จับตาสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ
ค่าเงินบาทผันผวนรอผลการประชุมเฟด หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าต่อเนื่อง จากผลกระทบสงครามการค้า
ค่าเงินบาทผันผวนรอผลการประชุมเฟด หลังจากสัปดาห์ที่ผ่านมาแข็งค่าต่อเนื่อง จากผลกระทบสงครามการค้า
**********************
คอลัมมันนี่วีก (Money week) โดย...สรรค์ อรรถรังสรรค์, มนัสวิน ฐิติสมบูรณ์ สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย
สายงานธุรกิจตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทยมองว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนมากขึ้นในกรอบ 31.00-31.40 ในช่วงวันที่ 17-21 มิถุนายน ในสัปดาห์นี้ นักลงทุนจะจับตาการประชุมนโยบายการเงินในประเทศเศรษฐกิจหลัก โดยคาดว่าเงินบาทจะเคลื่อนไหวผันผวนตามผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ในวันพุธนี้ โดยตลาดคาดว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายแต่อาจส่งสัญญาณการผ่อนคลายนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า
นอกจากนี้ คาดว่าธนาคารกลางญี่ปุ่นและธนาคารอังกฤษจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมสัปดาห์นี้เช่นกัน ด้านเอเชีย ตลาดคาดว่าธนาคารกลางอินโดนีเซียจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่คาดว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์จะปรับลดดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดจะรอติดตามผลการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมในสหราชอาณาจักร ด้านปัจจัยในประเทศ การส่งออกไทยเดือนพฤษภาคมมีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องจากผลกระทบของนโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เงินบาทแข็งค่าตลอดสัปดาห์จากปัจจัยกดดันที่มาจากความเสี่ยงสงครามการค้าที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ เงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐในสัปดาห์ที่ผ่านมาเปิดตลาดแข็งค่าขึ้นมาอยู่ในระดับการแข็งค่าที่สูงสุดนับตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา และยังคงแข็งค่ามากที่สุดในภูมิภาคเอเชีย โดยประเด็นสงครามการค้าที่ยังคงมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งแม้ว่าแรงกดดันจะผ่อนคลายลงบ้างหลังจากเม็กซิโกได้สรุปข้อตกลงด้านผู้อพยพกับสหรัฐฯ ส่งผลให้เม็กซิโกพ้นจากการถูกกำหนดภาษี แต่ถ้อยแถลงของประธานาธิบดีทรัมป์ที่กดดันให้จีนเข้าเจรจาตกลงข้อตกลงทางหารค้ากับสหรัฐฯ ในการประชุมจี -20 ได้ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวในตลาดการเงินตลอดสัปดาห์
ด้านภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ สะท้อนการชะลอลงของเศรษฐกิจจากทั้ง ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนพฤษภาคมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ค่าจ้างแรงงานขยายตัวน้อยกว่าที่ตลาดคาด และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบตามประเด็นทางการเมืองในประเทศ และปิดตลาดที่ระดับ 31.145 (ณ เวลา 17.00 น.)
ตลาดพันธบัตร ในสัปดาห์ที่ผ่านมานักลงทุนยังคงเข้าซื้อ พันธบัตรรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับแรงสนับสนุนจากตัวเลขของทางฝั่งสหรัฐอเมริกา เริ่มตั้งแต่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (NPF) ในเดือนพ.ค. เพิ่มขึ้นเพียง 75,000 ตำแหน่ง ถือเป็นตัวเลขที่อ่อนแอลงมากกว่าที่ตลาดคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 175,000 ตำแหน่ง ถัดมาเป็นการเปิดเผยดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย 0.1% ในเดือน พ.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากเพิ่มขึ้น 0.2% ในเดือน เม.ย. และปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.8% ในเดือน พ.ค. เมื่อเทียบเป็นรายปี หลังจากเพิ่มขึ้น 2.2% ในเดือน เม.ย. ต่อด้วยการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) เพิ่มขึ้นเพียง 0.1% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สอดคล้องกับตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ หลังจากเพิ่มขึ้น 0.3% ในเดือนเม.ย. ตัวเลขของทางฝั่งสหรัฐอเมริกาที่ประกาศออกมาล้วนเป็นปัจจัยส่งเสริมมุมมองที่ตลาดคาดว่า FED จะประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงภายในปีนี้ 1-2 ครั้ง โดยล่าสุดตลาดได้ให้น้ำหนักโอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในการประชุมเดือน มิ.ย. เพิ่มขึ้นเป็น 29.2% จาก 16.7% ในสัปดาห์ก่อนหน้า ในขณะที่โอกาสที่ FED จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในเดือน ก.ค. อยู่ที่ประมาณ 64.5%
เมื่อสถานการณ์ทางฝั่งสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ เริ่มอยู่ในโหมดของการปรับลดอัตราดอกเบี้ย จึงทำให้ตลาดพันธบัตรของประเทศไทยดูน่าสนใจแง่ของอัตราผลตอบแทน ส่งผลให้เม็ดเงินของนักลงทุนต่างชาติไหลเข้าตลาดตราสารหนี้ไทยอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นต้นมา โดย ณ วันที่ 14 มิถุนายน 2562 อัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลรุ่นอายุ 1, 2, 3, 5, 7 และ 10ปี อยู่ที่ 1.79% 1.77% 1.78% 1.85% 1.97% และ 2.16% ตามลำดับ
ในส่วนของกระแสเงินทุนต่างชาติในสัปดาห์ที่ผ่านมาไหลเข้าสู่ตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิประมาณ 863 ล้านบาท ซึ่งเป็นการซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น 3,756 ล้านบาท ซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว 10,510 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 13,403 ล้านบาท