใหญ่จะต้องนำไปชำระคืนเงินกู้แก่ธนาคาร และถ้ากำไรของธุรกิจนั้นน้อยธุรกิจนั้นอาจขาดทุน ปกติแล้วเงินทุน เท่ากับ มูลค่าของทรัพย์สินทั้งหมดของกิจการหักด้วยหนี้สินทั้งหมด ถ้ากิจการใดมีหนี้สินมากกว่าเงินทุนที่ลงได้ หมายความว่า เจ้าหนี้มีอัตราเสี่ยงสูงเพราะเจ้าหนี้ได้ลงทุนมากกกว่าเจ้าของกิจการ
4. หลักประกัน (Collateral) หลักประกันที่สามารถนำมาประกอบการพิจารณาขอสินเชื่อได้ เช่น ที่ดิน สถานประกอบการ เครื่องจักร ฯลฯ ซึ่งการพิจารณาสินเชื่อนั้นธนาคารไม่ได้ดูที่หลักประกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังพิจารณาถึงความสามารถในการชำระหนี้และแผนธุรกิจอีกด้วย ถ้าไม่มีหลักประกันก็สามารถขอสินเชื่อได้ แต่การพิจารณาสินเชื่อแบบไม่มีหลักประกัน หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจะเข้มมากกว่าปกติ หรืออาจจะใช้บริการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งเป็นหน่วยงานของภาครัฐมาช่วยในการค้ำประกันได้
5. เงื่อนไข (Condition) เป็นเงื่อนไขในการใช้วงเงินที่ธนาคารกำหนดขึ้นสำหรับผู้กู้แต่ละรายให้ปฏิบัติตาม เช่น หากผู้กู้ต้องการเบิกใช้วงเงิน จะต้องทำการเพิ่มทุนก่อน จึงจะใช้วงเงินได้ โดยเงื่อนไขที่กำหนดขึ้นนั้น จะพิจารณาจากความแข็งแกร่งทางฐานะทางการเงิน เช่น สัดส่วนหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของและกำไรสะสม เป็นต้น