Inverted Yield curve สหรัฐฯยังไม่นำไปสู่เศรษฐกิจถดถอย
ระดับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้อาจยังมีไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท
ระดับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้อาจยังมีไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท
การเกิด Inverted Yield curve หรือภาวะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวตํ่ากว่าอัตราผลตอบแทนระยะสั้นในสหรัฐฯครั้งนี้ สร้างความกังวลอย่างมากต่อประเด็นที่เศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession)หรือไม่ เป็นเหตุให้ตลาดหุ้นทั่วโลกดิ่งลงไปตามๆกัน มีมุมมองจากฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เอเซีย พลัส เกี่ยวกับเรื่องนี้
โดยบล.เอเซีย พลัส ระบุว่า Inverted Yield curve ในสหรัฐฯ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ (บอนด์ยิลด์) อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ลดลงแตะระดับ 1.623 % ต่ำกว่าบอนด์ยิลด์อายุ 2 ปีของสหรัฐฯ ที่ขึ้นมาที่ระดับ 1.63% ทำให้ตลาดกังวลประเด็นนี้ เพราะในอดีตทุกๆ ครั้ง ที่เกิด Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ มักทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯถดถอยตามมา
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดตามมานั้น Inverted Yield Curve ในสหรัฐฯ ต้องเกิดขึ้นติดต่อกันนานเฉลี่ย 1 ปี โดยไปดูในอดีต 2 ครั้งก่อนหน้า ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจมักจะเป็นเช่นนั้น (ดังรูปคือ เส้นสีฟ้าอยู่สูงกว่าเส้นดำเฉลี่ย 1 ปี
ดังนั้นในมุมมองของฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่าปรากฎการณ์ Inverted Yield Curve เมื่อกลางสัปดาห์ เป็นการเกิดขึ้นเพียงช่วงสั้น คือ ไม่ถึง 1 วัน โดยเช้าวันนี้ (16 ส.ค.62)บอนด์ยิลด์ อายุ 10 ปี สหรัฐฯอยู่ที่ 1.527% สูงกว่าเล็กน้อย เมื่อเทียบกับอายุ 2 ปี อยู่ที่ 1.50 %
เมื่อไปดูพื้นฐานเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขณะนี้ ถือว่าแข็งแกร่งมากเมื่อเทียบกับในอดีต กล่าวคือ วิกฤติเศรษฐกิจซับไพร์ม ระหว่างปี 2551-2552 เกิดจากอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ การกู้ยืมและการให้กู้ยืมที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่ระดับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในครั้งนี้ อาจยังมีไม่สูงนัก แต่ก็ไม่ควรประมาท ต้องติดตามตัวแปรสำคัญเช่น ผลกระทบของสงครามการค้าอย่างใกล้ชิด
ฝ่ายวิจัยฯ บล.เอเซีย พลัส ได้ทำการเปรียบเทียบข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงที่เกิด Inverted Yield Curve ในอดีตมาเป็นข้อมูลประกอบ ดังต่อไปนี้
จีดีพีของสหรัฐฯ ปี 2551-2552 หดตัว 0.1% และ 2.5% ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันงวดไตรมาส1/62 ขยายตัว 2.3% จากช่วงเดียวกันปีก่อย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดทั้งปี 2562 ขยายตัว 2.6%
อัตราการว่างงาน ปี 2550 เพิ่มขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 4.4% ไปเป็น 7.3% และ 10% ในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 3.7% ใกล้ระดับต่ำสุดในรอบ 50 ปี
อัตราเงินเฟ้อ ลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2550 ที่ 4.3% เหลือ 0.1% ในปี 2551 และหดตัว 2.1% ในปี 2552 เทียบกับปัจจุบันที่ขยายตัว 1.8%
ดัชนี PMIลดลงจากจุดสูงสุดในปี 2550 ที่ 54.1 จุด เหลือ 38.2และ 36.4 ในปี 2551 และปี 2552 ตามลำดับ เทียบกับปัจจุบันที่ PMI อยู่ที่ระดับ 51.2 จุด
ขณะที่ล่าสุด ดัชนีขี้นำเศรษฐกิจสหรัฐฯ ฝั่งภาคบริการยังแข็งแกร่ง โดยการบริโภคครัวเรือนในสหรัฐฯ คิดราว 70% ของจีดีพี คือ ยอดค้าปลีกเดือนก.ค.ขยายตัว 0.7% จากเดือนก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาด 0.3% จากเดือนก่อน
สอดคล้องกับผลประกอบการของวอลล์มาร์ท (Walmart)ห้างค้าปลีกใหญ่สุดของสหรัฐฯ งวดไตรมาส 2/62 ดีกว่าที่ตลาดคาดราว 4% และยอดขายต่อสาขาเพิ่มขึ้น 2.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน ดีกว่าที่ตลาดคาด 2.1% บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯยังแข็งแกร่ง
ฝ่ายวิจัยฯบล.เอเซีย พลัส ได้ย้อนรอยการเกิด Inverted Yield Curve ระหว่างบอนด์ยิลด์ สหรัฐฯอายุ 2 ปี กับ 10 ปี ในอดีต พบว่าเกิดขึ้น 4 ครั้งในรอบ 40 กว่าปีที่ผ่านมา และในแต่ละรอบจะทิ้งช่วงห่างกันประมาณ 10 ปี ที่สำคัญหลังเกิด Inverted Yield Curve มักจะมีวิกฤตทางการเงินตามมา (ดังภาพ)
หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ปัจจุบัน ถือว่ายังไม่น่ากังวลมากนัก เนื่องจากปัจจุบันการเกิด Inverted Yield Curve เป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆระหว่างวันเท่านั้น แต่ในอดีตจะต้องเกิดขึ้น กินระยะเวลานานพอสมควร (เกินกว่า 1 ปี) หลังจากนั้นเหตุการณ์วิกฤติทางการเงินจึงจะตามมา
วิกฤตเศรษฐกิจในอดีตเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เหมือนกันเลย และปัจจุบันยังไม่เห็นเหตุการณ์ที่จะนำไปสู่การเข้าใกล้วิกฤตทางการเงิน นอกจากเรื่องสงครามการค้าจีนกับสหรัฐฯ แต่หากการเจรจาดำเนินไปด้วยดี ประเด็นดังกล่าวจะผ่อนคลายลง รวมถึงเศรษฐกิจสำคัญๆของโลกยังแข็งแกร่ง ทำให้การเกิดวิกฤตยากขึ้น
ในระยะสั้นนี้ ความกังวลจากประเด็นดังกล่าว สร้างความผันผวนและกดดันตลาดหุ้นในช่วงนี้ สังเกตได้จากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย(ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยง รวมถึงตลาดหุ้นทุกแห่งในภูมิภาค ที่ในเดือนส.ค. 2562 เป็นเดือนที่ต่างชาติขายมากสุดถึง 3.5 หมื่นล้านบาท และถูกช็อตสุทธิสัญญา SET50 ฟิวเจอร์ส สูงสุดเช่นกันกว่า 8.27 หมื่นสัญญา
แต่ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ หากประเด็นกดดันต่างๆ ผ่อนคลายลง ก็อาจเป็นโอกาสในการเข้าไปสะสมหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่มูลค่าต่ำจากความเป็นจริงได้
กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ ฝ่ายวิจัยฯ ยังเน้นจัดพอร์ตการลงทุน โดยให้ความสำคัญกับการจำกัด Downside เลือกหุ้นที่ไม่ผันผวนตามภาวะตลาดอย่าง JASIF, POPF และ ROBINS ในสัดส่วนราว 50% ของพอร์ต ส่วนที่เหลือเป็นหุ้นที่ให้อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล ที่ดี และหุ้นที่มีการเติบโตสูง เพื่อดึงให้ผลตอบแทนของพอร์ตการลงทุนชนะตลาด