'กสิกรไทย' ปล่อยกู้ผู้สนใจลงทุนแฟรนไชส์ร้าน 'ออฟฟิศเมท พลัส'
ชี้เทรนด์พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหันช้อปออนไลน์มากขึ้น เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย วางเป้าวงเงินสินเชื่อสิ้นปี 150 ล้านบาท
ชี้เทรนด์พฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยนหันช้อปออนไลน์มากขึ้น เจาะกลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย วางเป้าวงเงินสินเชื่อสิ้นปี 150 ล้านบาท
นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกสิกรไทย พร้อมส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการหน้าใหม่ลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีคุณภาพ จากปัจจุบันธนาคารได้คัดสรรแบรนด์ธุรกิจแฟรนไชส์คุณภาพมากกว่า 60 แบรนด์ มีความมั่นคงสูง และอยู่ในตลาดที่มีโอกาสเติบโตได้ โดยปัจจุบันมียอดสินเชื่อธุรกิจแฟรนไชส์คงค้างของธนาคารล่าสุดอยู่ที่ 2,520 ล้านบาท
ล่าสุด ธนาคารร่วมมือกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โครงการจัดอบรมให้ความรู้ สนับสนุน และส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถมีแบรนด์แฟรนไชส์ที่มีคุณภาพของตัวเอง โดยออฟฟิศเมทก็เป็นหนึ่งในธุรกิจที่เข้าร่วมโครงการจนสามารถเปิดแบรนด์แฟรนไชส์ออฟฟิศเมทพลัสได้
สำหรับออฟฟิศเมทเป็นธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนแนวทางจากการเป็นเพียงผู้ขายอุปกรณ์เครื่องเขียนสำนักงานทั่วไปมาเป็นการเจาะตลาดกลุ่มธุรกิจ เน้นทำธุรกิจแบบ B2B จนสามารถสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจขึ้นมาเป็นผู้นำในตลาด B2B ได้อย่างแท้จริง จนขยายสู่การเป็นธุรกิจแฟรนไชส์
ทั้งนี้ เป็นผลมาจากออฟฟิศเมท พลัส (OfficeMate Plus+) เป็นแฟรนไชส์ที่เน้นลูกค้ากลุ่มคนทำธุรกิจขนาดเล็กและผู้ค้าออนไลน์ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ค้าออนไลน์ที่มีอัตราการเติบโตสูงมาก ซึ่งร้านออฟฟิศเมท พลัสมีสินค้าที่ตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มนี้ รวมถึง OfficeMate x Kerry Express ให้บริการส่งพัสดุด่วนถึงลูกค้าด้วย โดยผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนแฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัสสามารถขอสินเชื่อเพื่อเปิดกิจการ ปรับปรุงกิจการ และรีไฟแนนซ์ได้สูงสุดถึง 333% ของมูลค่าหลักประกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์การทำธุรกิจมาก่อน
"หากสมัครเป็นแพ็คเกจทั้งสินเชื่อและบริการจัดการด้านการเงินจะได้รับส่วนลดค่าธรรมเนียม เช่น ส่วนลดค่าธรรมเนียมการกู้ อัตราดอกเบี้ยพิเศษ ส่วนลดค่าธรรมเนียมการใช้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน (EDC/ K PLUS SHOP/ Payroll) เพิ่มอีกด้วย โดยธนาคารตั้งเป้าปล่อยกู้แฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัสเอาไว้ที่ 150 ล้านบาทภายในสิ้นปีนี้" นายสุรัตน์ กล่าว
ด้านนายวรวุฒิ อุ่นใจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีโอแอล จำกัด กล่าวว่า ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของตลาดค้าปลีกอุปกรณ์สำนักงานมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คาดการณ์มูลค่าตลาดเครื่องเขียนและอุปกรณ์สำนักงานปี 2562 มีมูลค่าสูงถึง 56,000 ล้านบาท คาดเติบโตในอัตราเฉลี่ยปีละ 7% ไปจนถึงปี 2566
นอกจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคหันมานิยมการช้อปปิ้งออนไลน์ และการมองหาซัพพฃายเออร์ ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการซื้อสินค้าแบบ One-Stop Solutions ทำให้ออฟฟิศเมทปรับตัวอย่างเต็มรูปแบบสู่การเป็นผู้นำตลาด B2B Solutions ที่เน้นจุดเด่นการบริการลูกค้าในช่องทางการขายที่มีทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (Omni-Channel)
ทางด้านนางสาววิลาวรรณ ฤกษ์เกรียงไกร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ออฟฟิศเมท กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับแฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัสเป็นการต่อยอดที่สำคัญของออฟฟิศเมท เพราะสามารถนำจุดแข็งของออฟฟิศเมทคือ โลจิสติกและออนไลน์ มาบริหารร่วมกันเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำธุรกิจสูงสุด จนสามารถตอบโจทย์ธุรกิจในปัจจุบันคือ “ครบ” ด้วยสินค้าและบริการที่ครบครันจากแบรนด์ชั้นนำ ขายสินค้าได้ทั้งหน้าร้านและออนไลน์เหมือนออฟฟิศเมททุกประการ “ง่าย” จัดการเติมสินค้าให้พร้อมจำหน่ายตลอดเวลา อัปเดตและแนะนำสินค้าใหม่ ๆ อยู่เสมอ หมุนเวียนและปรับเปลี่ยนสินค้าให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายได้ เช็กข้อมูลยอดขายและรายการสินค้าได้ทุกที่ทุกเวลาผ่านสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ “เร็ว” มีซอฟท์แวร์และระบบจัดการรวดเร็ว สามารถเริ่มกิจการได้รวดเร็วกว่าด้วยคำแนะนำด้านทำเล การบริหารธุรกิจและฐานลูกค้า โดยผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจ (Franchise Clinic) จากทางสำนักงานใหญ่ที่ให้การอบรม คำแนะนำด้านกิจกรรมทางการตลาดโปรโมชั่น การเลือกสินค้า และออกแบบตกแต่งร้าน โดยในปีนี้ตั้งเป้าเปิดร้านแฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัส 15 สาขา และภายใน 10 ปี ตั้งเป้าเปิดร้านแฟรนไชส์ครอบคลุม 900 อำเภอทั่วไทย หรือ 1 อำเภอ 1 แฟรนไชส์
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ Line: @OFM_Plus โทร.1281 กด 6 หรือ www.ofmplus.com และสามารถเข้าฟังรายละเอียดการลงทุนแฟรนไชส์ออฟฟิศเมท พลัสได้ในวันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม เวลา 13.00-16.00 น. ณ K ONLINESHOP SPACE ชั้น 5 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ฝั่งอิเซตัน ลงทะเบียนได้ที่ Facebook KSME