posttoday

ตารางมูลค่ากรมธรรม์ เอาไว้ใช้เพื่ออะไร

25 กรกฎาคม 2562

สมาชิก กบข. สอบถามการเวนคืนกรมธรรม์ การใช้เงิน การขยายเวลา นัดหมายขอคำปรึกษาจากศูนย์ข้อมูลการเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน My GPF ได้

สมาชิก กบข. สอบถามการเวนคืนกรมธรรม์ การใช้เงิน การขยายเวลา นัดหมายขอคำปรึกษาจากศูนย์ข้อมูลการเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน My GPF ได้

**********************************************

คอลัมน์ เงินทองของใกล้ตัว โดย... นันท์นภัส จันทเสรีนนท์ และ ดร.ฉัตรพงศ์ วัฒนจิรัฏฐ์ ศูนย์ข้อมูลการเงิน กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ประกันชีวิตมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อให้ความคุ้มครองทางการเงิน หากบุคคลที่บริษัทประกันตกลงรับคุ้มครองหรือ “ผู้เอาประกัน” ประสบเหตุ อาทิ เสียชีวิต ทุพพลภาพ หรืออื่นๆ ตามเงื่อนไขที่ระบุในกรมธรรม์ บริษัทจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้แก่ผู้เอาประกันหรือผู้รับผลประโยชน์ตามจำนวนเงินที่ตกลงกันไว้

ข้อมูลสำคัญในกรมธรรม์อีกส่วนหนึ่งคือ “ตารางมูลค่ากรมธรรม์” ซึ่งเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสิทธิในการได้รับเงินหรือความคุ้มครองเมื่อผู้ถือกรมธรรม์ต้องการหยุดชำระเบี้ยประกัน ซึ่งหากเราทำความเข้าใจแล้วก็จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

สมมติว่าได้ทำกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ไว้ที่ทุนประกัน 100,000 บาท กำหนดจ่ายเบี้ยประกันเป็นเวลา 20 ปี ระยะเวลาคุ้มครอง 20 ปี และมีการจ่ายเงินคืนในอัตรา 1% ของทุนประกันทุกสองปี
เมื่อเปิดเข้าไปดูตารางมูลค่ากรมธรรม์ จะพบข้อมูลสำคัญประกอบด้วย

(1) เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย แสดงมูลค่ากรมธรรม์เมื่อประสงค์ขอยกเลิกสัญญา ไม่ต้องการได้รับความคุ้มครองจากกรมธรรม์นี้อีกต่อไป

(2) กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ แสดงมูลค่ากรมธรรม์เมื่อประสงค์หยุดชำระเบี้ยประกัน โดยยินยอมให้ลดจำนวนเอาประกันลง แต่ขอคงระยะเวลาความคุ้มครองและผลประโยชน์อื่นๆ เช่น เงินคืนระหว่างสัญญาตามเดิมต่อไปจนครบกำหนด เรียกง่ายๆ คือลดจำนวนเงินลงแต่เวลาเท่าเดิม

(3) การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา แสดงมูลค่ากรมธรรม์เมื่อประสงค์หยุดชำระเบี้ยประกัน โดยยินยอมให้ลดระยะเวลาคุ้มครอง แต่ขอคงจำนวนเงินเอาประกันเท่าเดิม เรียกง่ายๆ คือลดระยะเวลาแต่จำนวนเงินเท่าเดิม (หลายท่านมักสับสนกับชื่อเรียก แต่โดยหลักการแล้วการขยายระยะเวลา หมายถึงขยายเวลาต่อไปจากวันที่ใช้สิทธิ ตามจำนวนปีและวันที่ระบุในสัญญา)

ตารางมูลค่ากรมธรรม์ เอาไว้ใช้เพื่ออะไร

กรณีที่ต้องการปิดกรมธรรม์และรับคืนเป็นเงินก้อน จะดูที่ช่อง “เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัย” จากตัวอย่างที่แสดงไว้ เงินค่าเวนคืนกรมธรรม์ ณ สิ้นปีที่สาม เท่ากับ 104 บาทต่อเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท ดังนั้น หากทำประกันไว้ที่จำนวนเงินเอาประกัน 100,000 บาท จะสามารถเทียบออกมาเป็นจำนวนเงินที่จะได้รับคืนเท่ากับ 10,400 บาท (104 หาร 1,000 คูณ 100,000)

ข้อมูลที่ได้รับจะช่วยประกอบการตัดสินใจได้ หากผู้ถือกรมธรรม์ต้องการรับความคุ้มครองเพิ่มอีก 1 ปี โดยชำระเบี้ยประกันตามปกติและรอเวลาครบปีที่สี่ มูลค่ากรมธรรม์จะเพิ่มขึ้นเป็น 154 บาทต่อเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท หรือเท่ากับ 15,400 บาท จากการเวนคืนกรมธรรม์นี้

ในส่วนที่สอง กรมธรรม์ใช้เงินสำเร็จ จะมีสองส่วนย่อยคือ เงินจ่ายคืนทันที และมูลค่าใช้เงินสำเร็จ หากผู้จ่ายเบี้ยประกันตัดสินใจเลือกใช้เงินสำเร็จในปีกรมธรรม์ที่สี่ จากตารางจะเห็นค่าเป็นศูนย์ หมายถึงจะไม่ได้รับเงินก้อนจ่ายคืนทันที และถูกลดเงินเอาประกันลงเป็น 14,300 บาท (143 บาทต่อเงินเอาประกันภัย 1,000 บาท) ไปตลอดอายุสัญญา

การลดเงินเอาประกันนี้จะมีผลต่อเรื่องอื่นอย่างการได้รับเงินคืนด้วย หากเลือกใช้เงินสำเร็จก็จะได้รับเงิน 143 บาท (1% ของเงินเอาประกันใหม่ 14,300 บาท) จากเดิม 1,000 บาท (1% ของเงินเอาประกันเดิม 100,000 บาท) เป็นต้น

ในส่วนที่สาม การประกันภัยแบบขยายระยะเวลา จะมีสามส่วนย่อยคือ ระยะเวลาที่ขยาย เงินจ่ายคืนทันที และเงินครบกำหนด จากตัวอย่างนี้หากเลือกขยายเวลา ณ สิ้นปีกรมธรรม์ที่สี่ ความคุ้มครองจะคงเดิมที่ 100,000 บาท ขณะที่ระยะเวลาคุ้มครองบวกต่อจากสิ้นปีที่สี่ ไปอีก 16 ปี และเมื่อครบกำหนดในอีก 16 ปีจะได้รับเงินคืนอีกเท่ากับ 22,100 บาท (221 หาร 1,000 คูณ 100,000)

ทั้งสามวิธีนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากกรมธรรม์ประกันชีวิตเพื่อช่วยบรรเทาภาระทางการเงิน ซึ่งการจะเลือกวิธีการใด อาจพิจารณาจากสถานการณ์และความพึงพอใจของแต่ละบุคคล เช่น จำนวนเงินที่ต้องการได้รับทันที ความคุ้มครองที่ต้องการให้เหลืออยู่ รวมทั้งระยะเวลาที่ต้องการได้รับความคุ้มครอง เป็นต้น

สำหรับสมาชิก กบข. ที่ต้องการสอบถามเรื่องการเวนคืนกรมธรรม์ การใช้เงินสำเร็จ และการขยายระยะเวลา สามารถนัดหมายเพื่อขอคำปรึกษาจาก ศูนย์ข้อมูลการเงิน ผ่านแอปพลิเคชัน My GPF