posttoday

วิถี 'นันยาง' ย่างก้าวสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน

15 สิงหาคม 2562

กับแนวคิดกิจกรรมเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม ผ่านคอลเล็กชันรองเท้าของนันยาง โดยแปรรูปขยะรองเท้าจากท้องทะเลสู่รองเท้าแตะ ‘KHYA” รุ่นลิมิเต็ด เอดิชัน พร้อมเปิดรับพรีออเดอร์แค่ 9 วัน สั่งแค่ไหนผลิตขายแค่นั้น

กับแนวคิดกิจกรรมเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม ผ่านคอลเล็กชันรองเท้าของนันยาง โดยแปรรูปขยะรองเท้าจากท้องทะเลสู่รองเท้าแตะ ‘KHYA” รุ่นลิมิเต็ด เอดิชัน พร้อมเปิดรับพรีออเดอร์แค่ 9 วัน สั่งแค่ไหนผลิตขายแค่นั้น

วิถี \'นันยาง\' ย่างก้าวสู่ธุรกิจที่ยั่งยืน จักรภพ จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด

จักรพล จันทรวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัทนันยางมาร์เก็ตติ้ง จำกัด เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาการทำตลาดรองเท้านันยาง ของบริษัทฯ เริ่มตั้งแต่ปีพ.ศ.2496 ปัจจุบันกิจการมีอายุครบ 66 ปีเต็ม โดยความท้าทายกาคทำธุรกิจนับจากนี้ไป ภายใต้การบริหารของรุ่นสาม คือ การสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนไปพร้อมกับสังคม หรือ ซัสเทนเอบิลิตี (Sustainability)

จากหลักการดังกล่าว ทำให้บริษัทวางแนวคิดการทำธุรกิจให้ควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมที่มีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม (CSR)ตั้งแต่สองปีก่อน โดยมีโครงการแรก คือ ผลิตรองเท้าผ้าใบนันยางลายพรางรุ่น 'พิทักษ์ ๖๑ ลิมิเต็ดอิดิชั่น' โดยรายได้จากการจำหน่ายไม่หักค่าใช้จ่าย มอบให้พนักงานพิทักษ์ป่า ซึ่งแม้ว่ากิจกรรมดังกล่าวไม่ถูกเปิดเผยในวงกว้างเท่าใดมากนัก แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นต่อการสร้างการรับรู้การมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคมขององค์กร

ล่าสุดในปีนี้ บริษัทร่วมกับกลุ่มทะเลจร เปิดตัวรองเท้าแตะรุ่นพิเศษ KHYA โดยรอบเท้า 1 คู่ จะผลิตจากรองเท้าขยะที่เก็บได้จากท้องทะเลปริมาณ 5 กิโลกรัม โดยกลุ่มทะเลจรเป็นผู้นำส่งวัตถุดิบขั้นแรก(รองเท้าขยะ)ให้กับบริษัท นำมาใช้เป็นวัตถุดิบผลิตรองเท้าแตะรุ่นดังกล่าว

“ความพิเศษรองเท้า KHYA ที่ผลิตโดยนันยาง คือ รองเท้ารุ่นดังกล่าว แต่ละข้าง แต่ละคู่จะมีเอกลักษณ์ มีความยูนีค ไม่เหมือนกัน เพราะเกิดจากกระบวนการผลิตรีไซเคิลโปรดักส์รองเท้าขยะประเภทต่างๆ ที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่ในรูปแบบของรองเท้าแตะอีกครั้ง แต่รองเท้า KHYA จะมีจุดหนึ่งที่เหมือนกัน คือ ทุกคู่ใช้พื้นยาง และ สายคีบยาง ที่เป็นวัสดุเดียวกับรองเท้าแตะช้างดาวของนันยาง” นายจักรพล กล่าว

สำหรับสินค้ารองเท้าแตะ KHYA (ขยะ) บริษัทวางราคาจำหน่ายอยู่ที่คู่ละ 399 บาท ราคาดังกล่าว ยังจะสะท้อนถึงต้นทุนการผลิตรองเท้ารีไซเคิลที่ได้จากขยะ ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง ด้วยมีหลากหลายขั้นตอน ตั้งแต่ การคัดแยก การทำความสะอาด การนำวัสดุยางมาหลอมละลายใหม่เพื่อนำวัสดุมาใช้ผลิตสินค้ารองเท้า KHYA เป็นต้น ขณะที่รองเท้าแตะช้างดาว มีราคาอยู่ที่ คู่ละ 99 บาท

นอกจากนี้ บริษัทยังได้เพิ่มความพิเศษการทำตลาดรองเท้า KHYA ภายใต้กลยุทธ์การทำตลาดสินค้าภายในช่วงระยะเวลาจำกัด ผ่านการสั่งจองล่วงหน้า (พรีออเดอร์) เท่านั้น

โดยจะเปิดรับคำสั่งซื้อสินค้ารองเท้ารุ่นดังกล่าว เป็นระยะเวลา9 วัน (ระหว่างวันที่ 15-23 สิงหาคม) ผ่านช่องทางการสั่งจอง 1.เว็บไซต์ www.khya.net 2. LAZADA หรือ SHOPEE (ในประเทศไทย) Thailand Mart จัดส่งทั่วโลก และ 3.ที่ทำการไปรษณีย์ไทย 1,400 สาขาทั่วประเทศ และ4.THP Contact Center โดยสินค้าจะจัดส่งแก่ผู้สั่งจองช่วงประมาณเดือน พฤศจิกายน นี้

จักรพล กล่าวย้ำว่า บริษัทไม่ได้คาดหวังรายได้ที่ชัดเจนจากการเปิดตัวสินค้ารุ่นดังกล่าว ซึ่งหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาปิดรับพรีออเดอร์แล้ว หากมียอดจำนวนสั่งซื้อเท่าใด บริษัทก็จะผลิตจำนวนเท่านั้น โดยในเบื้องต้น บริษัทประเมินว่าจะมียอดผลิตรองเท้าKHYA อยู่ที่ 1,000 -2,000 คู่ และแน่นอนว่าจะนำรายได้จากการจำหน่ายรองเท้าแตะ KHYA ทั้งหมดมอบให้กับกลุ่มทะเลจร เช่นกัน

“บริษัทต้องการสร้างการรับรู้ให้กับสังคมถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมที่อยู่ใกล้ตัว ด้วยพบว่า รองเท้า เป็นขยะที่ถูกพบมากเป็นอันดับหนึ่งในท้องทะเลไทย เนื่องจากเป็นรองเท้าเป็นขยะที่ไช้ระยะเวลาย่อยสลายยาวนาน เช่นเดียวกับพลาสติกที่ใช้เวลาย่อยสลายนานถึง 400 ปี” จักรภพ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบัน บริษัทมีกำลังการผลิตรองเท้าแตะช้างดาวอยู่ที่ 5 ล้านคู่ต่อปี โดยปีนี้บริษัทวางเป้าหมายรายได้ธุรกิจ เติบโตจากปี2561 อยู่ที่ 3-5% โดยในช่วงครึ่งแรกของปีที่ผ่านมา บริษัทมีอัตราเติบโตอยู่ที่ 3% แล้ว

จากแผนดำเนินงานภายใต้แนวคิดการทำธุรกิจเพื่อมีส่วนร่วมรับผิดชอบในสังคมของนันยาง ครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความเก๋าของนันยาง สินค้าแบรนด์ไทย ที่มีอายุร่วม66ปี อีกครั้ง ภายใต้ฝีมือของรุ่นสาม

ต่อการนำธุรกิจให้เติบโตสู่ความยั่งยืนไปพร้อมกับสังคม ต่อไป